WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

องค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา

GOV 17

องค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 

          1. ให้ความเห็นชอบต่อการกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา1 ดังนี้

               1.1 หากคณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติ วาระการประชุมที่ 7B รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ (7B.19) และพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (7B.88) ไม่เป็นผลดีต่อไทย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย2 เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก3 (คณะกรรมการฯ) องค์กรที่ปรึกษา4 และศูนย์มรดกโลก5 เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการดำเนินการของราชอาณาจักรไทยในการให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเพื่อดูแลและอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่น อันเป็นสากลอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดให้มีการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนต่างๆ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง และบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าฯ ร่วมกันและขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของไทยในอนาคต

               1.2 กรณีมีประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า หรือได้รับการร้องขอจากรัฐภาคีสมาชิก ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการพิจารณากำหนดท่าทีในประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้ ให้คณะผู้แทนไทยพิจารณาร่วมกันระหว่างการประชุมฯ โดยคำนึงถึงหลักการของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรที่ปรึกษา

          2. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา

               2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ปรึกษา

               2.2 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

               2.3 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทส. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้แทนที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลกวาระปี พ.ศ. 2562-2566

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ทส. รายงานว่า

          1. ศูนย์มรดกโลกมีหนังสือเชิญประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา (extended 45th Session of the World Heritage Committee) (การประชุมฯ) ในระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประเทศไทยมีฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในคณะกรรมการฯ (ตามมติคณะรัฐมนตรี 29 มกราคม 2562) โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทยจำนวน 2 วาระ ได้แก่ วาระที่ 7B (รายงานสถานภาพการอนุรักษ์ของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน) และวาระที่ 8B (พิจารณา เมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลก)

          2. ศูนย์มรดกโลกได้เผยแพร่ (ร่าง) ข้อตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ของวาระการประชุมฯ บางส่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยจำนวน 2 วาระ6 ได้แก่

 

วาระการประชุม

 

(ร่าง) ข้อตัดสินใจของคณะกรรมการฯ

วาระที่ 7B.88

เรื่อง รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

 

ให้ประเทศไทยรายงานเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ในพื้นที่ก่อนเริ่มการดำเนินโครงการ เช่น โครงการสร้างเขื่อนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่แหล่งมรดกโลก อีกทั้งให้ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมตามแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก7 รวมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่กันชน8

วาระที่ 8B.41

เรื่อง การพิจารณาการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 

ให้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลก (Inscribe) และเสนอแนะให้เปลี่ยนชื่อเป็น “The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments” พร้อมขอให้ประเทศไทยดำเนินการตามข้อแนะนำ 11 ข้อ9 รวมทั้งให้จัดส่งรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 47

 

          ทั้งนี้ ในส่วน (ร่าง) ข้อตัดสินใจของวาระการประชุมฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่ยังไม่ปรากฏ และ (ร่าง) ข้อตัดสินใจของวาระการประชุมฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยแต่ได้รับการร้องขอการสนับสนุนจากรัฐภาคีสมาชิก10 ทส. จะติดตามอย่างใกล้ชิดและหารือร่วมกับคณะทำงานเตรียมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลกวาระปี พ.ศ. 2562-2566 ต่อไป

          3. เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ทส. [สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)] มีหนังสือถึงกรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อขอให้พิจารณารายงานผลการประเมินเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกรวมถึง (ร่าง) ข้อมติวาระที่ 8B.41 เรื่อง การพิจารณาการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ และหากพบข้อผิดพลาดขอให้จัดส่งคำขอแก้ไขให้ สผ. เพื่อประสานศูนย์มรดกโลกทราบต่อไป ซึ่งกรมศิลปากรมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอแก้ไขข้อเท็จจริงของรายงานผลการประเมินเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในส่วนผู้รับผิดชอบ (เดิมตามรายงานดังกล่าวให้กรมศิลปากรและ สผ. เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนการบริหารจัดการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพร่วมกัน โดยกรมศิลปากรขอแก้ไขเป็นกรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำแผนการบริหารจัดการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพเพียงหน่วยงานเดียว)

          4. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย11 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ดังนี้

               4.1 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว กรรมการในคณะกรรมการฯ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

               4.2 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กต. ทส. วธ. ศธ. และผู้แทนที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลก

          5. ต่อมาคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ได้พิจารณาท่าทีประเทศไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ดังนี้

               5.1 หากคณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติไม่เป็นผลดีต่อไทยหรือสุ่มเสี่ยงต่อการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย เห็นชอบให้ดำเนินการทำความเข้าใจ ชี้แจง และโน้มน้าวคณะกรรมการฯ องค์กรที่ปรึกษา และศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและการดำเนินการของประเทศไทยในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดให้มีการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนต่างๆ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง และบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าฯ ร่วมกัน และขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของไทยในอนาคต

