WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. ....

GOV8

ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า

          1. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตพื้นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยของราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค - บริโภคของราษฎรในเขตโครงการและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง โดยพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ บางส่วน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2518 แต่โดยที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการกระทำให้สภาพทางธรรมชาติเดิมถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำได้ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หากจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในเขตอุทยานแห่งชาติ จะต้องดำเนินการกันพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเสียก่อน ทส. จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. .... เพื่อเพิกถอนพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 บัญญัติให้การขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่เป็นการขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติบางส่วนให้มีแผนที่แสดงแนวเขตที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือระบบอื่น ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

          2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 โดยได้ยกเลิกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีคำสั่งให้ ทส. รับร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. ไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          3. ทส. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 2. ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แล้ว ดังนี้

               3.1 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ณ ศาลาวัดเกวียนหัก หมู่ที่ 7 ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด จำนวน 379 คน มีผู้ส่งแบบสอบถามแสดงความคิดเห็น จำนวน 292 ราย และผู้ไม่ส่งแบบสอบถามแสดงความคิดเห็น จำนวน 87 ราย

               3.2 รับฟังความคิดเห็นฯ ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 มีผู้ที่แสดงความคิดเห็น จำนวน 4 ราย สรุปมีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น จำนวน 296 ราย เห็นด้วย 290 ราย ไม่เห็นด้วย 5 ราย และไม่แสดงความเห็น จำนวน 1 ราย โดยมีข้อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งไม่ขัดต่อหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ 

               3.3 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ขอความอนุเคราะห์กรมการปกครองตรวจสอบรายละเอียดเชิงพื้นที่ ความถูกต้องของท้องที่การปกครอง และแนวเขตการปกครองในแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) แล้ว ซึ่งกรมการปกครองมีหนังสือแจ้งว่า (1) แนวเขตการปกครองที่ปรากฏในแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวสอดคล้องกับคำบรรยายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอ ... จังหวัด ....ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (2) ที่ดินที่จะเพิกถอนที่ปรากฏในแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี (3) ไม่ปรากฏชื่อหมู่บ้านในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอ ... จังหวัด ... ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ (3.1) ชื่อหมู่บ้าน “บ้านมะกอกนอก” ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี (3.2) ชื่อหมู่บ้าน “บ้านตรอกนอง” ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี (3.3) ชื่อหมู่บ้าน “บ้านตะบอนใหญ่” ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขรายละเอียดในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา โดยตัดชื่อหมู่บ้าน “บ้านมะกอกนอก” “บ้านตรอกนอง” และ “บ้านตะบอนใหญ่” ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องตามผลการตรวจสอบของกรมการปกครองแล้ว

               3.4 ดังนั้น สมควรเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี โดยมีจำนวนเนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา

          2. กษ. กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ โดย กษ. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิใช่เป็นการอนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนั้น จึงไม่ขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คค. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ สศช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานควรดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายหลังการก่อสร้าง และมาตรการป้องกัน แก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเคร่งครัดต่อไป และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ทส. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง รับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ การขยาย และการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวมถึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) แล้ว และมิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี (21 มีนาคม 2566) คณะรัฐมนตรีจึงสามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้

          สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

          เป็นการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน ในท้องที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (7 สิงหาคม 2561) เห็นชอบในหลักการให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป บางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรีแล้ว โดยเมื่อได้ดำเนินการเพิกถอนเรียบร้อยแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ อ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรีต่อไป ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8756

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!