WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....

GOV 17

ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอ ท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          ร่างประกาศที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เขตอนุรักษ์และเขตควบคุมมลพิษเป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 6 บริเวณเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ กำหนดมาตรการเกี่ยวกับโรงงานที่ต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

          สาระสำคัญของร่างประกาศ

          1. กำหนดให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมมลพิษของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ภายในแนวเขตที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง เว้นแต่พื้นที่เกาะทราย เกาะสะเดา และเกาะขี้นก ตำบล หัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่ภายในแนวเขตท้องที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน กับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตควบคุมมลพิษ

          2. กำหนดเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 บริเวณ ดังนี้

                    2.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ตำบลบางตะบูน และตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

                    2.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 

                    2.3 บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา และตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

                    2.4 บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                    2.5 บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                    2.6 บริเวณที่ 6 ได้แก่ พื้นที่ภายในบริเวณตามข้อ 3 (1)

          3. กำหนดให้พื้นที่ตามข้อ 2 จะต้องดำเนินการตามมาตรการเกี่ยวกับโรงงานโดยจำเป็นต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้นั้นและต้องมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลักด้วย ในพื้นที่ว่างตามที่กฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายผังเมืองกำหนดไว้ รวมทั้งห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม เช่น การทำเหมืองแร่ เว้นแต่เป็นการทำเหมืองแร่หินปูน หรือเหมืองแร่ดินซีเมนต์ หรือการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ การขุด ตัก หรือดูด กรวด ดิน หินผุ ทราย หรือลูกรัง เพื่อการค้า การทำนาเกลือสมุทร เว้นแต่เป็นการทำในพื้นที่บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 และการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐานทางด้านกายภาพ ชีวภาพ หรือชีวกายภาพ ในพื้นที่สันทราย สันดอน หน้าผา ปากน้ำ

          4. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 และบริเวณที่ 5 ทั้งนี้ เฉพาะในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 200 เมตร และพื้นที่บริเวณที่ 4 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดหรืออาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดเพื่อการค้า

          5. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 บริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 5 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคาร อาคารนกแอ่นกินรัง ท่าเทียบเรือ เว้นแต่ท่าเทียบเรือสาธารณะสำหรับเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐ ท่าเทียบเรือสำราญกีฬา และกิจการอู่ซ่อมเรือ

          6. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 6 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ได้แก่ การทำให้เกิดมลพิษ ขยะมูลฝอย สารแขวนลอย จากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่งหรือการขนถ่าย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม หรือเสียสภาพความเป็นธรรมชาติ ทำการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Wave) เว้นแต่การสำรวจโครงสร้างทางธรณีวิทยา และถมทะเลหรือที่ปากแม่น้ำ ปากคลองที่ติดกับชายฝั่งทะเล เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ

          7. กำหนดให้การก่อสร้างกำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาด ต้องเสนอขอความเห็นจากจังหวัดเพชรบุรี หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการขออนุญาตหรือขออนุมัติงบประมาณ และกำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคาร อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย และบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยลงสู่ท่อหรือทางน้ำสาธารณะ

          8. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          9. กำหนดให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรีและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตลอดจนประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือแผนงานและงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

          10. กำหนดให้พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

          11. กำหนดให้การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ถ้าได้รับอนุญาตอยู่ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตนั้น ทั้งนี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะพื้นที่เดิมที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามที่ประกาศนี้กำหนด

          12. กำหนดให้ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันที่ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7915

Click Donate Support Web  

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!