WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

การแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

GOV 4

การแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (ร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ....)

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแบ่งส่วนราชการในระดับกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ โดยคงจำนวนส่วนราชการดังกล่าวไว้เท่าเดิม จำนวน 30 หน่วย โดยตัดส่วนราชการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำออก ซึ่งโอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไป และกำหนดหน้าที่และอำนาจ โดยคงจำนวนส่วนราชการดังกล่าวไว้จำนวนเท่าเดิม และกำหนดเพิ่มเติมหน่วยงานที่มีระดับต่ำกว่ากองบังคับการ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

          สำนักงาน ก.พ. เห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างและการจัดระเบียบราชการดังกล่าวเพื่อรองรับภารกิจตามกฎหมาย ไม่มีการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจเพิ่มขึ้นจึงไม่กระทบต่อจำนวนอัตรากำลังในภาพรวมและไม่กระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาการปรับเกลี่ยอัตรากำลังให้สอดคล้องตามภาระงานและความจำเป็นตามภารกิจที่ต้องปฏิบัติ รวมทั้งการจัดสรรข้าราชการตำรวจให้แก่หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลเกิดความต่อเนื่องมีความเหมาะสม สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า ไม่ควรปรากฏ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ในร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 163 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติให้เมื่อครบ 1 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ใช้บังคับให้กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นอันยุบ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และแก้ไขร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ควรพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลงตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังพลไปปฏิบัติงานในภารกิจที่ขาดแคลนและมีความจำเป็น รวมทั้งพิจารณาความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในกรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 สำนักงบประมาณเห็นว่า ไม่ถือเป็นการอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการหรือโครงการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ไม่เป็นการสร้างความผูกพัน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป จึงไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ประกอบกับเป็นการแบ่งส่วนราชการตามกรอบโครงสร้างเดิม ไม่มีการกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจเพิ่มขึ้น ไม่กระทบต่อจำนวนตำแหน่งในภาพรวม จึงไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายงบบุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไม่มีผลกระทบ ต่อหลักการกฎหมายวิธีการงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาและ ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทได้บัญญัติให้อำนาจไว้ มิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้

          สาระสำคัญของร่างพะราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง

          1. ร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็นการแบ่งส่วนราชการในระดับกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ โดยคงจำนวนส่วนราชการดังกล่าวไว้เท่าเดิม จำนวน 30 หน่วย (ไม่มีส่วนราชการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ซึ่งโอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560) ประกอบด้วย

                    1.1 กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 8 หน่วย ได้แก่

                              1.1.1 สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ

                              1.1.2 สำนักงานส่งกำลังบำรุง

                              1.1.3 สำนักงานกำลังพล

                              1.1.4 สำนักงานงบประมาณและการเงิน

                              1.1.5 สำนักงานกฎหมายและคดี

                              1.1.6 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

                              1.1.7 สำนักงานจเรตำรวจ

                              1.1.8 สำนักงานตรวจสอบภายใน

                    1.2 กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการที่ไม่สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 22 หน่วย ได้แก่

                              1.2.1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล

                              1.2.2 ตำรวจภูธรภาค 1 - 9

                              1.2.3 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

                              1.2.4 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

                              1.2.5 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

                              1.2.6 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

                              1.2.7 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

                              1.2.8 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

                              1.2.9 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

                              1.2.10 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

                              1.2.11 สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

                              1.2.12 กองบัญชาการศึกษา

                              1.2.13 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

                              1.2.14 โรงพยาบาลตำรวจ

                    1.3 เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานเพื่อรองรับการปฏิบัติตามภารกิจ ได้แก่ หน้าที่และอำนาจของสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และตามที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติมอบหมาย หน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และตามที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มอบหมาย และหน้าที่และอำนาจของสำนักงานจเรตำรวจรับผิดชอบงานธุรการ ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)

                    1.4 กำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดต่างๆ ของตำรวจภูธรภาค 1 - 9 ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

          2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ....

                    2.1 เป็นการคงจำนวนส่วนราชการระดับกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่นหรือในระดับต่ำลงไปไว้จำนวนเท่าเดิม และเพิ่มเติมหน่วยงานที่มีระดับต่ำกว่ากองบังคับการ ซึ่งมิได้ปรากฏอยู่ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเดิมแต่อยู่ในประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ ซึ่งประกาศโดยนายกรัฐมนตรี และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แบ่งออกเป็นดังนี้

                              2.1.1 หน่วยงานระดับกองบังคับการหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอย่างอื่น และปรากฏอยู่ในกฎกระทรวงเดิม จำนวน 255 กองบังคับการ (จากเดิมมีจำนวน 258 กองบังคับการ โดยยุบเลิกหน่วยงานระดับกองบังคับการ ในสังกัดสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ เดิม จำนวน 3 กองบังคับการ)

