WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566

GOV

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

          1. การประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566

                    1.1 เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 2.6 และ 2.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงส่งของภาคบริการของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีแนวโน้มขยายตัวภายหลังการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคและกิจกรรมในภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตและการนำเข้าสินค้าของจีนยังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง

                    1.2 เศรษฐกิจไทย

                              1.2.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 29 และ 35.5 ล้านคน ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น

                              1.2.2 การบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 สูงกว่าประมาณการเดิมในไตรมาสก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 โดยได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลดี ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9

                              1.2.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ลดลงจากประมาณการเดิมในไตรมาสก่อนหน้าที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าภาคการส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากการเปิดประเทศของจีนและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6

                              1.2.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ เนื่องจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ลดลง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ทั้งในปี 2566 และ 2567

          2. ภาวะการเงิน

                    2.1 ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงจากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการระดมทุนของภาคธุรกิจยังดำเนินต่อได้ โดยปริมาณสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นสำคัญ

                    2.2 ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 1.42 จากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อน โดยเงินบาทเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและการอ่อนค่าของเงินหยวน

          3. การดำเนินนโยบายการเงิน

                    3.1 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2 ต่อปี โดย กนง. เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

                    3.2 ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ประกอบกับความสามารถด้านการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามฐานะการเงินของภาคครัวเรือนบางส่วนยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ กนง. เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องและเห็นควรมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

                    3.3 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7902

Click Donate Support Web  

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!