WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของ ปี 2566

GOV 27

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของ ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

          สาระสำคัญ 

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2566 

          การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยหดตัวร้อยละ 2.9 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการขยายตัว อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.3

          มูลค่าการค้ารวม

          มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 49,594.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 8.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,768.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 10.3 ดุลการค้า เกินดุล 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 288,648.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 147,477.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.5 ดุลการค้า ขาดดุล 6,307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,706,114 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 848,927 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 857,188 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า ขาดดุล 8,261 ล้านบาท ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 9,857,867 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 4,790,352 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,067,514 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.3 ดุลการค้า ขาดดุล 277,162 ล้านบาท

          การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 8.6 โดยสินค้าเกษตรหดตัว ร้อยละ 7.4 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 10.2 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน ลาว และมาเลเซีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 11.3 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐฯ และอินเดีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 15.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ อิรัก ฮ่องกง และแคนาดา) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 16.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และแอฟริกาใต้) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.7 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ) ยางพารา หดตัวร้อยละ 43.0 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 16.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 22.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 80.8 (หดตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และกัมพูชา) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.8

          การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

          มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.6 กลับมาหดตัวอีกครั้ง แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 7.2 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 (ขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 68.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเก๊า) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง และไต้หวัน) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 30.3 (ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 21.7 (หดตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 20.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 9.0 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และ เกาหลีใต้) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.3

          ตลาดส่งออกสำคัญ

          ภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน (5) พลิกกลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 8.5 โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐ อาเซียน (5) และสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 4.8 ร้อยละ 18.0 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ ตลาด CLMV หดตัวต่อเนื่องร้อยละ 23.1 ขณะที่ตลาดจีนและญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 2.0 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 17.5 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 8.6 แอฟริกา ร้อยละ 8.5 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 10.2 แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.7 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 112.5 และ สหราชอาณาจักร ร้อยละ 8.8 (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 19.7 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 19.3

          2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป

          การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) กิจกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ อาทิ จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2023 ณ เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะ สาธารณรัฐอินเดีย เข้าร่วมงาน Western China International Fair (WCIF) ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน นำผู้แทนการค้า (Trade Mission) ไปเจรจาการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา ชิลี บราซิล) เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2023 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ Annecy International Animation Film Festival 2023 เป็นต้น (2) ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบทั้ง 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด ไทย-กัมพูชา 7 จุด ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเซีย 9 จุด เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่งสินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

          แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8746

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!