                              2.1.2 หน่วยงานระดับกองกำกับการ ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในกฎกระทรวงเดิม จำนวน 1,461 กองกำกับการ (ยุบเลิกหน่วยงานระดับกองกำกับการในสังกัดสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ จำนวน 12 กองกำกับการ)

                              2.1.3 เพิ่มเติมสถานีตำรวจนครบาล จำนวน 88 สถานี และสถานีตำรวจภูธร จำนวน 1,396 สถานี รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,484 สถานี

                              2.1.4 เพิ่มหน่วยงานอย่างอื่นในระดับต่ำกว่ากองบังคับการ จำนวน 298 หน่วย

                    2.2 เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานระดับกองกำกับการลงไปให้ชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้บัญญัติไว้

                    2.3 แก้ไขเพิ่มเติมชื่อตำรวจภูธรจังหวัด สถานีตำรวจนครบาลในกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 - 9 สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรในตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ สังกัดตำรวจภูธรภาค 1 - 9 และหน่วยงานอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองกำกับการลงไป ได้แก่ สถานีตำรวจทางหลวง ในกองบังคับการตำรวจทางหลวง สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สถานีตำรวจรถไฟ ในกองบังคับการตำรวจรถไฟ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สถานีตำรวจน้ำ ในกองบังคับการตำรวจน้ำ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สถานีตำรวจท่องเที่ยว ในกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 - 3 สังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและด่านตรวจคนเข้าเมืองในกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 - 6 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิสูจน์หลักฐานจังหวัด ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 - 10 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และศูนย์บริการเทคนิคสื่อสาร ฝ่ายการสื่อสาร 2 - 7 กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

                    2.4 เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ 

                              2.4.1 สถานีตำรวจภูธรสาขลา ในตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดตำรวจภูธรภาค 1 (เดิม) เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรบ้านคลองสวนในตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับเขตพื้นที่รับผิดชอบ และไม่ก่อให้เกิดความสับสนกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ

                              2.4.2 กองกำกับการควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (เดิม) เปลี่ยนเป็น กองกำกับการสืบสวน สังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                              2.4.3 กลุ่มงานสอบสวนและตรวจสอบทรัพย์สินในกองบังคับการตำรวจปราบปราบยาเสพติด 1 - 4 สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (เดิม) เปลี่ยนเป็น กลุ่มงานสอบสวนและขยายผล ในกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 - 4 สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ปฏิบัติ กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ในกองบังคับการข่าวกรองยาเสพติด สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (เดิม) เปลี่ยนเป็น กองกำกับการเครื่องมือพิเศษและเทคโนโลยีการสืบสวนในกองบังคับการข่าวกรองยาเสพติด สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ปฏิบัติ

                              2.4.4 ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร ในกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (เดิม) เปลี่ยนเป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานดอนเมือง ในกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อท่าอากาศยานที่รับผิดชอบ

                              2.4.5 ศูนย์บริการเทคนิคสื่อสาร ฝ่ายการสื่อสาร 2 - 7 ในกองตำรวจสื่อสาร สังกัดสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับปรุงเลขลำดับในชื่อ เพื่อเรียงลำดับให้เป็นระบบ เช่น ศูนย์บริการเทคนิคสื่อสารกลาง 1, 2 และ 3 ฝ่ายการสื่อสาร 2 ในกองตำรวจสื่อสาร สังกัดสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (เดิม) เปลี่ยนเป็นศูนย์บริการเทคนิคสื่อสาร 21 ศูนย์บริการเทคนิคสื่อสาร 22 และศูนย์บริการเทคนิคสื่อสาร 23 ฝ่ายการสื่อสาร 2 ในกองตำรวจสื่อสาร สังกัดสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามลำดับ

                              2.4.6 กลุ่มงานชีวเคมี สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ (เดิม) เปลี่ยนเป็น กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รับผิดชอบโดยอ้างอิงตามโครงสร้างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

                              2.4.7 กลุ่มงานผู้ป่วยนอก สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ (เดิม) เปลี่ยนเป็นกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่รับผิดชอบ รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานดังกล่าวเป็นชื่อสากลนิยมและใช้แพร่หลายทั่วทุกประเทศ

                    2.5 ปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชา โดย

                              2.5.1 ตัดโอนศูนย์รับแจ้งเหตุและปฏิบัติการควบคุมสั่งการในกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ไปสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับแจ้งเหตุ รับเรื่องร้องเรียน ประสานงาน และให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ

                              2.5.2 ตัดโอนกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล สังกัดสำนักงานกำลังผล ไปสังกัดกองทะเบียนพล สังกัดสำนักงานกำลังพล เพื่อให้มีสายงานการบังคับบัญชาช่วยกรองงานที่จะนำเสนอให้กับผู้บังคับบัญชา

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7633

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100MTL 720x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!