WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14)

GOV 1

ผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ1 สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14) และเห็นชอบมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อเสนอแนะของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ทส. รายงานว่า การประชุม Ramsar COP 14 ระหว่างวันที่ 5-13 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อ “Wetlands Action for People and Nature” แบบผสมผสาน ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกิจกรรมสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. การประชุมระดับสูง (High-Level Ministerial Segment) ที่ประชุมได้ร่วมรับรองปฏิญญาอู่ฮั่น (Wuhan Declaration) ซึ่งเป็นการให้คำมั่นที่เน้นย้ำว่การอนุรักษ์การฟื้นฟู และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดเป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ และจะต้องดำเนินการตามหลักการนี้อย่างเร่งด่วนโดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ (Multilateral Environmental Agreement MEAs)2 เพื่อหยุดยั้งและลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อบรรเทา ปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ มีการปรับเพิ่มเติมและตัดข้อความในปฏิญญาฯ โดยเป็นการปรับในบริบทบางประการเพื่อให้เกิดความกระชับหรือขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อสาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)

          2. การประชุมเต็มคณะระดับเจ้าหน้าที่ (Plenary Session) มีประเทศภาคีอนุสัญญาฯ เข้าร่วม จำนวน 146 ประเทศ จาก 172 ประเทศ รวมถึงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรพันธมิตรของอนุสัญญาฯ เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ จำนวน 45หน่วยงาน เช่น BirdLife International3 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) และ Wildfowl & Wetlands Trust (WWT)4 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

               2.1 ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและรับรองข้อมติ จำนวน 22 เรื่อง เช่น การทบทวนแผนกลยุทธ์อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2559-2567) ความสำคัญในการให้ความรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเห็นควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ตระหนักถึงประโยชน์จากการผนวกเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำเข้าสู่ระบบการศึกษา และการประมาณการการนับประชากร นกน้ำ นอกจากนี้ ได้เลื่อนข้อมติไปพิจารณาในการประชุมฯ สมัยที่ 15 (มีกำหนดจัดในปี 2568 โดยสาธารณรัฐซิมบับเว เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม) จำนวน 2 เรื่อง คือ ร่างมติเกี่ยวกับสถานะของแหล่งในบัญชีรายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และร่างมติว่าด้วยการทบทวนเกณฑ์ Ramsar และการเพิกถอน Ramsar site ที่ตั้งอยู่ในดินแดนซึ่งไม่ได้รับการยอมรับในระดับสหประชาชาติ (United Nations: UN) ทั้งนี้ ข้อมติที่ได้มีการรับรองดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และเพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยการสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ นำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งการดำเนินงานตามข้อมติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของหลายหน่วยงาน ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำ จึงได้จัดทำสรุปข้อมติ ที่สำคัญ จากการประชุมฯ พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้มีการบูรณาการให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยสรุปข้อมติที่สำคัญได้ ดังนี้ 

 

ข้อมติ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

1. ระดมทรัพยากรด้านการเงินและงบประมาณ5

ทส.

2. ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพ การจัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาฯ และสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เช่น จำนวนบุคลากร เครื่องมือ และงบประมาณ

3. ดำเนินการจัดทำข้อมูลสถานภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำตามแบบฟอร์มที่สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ กำหนด

4. ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 ของอนุสัญญาฯ เพิ่มเติมสำหรับช่วง COP 14-COP 15 และองค์ประกอบสำคัญสำหรับแผนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ และมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไอจิ6 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

5. ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก

6. ทบทวนข้อมติและการตัดสินใจก่อนหน้านี้ทั้งหมด หากตรวจสอบพบว่า มีร่างข้อมติใดที่เลิกใช้แล้วแต่ยังปรากฎอยู่ ให้แจ้งต่อคณะทำงานด้านเทคนิคและคณะทำงานด้านกฎหมายของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ (ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำพิจารณาแล้วพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีร่างข้อมติใดที่เลิกใช้แล้วแต่ยังปรากฎอยู่จึงยังไม่มีการแจ้งต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง)

7. นำเครื่องมือการประเมินการให้บริการทางนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ (Rapid assessment of wetland ecosystem service: RAWE)7 ไปดำเนินการภายในประเทศโดยความสมัครใจ

