WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565

1aaaD

รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) เสนอ รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 (รายงานการประเมินผลฯ) และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565 (รายงานการสำรวจความพึงพอใจฯ) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (5) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ ประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 กุมภาพันธ์ 2565) เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลฯ แล้ว โดยต้องแสดงรายละเอียดของการจัดประชารัฐสวัสดิการ เช่น จำนวนผู้ได้รับประชารัฐสวัสดิการและต้นทุนหรือมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ และผลประโยชน์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการ] ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เห็นชอบรายงานประเมินผลฯ และรายงานการสำรวจความพึงพอใจฯ แล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. รายงานการประเมินผลฯ ปี 2565 โดยใช้ข้อมูลในการประเมินผลจากข้อมูลที่เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565 และข้อมูลจำนวนเงินงบประมาณที่กองทุน ประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ) ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปผลได้ ดังนี้ 

               1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของปี 2565

               ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวน 13.26 ล้านคน โดยได้รับการจัดประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5 สวัสดิการ ได้แก่ (1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค วงเงิน 200-300 บาท/คน/เดือน (2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน (3) ค่าโดยสารสาธารณะ ได้แก่ ค่ารถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน ค่ารถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน และค่ารถโดยสารรถไฟ วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน (4) ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน และ ค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน (จะโอนจะจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามค่าบริการที่จ่ายจริง) และ (5) ค่าเพิ่มเบี้ยความพิการ วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน ส่งผลให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลได้รับวงเงินช่วยเหลือ จำนวน 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับวงเงินช่วยเหลือ จำนวน 1,830-1,930 บาทต่อคนต่อเดือน รวมมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 46,930.81 ล้านบาท1

               1.2 ผลการดำเนินงาน

               ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ใช้สิทธิสวัสดิการรวมถึงวงเงินที่ใช้สิทธิสวัสดิการของวงเงินที่ได้รับ สรุปได้ ดังนี้ 

 

รายการสวัสดิการ

อัตราการใช้สิทธิ

เปรียบเทียบกับผู้ได้รับสิทธิทั้งหมด 

(ร้อยละ)

อัตรามูลค่าการใช้สิทธิ

เปรียบเทียบกับมูลค่าวงเงินสิทธิที่ได้รับ (ร้อยละ)

(1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

 

 

     1) วงเงิน 200 บาท

98.21

99.92

     2) วงเงิน 300 บาท

98.68

99.91

(2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม

24.48

99.75

(3) ค่ารถโดยสารสาธารณะ

 

 

     1) รถไฟ

0.37

52.26

     2) บขส.

0.10

85.83

     3) ขนส่งในเขต กทม.และปริมณฑล

10.05

33.02

(4) ค่าสาธารณูปโภค

 

 

     1) ค่าไฟฟ้า*

7.98

-

     2) ค่าน้ำประปา*

2.24

-

 

*หมายเหตุ กองทุนประชารัฐฯ ไม่ได้มีการตั้งวงเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในแต่ละเดือน เนื่องจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องชำระค่าบริการในแต่ละเดือนด้วยตนเองและกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินคืนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามค่าบริการที่จ่ายจริง จึงไม่มีอัตราส่วนมูลค่าการใช้เปรียบเทียบกับวงเงินสำหรับสวัสดิการดังกล่าว

 

               ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้ประโยชน์จากการจัดหาประชารัฐสวัสดิการพบว่า ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิเกี่ยวกับค่าซื้อสินค้าอุปโภคสูงที่สุด และส่วนใหญ่มีการใช้วงเงินเกือบเต็มจำนวนในคราวเดียว รองลงมาคือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สวัสดิการดังกล่าวสามารถบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง ขณะที่สวัสดิการอื่นๆ ที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิของวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสวัสดิการค่าโดยสารรถสาธารณะ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้ 

                    1.2.1 ประเภทรถโดยสารสาธารณะที่สามารถใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับระบบขนส่งสาธารณะทั่วไปที่ผู้มีบัตรสวัสดิการสามารถใช้ได้

                    1.2.2 ข้อจำกัดด้านพื้นที่การใช้บริการ โดยปัจจุบันพบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และปี 2561 นอกเขต กทม. และปริมณฑล ไม่สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะใน กทม. ได้ ส่งผลให้มีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะใน กทม. น้อย

                    1.2.3 การใช้สวัสดิการของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสาร ส่งผลให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูญเสียวงเงินรถโดยสารสาธารณะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประสิทธิภาพในการเข้าถึงสวัสดิการอาจจะยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการ

               1.3 ผลประโยชน์และความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ

               ผลประโยชน์ทางตรง เป็นการลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.26 ล้านคน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑลได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน ขณะที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 1,830-1,930 บาท/คน/เดือน และในส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการใช้จ่ายเงินกองทุนประชารัฐฯ เพื่อเป็นวงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จำนวน 43,303.15 ล้านบาท ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคเอกชนเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 75,347.48 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ เมื่อนำมาคำนวนแล้ว2 พบว่าการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปี 2565 มีความคุ้มค่า โดยผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนอยู่ 26,303.24 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณที่รัฐใช้สำหรับจัดสวัสดิการสามารถลดภาระค่าครองชีพและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนและเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง

          2. รายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565 

               คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กทม. และเมืองพัทยาสำรวจความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,105 ราย ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-30 ตุลาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

               2.1 ด้านความพึงพอใจ กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยรวมในระดับที่มาก โดยเมื่อพิจารณาแบ่งตามกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นผู้ว่างงาน ผู้ไม่มีรายได้ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในสวัสดิการที่ได้รับมากที่สุด และเห็นว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยรูปแบบสวัสดิการที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าสวัสดิการที่ได้รับจากทั้ง 2 รายการดังกล่าว ไม่เพียงพอและต้องการให้เพิ่มวงเงินสวัสดิการ โดยเฉพาะในส่วนของวงเงินการซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ตามแนวโน้มราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงต้องการได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความพึงพอใจในสวัสดิการทุกรายการในระดับมากและมีความพึงพอใจกับโครงการลงทะเบียนฯ และต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป 

               2.2 ด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์หรือสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้น้อยที่สุด ซึ่งอาจมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช่ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเห็นว่าควรเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วนและทันเหตุการณ์

________________________ 

1 มูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการของปี 2565 มีจำนวน 46,930.81 ล้านบาท รวมทั้งมีการจัดสรรวงเงินสวัสดิการที่ค้างจ่ายจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2561-2565 (เนื่องจากการโอนเงินไม่สำเร็จในช่วงระยะเวลาที่มีการดำเนินการ) จำนวน 2,113.43 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 49,044.24 ล้านบาท

2 โดยคำนวณจากความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ = ผลประโยชน์ที่ได้รับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม)-ต้นทุน (งบประมาณที่ใช้ในการจัดประชารัฐสวัสดิการ) [ผลประโยชน์ที่ได้รับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) จำนวน 75,347.48 ล้านบาท-ต้นทุน (งบประมาณที่ใช้ในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 49,044.24 ล้านบาท)]

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8744

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!