WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 และหลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค

GOV5 copy copy

การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 และหลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้

          1. ให้ประเทศไทยรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และหลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค (หลักการขั้นสูงฯ) และให้ สมช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้หากมิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก

          2. ให้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ (The Sub - Regional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Security) (การประชุมระดับอนุภูมิภาคฯ การต่อต้านการก่อการร้าย) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ดำเนินการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และหลักการขั้นสูงฯ ต่อไป

[ประธานร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคฯ การต่อต้านการก่อการร้าย (ออสเตรเลีย) ครั้งที่ 4 ได้เสนอให้มีการรับรองเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และให้ประเทศสมาชิกรับรองภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าว ซึ่ง สมช. ได้แจ้งว่าจะต้องดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศก่อน จึงจะสามารถแจ้งความพร้อมในการรับรองให้ทางออสเตรเลียทราบ]

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1) การประชุมระดับอนุภูมิภาคฯ การต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประเทศในอนุภูมิภาคนี้1 ได้หารือแนวทางการรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและเดินทางกลับมาตุภูมิในภูมิภาคของกลุ่มนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters: FTFS) รวมทั้งภัยคุกคามข้ามชาติอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

          2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีความมั่นคงไซเบอร์ เครือรัฐออสเตรเลีย ในฐานะประธานร่วมได้เรียนเชิญรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เข้าร่วมการประชุมระดับอนุภูมิภาคฯ การต่อต้านการก่อการร้าย ครั้งที่ 4 ณ เครือรัฐออสเตรเลียในวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดย สมช. ได้รับมอบหมายให้จัดคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารือประเด็นความมั่นคงในอนุภูมิภาค ได้แก่ (1) สภาวะแวดล้อมภัยคุกคามระดับประเทศและระดับภูมิภาค (2) การต่อต้านการก่อการร้ายและการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (Counter Violent Extremism: CVE) ซึ่งรวมถึงหลักการขั้นสูงฯ (3) การสร้างความต้านทานต่อภัยคุกคามของระบบคอมพิวเตอร์ในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและห่วงโซ่อุปทาน และ (4) การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติและการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งนี้ ประธานร่วมได้เสนอให้มีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และหลักการขั้นสูงฯ ภายหลังการประชุม ซึ่ง สมช. ได้แจ้งว่าจะต้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศก่อน จึงจะสามารถแจ้งความพร้อมในการรับรองให้ทางออสเตรเลียทราบแต่ในเบื้องต้น ได้พิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมฯ แล้วไม่มีข้อขัดข้องเนื่องจากเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของไทยที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านความมั่นคงโดยเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ส่วนหลักการขั้นสูงฯ แม้เป็นแนวทางที่ยังไม่เคยมีการจัดทำในประเทศไทย แต่สามารถใช้เอกสารดังกล่าวเป็นแบบอย่างในการจัดทำแนวทางการดำเนินการภายในประเทศได้

          3) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และหลักการขั้นสูงฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

                    (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในประเด็นความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีความซับซ้อนและความท้าทายเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รวมถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ภัยคุกคามของระบบคอมพิวเตอร์ สถานการณ์โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่เพิ่มขึ้น การหลอกลวงทางออนไลน์ที่มีเป้าหมายต่อกลุ่มเปราะบางที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมต่างยืนยันร่วมกันที่จะดำเนินการ (ตามประเด็นที่ได้มีการหารือ) และ (2) หลักการขั้นสูงฯ เป็นเอกสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะเหยื่อของภัยการก่อการร้ายที่ไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของเด็กตลอดกระบวนการ 

                    ทั้งนี้ สมช. แจ้งว่า เอกสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นกรอบความร่วมมือในประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างกัน โดยมิได้มีข้อผูกมัดทางกฎหมายต่อคู่ภาคี ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับเรื่องนี้สามารถกระทำการได้ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

_________________________

1ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เครือรัฐออสเตรเลีย เนการา บรูไนดารุสซาลาม ประเทศมาเลเซีย ประเทศนิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และประเทศไทย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8212

Click Donate Support Web  

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!