8. เพิ่มช่องทางการรับรู้และการทำงานร่วมกันของอนุสัญญาฯ กับข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและสถาบันระหว่างประเทศอื่นๆ ให้กว้างขวางและรอบคอบขึ้น เช่น ปรับปรุงการเชื่อมต่อทางนิเวศวิทยาของเส้นทางบินของนกอพยพและการเคลื่อนย้ายถิ่นของกลุ่มสัตว์อื่นๆ ของโลก โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ การอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่นและการเคลื่อนย้ายของสัตว์ และการพิจารณาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง Ramsar กับ ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและสถาบันระหว่างประเทศอื่นๆ

กระทรวงการต่างประเทศ

(กต.) ทส. และสำนักงาน

ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

(สทนช.)

9. แนวทางการดำเนินงานสำหรับการริเริ่มระดับภูมิภาคแรมซาร์ โดย Ramsar Regional Initiatives (RRIs)8 เช่น สนับสนุนให้ภาคีต่างๆ ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรจัดตั้ง RRIs ในส่วนต่างๆ ของโลกที่ยังไม่มี โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และมีศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (RRC-EA)9 เป็น RRIs อยู่แล้ว

ทส.

10. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรึกษาหารือแนวทางการเสริมสร้างความรู้ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของประชาชนฉบับใหม่ [New CEPA (CEPA:communication, capacity building, education, participation and awareness)] ให้แก่ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน

ทส.

กระทรวงมหาดไทย (มท.)

และกรมประชาสัมพันธ์

11. พิจารณารางวัลการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ (Ramsar Wetland Conservation Awards)10 เพื่อเชิดชูและให้เกียรติการมีส่วนสนับสนุนอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นวิธีการจูงใจให้สนับสนุนอนุสัญญานี้ต่อไปในอนาคต

ทส.

12. ดำเนินการตามแนวทางการรับรองคุณภาพเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland City)11 ของอนุสัญญาแรมซาร์ที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามที่ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงการรับรองเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น เกณฑ์สำหรับการรับรอง และกระบวนการให้รางวัลเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสนอเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำในการประชุมฯ สมัยที่ 15 ต่อไป

13. ศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคการศึกษาในระบบ เพื่อให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการส่งเสริมหัวข้อการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในการศึกษาในระบบและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำโดยดำเนินการตามแนวทาง New CEPA การประชาสัมพันธ์ การผลิตสื่อต่างๆ ในสถานศึกษา เช่น บรรจุหลักสูตรเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคการศึกษา และการผลิตสื่อเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคีต่างๆ ใช้ Ramsar National Reports เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในโรงเรียนและสถาบันการเรียนรู้ตามความเหมาะสม

กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย

และนวัตกรรม (อว.)

ทส.

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

และกรมประชาสัมพันธ์

14. เสริมสร้างความสัมพันธ์ Ramsar ผ่านเยาวชน โดยดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคตตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด เพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกและความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ทส.

และกรมประชาสัมพันธ์

15. สถานะของแหล่งในบัญชีรายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ12

ทส.

16. ทบทวนเกณฑ์ Ramsar และการเพิกถอน Ramsar Sites ที่ตั้งอยู่ในดินแดนซึ่งไม่ได้รับการยอมรับในระดับ UN ว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์

17. ดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคในอนาคตของอนุสัญญาสำหรับปี 2566-2568 โดยจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตดั้งเดิมและความรู้ท้องถิ่นและศักยภาพของชนพื้นเมือง ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ

18. ส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก โดยดำเนินการส่งเสริมการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญลาดในอาณาเขตของตนเองเท่าที่จะทำได้จัดทำข้อมูลสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และดำเนินการเรื่องบัญชีสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ (national inventories) ครอบคลุมทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการสูญเสียพื้นที่66 ชุ่มน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีศักยภาพในการฟื้นฟู เพื่อจัดลำดับความสำคัญสูงสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า

กระทรวงเกษตร

และสหกรณ์ (กษ.) ทส.

และ มท.

19. บูรณาการการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ โดยดำเนินการบูรณาการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ การฟื้นฟูการจัดการอย่างยั่งยืน และการใช้นโยบายและการดำเนินการอย่างชาญฉลาดเข้าไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ และสนับสนุนให้ภาคีต่างๆ พัฒนายุทธศาสตร์หุ้นส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการจัดทำรายการพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติอย่างเป็นระบบสำหรับรายการพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ ปี 2020

กษ. ทส. สำนักงาน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สทนช.

