WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567

Gov 07

กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

          1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

          2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ

          3. มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) โดยประธานสภาพัฒนาฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว

          4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2567 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง

          5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 76,756 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2568 – 2570 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท

          สาระสำคัญของเรื่อง 

          สศช. รายงานว่า รัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง1ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ได้ส่งข้อเสนองบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2567 ให้ สศช. ซึ่งสภาพัฒนาฯ ได้กำหนดแนวทางสำหรับกลั่นกรองการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) ความสอดคล้องกับสถานการณ์ แนวนโยบายที่สำคัญของภาครัฐ และกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะกรอบนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง และหมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ (2) ความจำเป็นในการลงทุน โดยพิจารณาการลงทุนตามภารกิจและภาระผูกพัน วัตถุประสงค์การจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ และ (3) ความพร้อมในการลงทุนทั้งด้านกายภาพ ฐานะทางการเงิน ตลอดจนการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ2 เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ พิจารณา รวมทั้งได้เชิญผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าร่วมพิจารณาด้วย โดยในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 สภาพัฒนาฯ มีมติ ดังนี้ 

          1. งบลงทุน 

          เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ3 จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน4 จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง (วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท) และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี (วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน [กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)] คิดเป็นร้อยละ 43.2 และรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 34.6 ของวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในภาพรวม ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้มีมติปรับปรุงการลงทุนจากที่รัฐวิสาหกิจเสนอมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็นและความพร้อมในการลงทุน โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการดำเนินงานตามภารกิจหลัก และความพร้อมในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การรออนุมัติ/อนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการปรับลดการลงทุนที่เข้าข่ายเป็นโครงการใหม่ที่จำเป็นต้องรอการอนุมัติตามขั้นตอนการดำเนินการจำนวน 31 โครงการ เช่น โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2567 – 2571 ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และโครงการระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น โดยรายละเอียดกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ในภาพรวม ปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้ 

หน่วย : ล้านบาท

ประเภทการลงทุน

ข้อเสนอ

ผลการพิจารณาของสภาพัฒนาฯ

ปรับเพิ่ม (ลด)

ดำเนินการ

เบิกจ่าย

ดำเนินการ

เบิกจ่าย

ดำเนินการ

เบิกจ่าย

(1) งบปกติ5

311,640

91,187

306,419

88,552

(5,221)

(2,635)

(2) งบโครงการ6

961,982

136,101

855,433

117,021

(106,549)

(19,080)

(3) สัญญาเช่า (TFRS16)7

18,772

3,413

18,772

3,412

0.04

(1)

รวม [(1) ถึง (3)]

1,292,394

230,701

1,180,624

208,9858

(111,770)

(21,716)

(4) กรอบสำหรับเพิ่มเติมระหว่างปี9

-

-

200,000

50,000

-

-

รวม [(1) ถึง (4)]

1,292,394

230,701

1,380,624

258,985

(111,770)

(21,716)

 

          ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง10 (รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 51 แห่ง) แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2567 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,528,028 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 449,950 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้ 

หน่วย : ล้านบาท

ประเภทการลงทุน

ดำเนินการ

เบิกจ่าย

งบลงทุนเฉพาะรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง รวม [(1) ถึง (3)]

1,180,624

208,985

งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง

347,404

240,965

ภาพรวมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง

1,528,028

449,950

 

          สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน 

          2. งบทำการ 

          รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 76,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณร้อยละ 51.211 โดยมีรายได้รวม 2,247,541 ล้านบาท และรายจ่ายรวม 2,170,785 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ มีข้อสังเกตว่าเมื่อดำเนินการจริงแล้วงบทำการของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสมมติฐานและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก (1) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (2) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านราคาพลังงาน (3) ความสามารถในการดำเนินตามแผนธุรกิจ (4) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (5) ความผันผวนของราคาสินค้าด้านการเกษตร อาทิ ยางพารา และ (6) การจัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้ โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้ 

หน่วย : ล้านบาท

งบทำการ

ปี 2566

(เบื้องต้น)

ปี 2567

(ประมาณการ)

ร้อยละเพิ่ม (ลด)

จากปี 2566

ประมาณการรายได้รวม

2,155,202

2,247,541

4.3

ประมาณการรายจ่ายรวม

2,104,445

2,170,785

3.2

ประมาณการกำไร (ขาดทุน) สุทธิ

50,757

76,756

51.2

 

          3. แนวโน้มการดำเนินงานปี 2568 – 2570 

          รับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้าของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลการเบิกจ่ายลงทุนรวม จำนวน 1,129,100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 250,328 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ83,443 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากฐานปี 2567 ประมาณร้อยละ 8.7 ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจมีทิศทางเติบโตขึ้น

          4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้ 

 

ประเด็น

 

ข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ

4.1 การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

 

ให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติผูกพันสัญญาและการก่อหนี้ในรายการลงทุนที่มีความพร้อมโดยเตรียมดำเนินการต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย เพื่อให้การประมาณการและการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4.2 การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี

 

ให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีให้แล้วเสร็จโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงเจ้าสังกัดภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการลงทุนโดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุน ควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นการดำเนินการเชิงนโยบายเท่านั้น หากไม่ใช่ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว สศช. อาจไม่พิจารณาดำเนินการ

สำหรับงบลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว ให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนดังกล่าวได้ โดยให้แจ้งกระทรวงเจ้าสังกัดและ สศช. ทราบเพื่อ สศช. จะได้ปรับปรุงวงเงินลงทุนให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงไป

4.3 แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป

 

รัฐวิสาหกิจควรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 

ให้รัฐวิสาหกิจสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินงานและการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจและเป็นกลไกสนับสนุนที่ช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย

ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาการลงทุนที่สอดคล้องกับขอบเขตภารกิจของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน ความพร้อมของแหล่งเงินลงทุน และการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพิ่มเติมเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่นๆ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.4 การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ

 

ในการลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทลูกหรือการเข้าร่วมลงทุน รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกภาครัฐในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอยู่ ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายในการสร้างรายได้ เพื่อให้การลงทุนดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ

4.5 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

 

ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณานำแนวทางของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ .. 2566 – 2570 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอน มาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาองค์กรมีกรอบที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน

รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงความจำเป็นของการดำรงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย

 

          5. ข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการที่เหมาะสมของแต่ละรัฐวิสาหกิจ อาทิ 

 

มิติ

 

ตัวอย่างข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ

5.1 การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

 

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนผู้ใช้ถนนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานทั้งระหว่างการก่อสร้างและเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมของแผนดำเนินงานต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการสวนสัตว์แห่งใหม่หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิ แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการ และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องตามสภาวการณ์ปัจจุบันและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแผนการจัดการด้านคมนาคม โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม (คค.) และหน่วยงานของจังหวัดปทุมธานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและบริหารจัดการจราจรที่ไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์และสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ

5.2 การให้บริการ

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กำหนดตารางการเดินรถและการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำหนดแผนการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารสถานีต่างๆ ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม ชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อฐานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และอาจพิจารณาการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน/สินค้าประจำถิ่น และการสร้างอัตลักษณ์ในแต่ละสถานีที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีการลงทุนจำนวนมากให้สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ให้กับ ปณท และการสร้างการรับรู้/ภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย/จัดลำดับความสำคัญของการลงทุน รวมถึงการดำเนินธุรกิจในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนรายอื่นให้มีความคืบหน้ามากขึ้นในปีถัดไป ซึ่งอาจช่วยลดภาระทางการเงินของ ปณท ได้

5.3 การลดต้นทุนการผลิต

 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดลำดับการลงทุนตามความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่กระทบต่อการให้บริการและการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทลูก โดยอาจพิจารณาปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง

5.4 การบริหารจัดการ

 

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งรัดการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อ ขสมก. จะได้มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการและใช้เป็นข้อมูลประกอบกรณีต้องเสนอขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน

องค์การเภสัชกรรม เตรียมความพร้อมของการลงทุนในระยะต่อไปอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่สามารถบริหารจัดการได้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการลงทุนได้แล้วเสร็จและช่วยสร้างรายได้จากสินทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

__________________ 

1 สศช. มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา 20 (7) ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 

2 ประกอบด้วย กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาพัฒนาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สงป. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สศช.

3 วงเงินดำเนินการ คือ วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน

4 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน คือ วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินงานตามสัญญา 

5 งบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ คือ วงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินงานเพื่อสนับสนุนภารกิจหลัก เช่น งานซ่อมบำรุง งบจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

6 งบลงทุนโครงการ คือ วงเงินที่ใช้ดำเนินภารกิจหลัก (กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้) ก่อให้เกิดสินทรัพย์ถาวร เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การลงทุนบรรลุตามเป้าประสงค์ 

7สัญญาเช่าสินทรัพย์ประจำเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก

8วงเงินเบิกจ่ายลงทุนแบ่งออกเป็นงบลงทุนผูกพัน จำนวน 166,991 ล้านบาท และงบลงทุนที่เสนอขอใหม่ปีนี้จำนวน 41,994 ล้านบาท 

9 สภาพัฒนาฯ ได้เห็นชอบกรอบการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงกรอบลงทุนระหว่างปีเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ และเพื่อปรับงบลงทุนให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว 

10 ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 

11 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรของภาครัฐภายหลังภาวะโรคระบาด การประมาณการรายได้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (Public Obligation Service: PSO) เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยของต้นทุนทางการเงินลดลง และผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการหดตัวของรายได้ ทั้งผลกระทบจากการออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาระต้นทุนโดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์สูง และความพร้อมด้านเงินอุดหนุน ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับจัดสรรเงินงบประมาณซึ่งจะปรับปรุงภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A9975

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!