               5.2 กรณีมีประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือได้รับการร้องขอจากรัฐภาคีสมาชิก ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพิจารณาร่วมกับคณะผู้แทนในการกำหนดท่าทีในประเด็นนั้นๆ โดยคำนึงถึงหลักการของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          6. ทส. แจ้งว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการสร้างความผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

__________________

1การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญเป็นการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกจะมีการจัดขึ้นทุกปี เพื่ออภิปรายถึงแผนการดำเนินการดูแลแหล่งมรดกโลกที่ถูกขึ้นทะเบียนไว้และพิจารณาสถานที่ที่ประเทศต่างๆ เสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เดิมมีกำหนดจัดขึ้นในปี 2565 โดยมีเจ้าภาพคือสหพันธรัฐรัสเซียแต่ด้วยประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับสาธารณรัฐประชาชนยูเครน ทำให้หลายประเทศในภาคีสมาชิกร่วมกันประณามสหพันธรัฐรัสเซีย ส่งผลให้ต้องเลื่อนการจัดประชุมเป็นปี 2566 และให้ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าภาพแทน (เรียกว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา)

2ทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย คือ บัญชีรายชื่อของมรดกโลกที่กำลังได้รับผลกระทบที่จะทำให้มรดกโลกถูกทำลายหรือเสียหาย จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการอนุรักษ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งมรดกโลกที่ถูกขึ้นบัญชีนี้ ประเทศผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนมิฉะนั้นอาจมีการพิจารณาถอดออกจากการเป็นมรดกโลก

3คณะกรรมการมรดกโลกเป็นคณะทำงานภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ซึ่งแต่งตั้งจากประเทศสมาชิกภายใต้ภาคี 21 คน เพื่อดำเนินงานด้านอนุรักษ์ดูแลมรดกโลกและพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีวาระ 4 ปี โดยในวาระปี 2562-2566 ไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ

4องค์กรที่ปรึกษาเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านมรดกโลก ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ดำเนินการศึกษาข้อมูลแหล่งมรดกโลกและจัดทำรายงานผลการประเมินสถานที่ที่ประเทศต่างๆ ส่งคำร้องเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้แก่คณะกรรมการมรดกโลก

5ศูนย์มรดกโลกเป็นฝ่ายเลขาธิการของคณะกรรมการมรดกโลก ทำงานด้านประสานงานและจัดทำเรื่องเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก

6ทส. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ไทยไม่ขัดข้องในหลักการต่อ (ร่าง) ข้อตัดสินใจทั้ง 2 ข้อ ยกเว้นกรณีวาระที่ 8B.41 การเปลี่ยนชื่อเมืองโบราณศรีเทพ เดิมใช้ชื่อ The Ancient Town of Si Thep ซึ่งกรมศิลปากรยืนยันจะไม่เปลี่ยนชื่อตาม (ร่าง) ข้อตัดสินใจและประเมินแล้วว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลก

7ในส่วนของไทย หมายถึง รายงานผลกระทบก่อนการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น EIA EHIA เป็นต้น

8หมายถึง การดำเนินการให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กันชนของมรดกโลก (แก่งกระจาน) เข้ามาร่วมมีส่วนในการอนุรักษ์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน

9ทส แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ข้อแนะนำ 11 ข้อ คือ ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์จากคณะกรรมการฯ ที่แจ้งมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ปรับใช้กับการดูแลเมืองโบราณศรีเทพ เช่น ห้ามให้มีโครงการขุดเจาะน้ำมันใหม่ในพื้นที่และพื้นที่กันชน ให้ความสำคัญในแผนการจัดการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพ เป็นต้น โดยกรมศิลปากรจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามข้อเสนอแนะ

10ทส. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติตามที่คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจซึ่งประเทศที่ไม่ใช่คณะกรรมการอาจมีการติดต่อประเทศผู้เป็นคณะกรรมการ เพื่อขอให้ชี้แจงและขอแก้ไขมติในที่ประชุมแทนได้โดยในการประชุมครั้งนี้ มีประเทศที่ขอให้ประเทศไทยชี้แจงแทน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐอินเดีย

11(1) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ พ.ศ. 2524 ข้อ 14 กำหนดให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการเดินทางของคณะผู้แทนรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมการประชุมในระดับต่ำกว่ารัฐมนตรีซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติแล้ว และ (2) ในชั้น การพิจารณาของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกไม่ได้มีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ปรึกษาในคณะผู้แทนแต่ได้มีการเพิ่มองค์ประกอบดังกล่าวเข้าไปภายหลัง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8983

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!