20. คุ้มครอง จัดการ และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำโดยวิธีแก้ไขปัญหาตามธรรมชาติและแนวทางที่อิงกับระบบนิเวศเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาหรือปรับปรุงลักษณะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อส่งเสริมความสามารถของพื้นที่ชุ่มน้ำในการมีส่วนร่วมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ และเลิกใช้หรือปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเร่งด่วนที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเสื่อมโทรมตามขอบเขตที่เป็นไปได้และดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ

กษ. ทส. มท. และ สทนช.

21. ประมาณการประชากรนกน้ำเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งใหม่และที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์นกน้ำ

ทส.

22. จัดตั้งศูนย์ป่าชายเลนนานาชาติตามกรอบของอนุสัญญาแรมซาร์โดยตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกสัสูญพันธุ์ทั่วโลก อีกทั้งป่าชายเลนยังมีทรัพยากรประมงที่สำคัญ ตลอดจนเป็นระบบนิเวศคาร์บอน (Blue Carbon)13 ที่สำคัญที่สุดของระบบนิเวศชายฝั่ง โดยกักเก็บคาร์บอน 1,023 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งมากกว่าป่าเขตร้อน 3-4 เท่า

23. ขอบคุณประเทศเจ้าภาพสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้บันทึกผลลัพธ์ของการประชุมระดับสูงของ COP 14 ซึ่งจัดโดยประเทศเจ้าภาพ และยอมรับปฏิญญาอู่ฮั่น ตลอดจนให้ผนวกปฏิญญาอู่ฮั่นเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ของอนุสัญญาฯ

24. เหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมในยูเครนที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar site) อันเนื่องมาจากการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยให้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงจากการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซียต่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในยูเครน รวมถึงการหยุดชะงักของสถานะทางนิเวศวิทยาของ Ramsar site รวมถึงให้การสนับสนุนและเงินช่วยเหลือตามความสมัครใจแก่รัฐบาลยูเครนโดยประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อประเมินความเสียหายของ Ramsar site ที่ได้รับผลกระทบในยูเครน

 

หมายเหตุ : ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนข้อมติ 15 และ 16 ไปพิจารณาในการประชุมฯ สมัยที่ 15

 

               2.2 พิธีมอบรางวัล Wetland City Accreditatio ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบรางวัลการรับรองอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นเมืองแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้อนุสัญญาฯ

          3. สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการ ยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทส. แจ้งว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

________________________

1อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามสถานที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน โดยในระยะแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ต่อมาขอบเขตการดำเนินการของอนุสัญญาฯ ได้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้นโดยเน้นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้มีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ เป็นประจำทุก 3 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ลำดับที่ 110 โดยพันธกรณีของอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541 ซึ่งการเข้าเป็นภาคีนั้นประเทศสมาชิกต้องเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติหรือระหว่างประเทศ 1 แห่ง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) ประเทศไทยจึงได้เสนอพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ขึ้นเป็น Ramsar site แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 948 ของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมี Ramsar site จำนวน 15แห่ง เช่น ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม และกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ 

2MEAs เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับสากลเพื่อการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือของประเทศภาคีในการสอดส่องดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวล้อม เช่น การเกิดมลพิษทางอากาศที่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหรือภูมิภาคอื่น ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการพหุภาคีเพื่อให้เกิดผลทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยหนึ่งใน MEAs ที่มีขึ้นมาอย่างยาวนาน ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2514

3Birdlife International เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกซึ่งมีบทบาทในการอนุรักษ์นก ถิ่นอาศัยของนก และความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก โดยมีสมาชิกมากกว่า 2.5 ล้านคน ใน 116 ประเทศพันธมิตร ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่าย ได้แก่ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

4Wildfow & Wetlands Trust (WWT) เป็นองค์กรการกุศลของสหราชอาณาจักรที่มีเครือข่ายศูนย์พื้นที่ชุ่มน้ำ 9 แห่ง มีประสบการณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งมีการให้บริการด้านต่างๆ เช่น การสำรวจและประเมินระบบนิเวศการให้คำปรึกษาในการออกแบบที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ 

