WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน 

Gov 02

 

 

การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน 

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ไทยบริจาคเงินอุดหนุนสำหรับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Centre: ARMAC) (ศูนย์ ARMAC) เป็นเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2569) วงเงินรวม 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

ปีงบประมาณ ..

2567

2568

2569

รวม

วงเงิน

10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

(400,000 บาท)

10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

(400,000 บาท)

10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

(400,000 บาท)

30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

(1,200,000 บาท)

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 40 บาท

 

          ทั้งนี้ กต. จะเบิกจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวจากงบประมาณของ กต.

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 12 พฤศจิกายน 2555 และ 1 ตุลาคม 2556 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ ARMAC ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559

          2. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาศูนย์ ARMAC ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 1,148,349 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (operational budget) ของศูนย์ ARMAC ส่วนเงินบริจาคจากภาคีภายนอก (ประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ) จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการของศูนย์ ARMAC1 เพียงอย่างเดียว โดยสำนักเลขาธิการศูนย์ ARMAC จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากเงินที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และนำมาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างไรก็ดี รายรับของศูนย์ ARMAC ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ของศูนย์ ARMAC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ 

          3. กต. เห็นว่า ไทยควรพิจารณามอบเงินอุดหนุนตามความสมัครใจสำหรับการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิด และแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์ ARMAC ในการส่งเสริมความพยายามในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยยังมีพื้นที่ปนเปื้อนหรืออาจปนเปื้อนทุ่นระเบิดเหลืออยู่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร2 ซึ่งตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention: APMBC) ไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (ขยายระยะเวลาครั้งที่ 3) นอกจากนี้ เนื่องจากศูนย์ ARMAC เป็นองค์กรที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากภายใต้ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ดังนั้น การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจของไทยจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย - กัมพูชา และเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของไทยในกรอบทวิภาคีอีกทางหนึ่งด้วย

_____________________________

1นับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ ARMAC ได้มีการจัดกิจกรรมและโครงการจำนวน 17 โครงการ เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม โดยในส่วนของไทยได้เคยให้การสนับสนุนแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) การจัดกิจกรรมเนื่องในวันทุ่นระเบิดสากลประจำปี พ.ศ. 2562 และ (2) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนในภูมิภาคอาเซียน (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินโครงการ)

2ปัจจุบันไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 99 โดยยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร ใน 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว และตราด โดยอุปสรรคที่สำคัญ คือ ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน (Areas to be Demarcated - AD) เพื่อเก็บกู้ในบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา อนึ่ง ปัจจุบันบริเวณชายแดนไทย - เมียนมา และชายแดนไทย – ลาว ไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดแล้ว

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A9962

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!