WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

GOV 11

การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

          1. เห็นชอบต่อร่างเอกสาร จำนวน 21 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

          2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสาร จำนวน 17 ฉบับ

          3. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามร่างเอกสาร จำนวน 4 ฉบับ

          4. ให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้ความเห็นชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ในนามของอาเซียน

          สาระสำคัญ

          กระทรวงการต่างประเทศเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้ประสานและรวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวม 21 ฉบับ โดยแบ่งเป็นเอกสารที่ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันรับรอง (adopt) จำนวน 17 ฉบับ เอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนลงนาม จำนวน 2 ฉบับ และเอกสารที่เลขาธิการอาเซียนจะลงนามในนามอาเซียน จำนวน 2 ฉบับ

          สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ได้แก่

          1. ร่างปฏิญญาจาการ์ตา “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” (อาเซียนคอนคอร์ด 4) เป็นเอกสารที่กำหนดเป้าหมายของอาเซียนในการเป็นประชาคมที่มีความหมายต่อประชาชนและเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งเน้นย้ำการดำเนินงานของอาเซียนใน 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาความสำคัญของบทบาทอาเซียนในภูมิภาค การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต และการดำเนินการตามเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก 

          2. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการประชุมหารืออาเซียนด้านสิทธิมนุษยชน เป็นเอกสารที่ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยตระหนักถึงผลกระทบของความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน และความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือการเจรจา และการส่งเสริมศักยภาพระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ 

          3. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของอาเซียน เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตและตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นย้ำการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพลังงาน ห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งแสดงศักยภาพของภูมิภาคโดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคต 

          4. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคง ทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต เป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางการดำเนินงานของอาเซียนในด้านการเกษตรและการผลิตอาหารที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดการผลิตอาหารอย่างเพียงพอและเข้าถึงได้ แก้ไขปัญหาความยากจน และบรรลุเป้าหมายการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคในระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการส่งเสริมศักยภาพชุมชน การเข้าถึงเงินทุน และความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง

          5. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเอกสารที่เน้นย้ำถึงการพัฒนาและการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพทุกกลุ่มเพื่อสุขภาพที่ดี โภชนาการที่สมบูรณ์ และมีความปลอดภัย ผ่านการสนับสนุนด้านนโยบาย การกำกับดูแลงบประมาณ การส่งเสริมทักษะและความสามารถให้กับบุคลากรที่รับผิดชอบด้านการดูแลและจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย การส่งเสริมบทบาทของผู้ปกครอง รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อให้สามารถจัดการดูแลเด็กปฐมวัยได้อย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง 

          6. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงความพิการและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่งและรุ่งเรือง เป็นเอกสารเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนพิการต่อการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเติบโตที่คำนึงถึงคนพิการ โดยส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อบูรณาการสิทธิของคนพิการ และการพัฒนาบริการที่เข้าถึงได้และการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล เพื่อเคารพ คุ้มครอง และบังคับใช้สิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่งและรุ่งเรือง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง 

          7. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างเพศและการพัฒนาครอบครัว เป็นเอกสารเน้นย้ำบทบาทของครอบครัวในฐานะสถาบันที่สำคัญเพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นใหม่ และเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว โดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ และการต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบต่อสตรีและเด็กหญิงพิการ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง 

          8. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนและออสเตรเลียในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการให้สามารถรับมือกับปัญหาท้าทายและปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความเชื่อมโยงทางการค้าด้านอาหารและการส่งเสริมการเกษตรด้านอาหารที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น

          9. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-แคนาดา เป็นเอกสารเพื่อประกาศความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-แคนาดาอย่างเป็นทางการ โดยย้ำความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การเมืองและความมั่นคง และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งรวมถึงการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

          10. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน-แคนาดาว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต เป็นเอกสารเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการระหว่างอาเซียนกับแคนาดาในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดระบบอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น 

          11. ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล เป็นเอกสารกำหนดแนวทางความร่วมมือทางทะเลระหว่างอาเซียนกับอินเดียผ่านกลไกของอาเซียน โดยเน้นสาขาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ เศรษฐกิจภาคทะเลที่ยั่งยืน การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่บุคลากรทางทะเล การอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ และย้ำความมุ่งมั่นของอินเดียในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และข้อริเริ่ม Indo-Pacific Oceans Initiative ของอินเดีย 

          12. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน-อินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต เป็นเอกสารเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการระหว่างอาเซียนกับอินเดียในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานด้านการค้าอาหาร พัฒนาความเชื่อมโยงของตลาดและการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา 

          13. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เป็นเอกสารที่ย้ำเจตนารมณ์ของอาเซียนและสหรัฐฯ ที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือในสาขาหลักภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และขยายความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายอันอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามที่จะสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มั่นคง และยั่งยืน

          14. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของอาเซียนและจีนที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน โดยดำเนินความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

          15. ร่างแกลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นเอกสารเพื่อประกาศการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านที่มีสาระสำคัญและมีผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมทั้งเน้นย้ำการดำเนินการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น บนพื้นฐานของความไว้วางใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน การมีผลประโยชน์ร่วมกันและการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน 

          16. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 24 ว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (เอโอไอพี) เป็นเอกสารที่เน้นย้ำการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีที่มีนัยสำคัญ มีพลวัต และเป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น โดยยืนยันความสำคัญต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนการยึดมั่นต่อหลักการ และการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาหลักภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านต่อไป

          17. ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นเอกสารที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคและโลก การดำเนินการตามแผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2024-2028 และส่งเสริมการดำเนินการตามเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก รวมทั้งสะท้อนมุมมองต่อประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 

          สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

          1. ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสาธารณรัฐเซอร์เบีย เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ของสาธารณรัฐเซอร์เบีย ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนกำหนดจัดพิธีลงนามตราสารภาคยานุวัติฯ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง 

          2. ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรัฐคูเวต เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ของรัฐคูเวต ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนกำหนดจัดพิธีลงนามตราสารภาคยานุวัติฯ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

          3. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย เป็นเอกสารเพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียนกับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียในระดับสำนักเลขาธิการ เพื่อส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจ โดยเลขาธิการของทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนามเอกสารดังกล่าว

          4. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นเอกสารเพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียนกับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกในระดับสำนักเลขาธิการ เพื่อส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจ โดยเลขาธิการของทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนามเอกสารดังกล่าว

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8731

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!