5ทส. แจ้งว่า ที่ประชุมได้มีข้อมติดังกล่าวกำหนดอัตราการจ่ายค่าสมาชิกเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาฯ ในอัตราใหม่ที่ใช้ตาม UN Scale โดยตั้งแต่ปี 2566-2568 จะต้องจ่ายค่าสมาชิก จำนวน 18,018 ฟรังก์สวิสต่อปี [723,600 บาทต่อปี (1 ฟรังก์สวิส = 40.16 บาท อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2566)] (จากเดิมก่อนปี 2565 จ่าย จำนวน 15,026 ฟรังก์สวิสต่อปี) โดยในปี 2566 ได้ชำระเงินสนับสนุนอนุสัญญาฯ แล้ว จำนวน 16,920 ฟรังก์สวิส และมีเงินคงเหลือค้างชำระปี 2566 รวมจำนวน 5,002.58 ฟรังก์สวิส เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามที่ได้ขอรับการจัดสรรไว้ ทั้งนี้ ปี 2567 ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินสนับสนุนอนุสัญญาฯ และเงินคงเหลือค้างชำระดังกล่าวแล้ว

6เป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไอจิ เป็นเป้าหมายระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพมีทั้งสิ้น 5 เป้าประสงค์ 20 เป้าหมาย เช่น เป้าหมายที่ 11 พื้นที่บนบกและแหล่งน้ำในแผ่นดิน พื้นที่ทะเลและชายฝั่งได้รับการอนุรักษ์และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม มีระบบพื้นที่คุ้มครองที่เชื่อมโยงครอบคลุม และมาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่อื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ

7RAWES เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินว่าระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำว่าสร้างประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไรบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ โดยสามารถ แบ่งบริการจากระบบนิเวส ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ (1) บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต เช่น น้ำ อาหาร และแร่ธาตุ (2) บริการด้านการควบคุมกลไกของระบบ เช่น การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (3) บริการด้านวัฒนธรรม เช่น การเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน และ (4) บริการด้านการสนับสนุน เช่น การเป็นแหล่งที่อยู่ของ สัตว์วัยอ่อน 

8Ramsar Regional Initiatives (RRIs) เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการยอมรับจากอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน RRIs เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

9ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (RRC-EA) เป็นหน่วยงานส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานตามอนุสัญญาแรมซาร์ของประเทศภาคีสัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งการสร้างความตระหนักและอนุรักษ์ในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ

10รางวัล Ramsar Wetland Conservation Awards เป็นรางวัลระดับโลกสำหรับให้เกียรติและให้รางวัลแก่กลุ่มบุคคล โครงการ หรือนโยบายในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด โดยปัจจุบันได้มีการประกาศรางวัลดังกล่าวแล้ว จำนวน 8 ครั้ง โดยผู้ได้รับมอบรางวัลจะได้รับรางวัลพิเศษ มูลค่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยการประกาศรางวัลจะแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ เช่น สาขาการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และสาขานวัตกรรมพื้นที่ชุ่มน้ำ

11เมืองแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland City) เป็นการรับรองให้แก่เมืองที่มีการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้อนุสัญญา Ramsar ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำและกระชับความสัมพันธ์เชิงบวกกับระบบนิเวศที่มีค่าผ่านการรับรู้ของสาธารณชนการมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจของเมือง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองอย่างชาญฉลาดตลอดจนประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับคนในท้องถิ่น โดยอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นเมืองแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกของประเทศไทย และนับเป็น 1 ใน 43 เมืองทั่วโลก

12อนุสัญญาฯ กำหนดให้ประเทศภาคีต้องกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำในอาณาเขตของประเทศตนอย่างน้อย 1 แห่ง ถูกบรรจุชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและจะต้องดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำให้ดำรงไว้เป็นอย่างดี

13ระบบนิเวศคาร์บอน (Blue Carbon) คือ คาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยที่มีบทบาทสำคัญ คือ ป่าชายเลน บึงเกลือ หญ้าทะเล และสาหร่ายขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศชายทะเล เช่น ป่าชายเลน มีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนให้ถูกดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเล หรือดินเลนขายฝั่ง หรือที่เรียกว่า คาร์บอน ซิงค์ (Carbom Sink) ทั้งนี้ มหาสมุทร คือ คาร์บอน ชิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ ชั้นบรรยากาศ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8748

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!