WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566

Gov 15

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          สศช. รายงานว่า

          1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2566 สรุปได้ ดังนี้

               1.1 สถานการณ์ด้านแรงงาน มีผู้มีงานทำจำนวน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 เนื่องจากการขยายตัวของสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวเล็กน้อยจากปี 2565 เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่วนค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างในภาพรวมและภาคเอกชน อยู่ที่ 15,412 และ 14,023 บาทต่อคนต่อเดือน และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น โดยลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 ซึ่งมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.3 แสนคน ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ และ (3) ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

               1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมือเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่อ การอุปโภคและบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) หนี้เสียและความเสี่ยงของ การเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และ (3) การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง

               1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.76 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) สุขภาพของคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และ (2) โรคคอมพิวเตอร์วิชัน ซินโดรม

               1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนทำให้ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้อง เฝ้าระวัง ได้แก่ (1) ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ (2) การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี

               1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 88,719 คดี ลดลงร้อยละ 17.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีคดีอาญารวม 104,108 คดี) โดยมีคดียาเสพติดลดลงแต่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนด้านอุบัติเหตุทางถนน (มีผู้ประสบภัยรวม 198,685 ราย) ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีผู้ประสบภัยรวม 208,542 ราย) ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การหลอกลวงทางโทรศัพท์ (2) การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนที่ใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการและ (3) การบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว

               1.6 การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 โดยเป็นการร้องเรียนด้านสัญญามากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติลดลงร้อยละ 40.5 โดยเป็น การร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด และ (2) ประชาชนบางส่วนถูกนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว

          2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

               2.1 การย้ายถิ่น1ของประชากรช่วง COVID-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงปี 2563-2565 ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นของประชากรซึ่งเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานไปยังพื้นที่อื่นเนื่องจากโรงงานและสถานประกอบการปิดกิจการ และจากข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรระหว่างปี 2562-2565 พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น โดยมีลักษณะการย้ายออกจากพื้นที่/จังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดงาน เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีการย้ายเข้าในพื้นที่ส่วนภูมิภาค คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และในปี 2565 จากประชากรจำนวน 2.1 ล้านคน ที่มีการย้ายมาอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี พบว่า ประชากรจำนวน 1.1 ล้านคน ต้องการอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันตลอดไปหรือเป็นประชากรย้ายถิ่นถาวร ขณะที่ประชากรอีก 1 ล้านคน เป็นประชากรย้ายถิ่นชั่วคราวและยังไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่า (1) การคาดหวังให้แรงงานเคลื่อนย้ายช่วงโควิด-19 กลับมาชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (2) แรงงานที่กลับภูมิลำเนาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น (3) แรงงานที่เคลื่อนย้ายในช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ส่งผลให้ครอบครัวของแรงงานขาดหลักประกันทางสังคม และ (4) การคืนถิ่นช่วยสร้างผลกระทบที่ดีเชิงสังคม เช่น ช่วยให้เด็กได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น ทั้งนี้ มีแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การเก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (2) การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่น (3) การส่งสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม และ (4) การขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น

               2.2 จัดการซากรถยนต์อย่างไรเมื่อรถ EV มาแทนที่ ปัจจุบันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์สันดาปถูกแทนที่และมีการเลิกใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2565 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานกว่า 2.7 แสนคัน ขณะที่รถยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบันมากกว่า 5 ล้านคัน เป็นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ดังนั้น การมีซากรถยนต์หรือรถเลิกใช้งานเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมซึ่งการจัดการซากรถยนต์ในไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะการจัดการของเสียจากกระบวนการรื้อถอดชิ้นส่วน/การจัดการของเสียอันตราย การแยกส่วนประกอบโดยชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชนและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ถูกวิธีของโรงงานนอกระบบ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายเป็นภาระของท้องถิ่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการจัดการซากรถยนต์บนหลักการของการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้มีสถานประกอบการจัดการซากรถยนต์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน (2) ผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซากรถยนต์ให้กับผู้บริโภคส่งผลให้ต้นทุนการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น และ (3) การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเรื่องการผลิตรถยนต์ การจดทะเบียนรถยนต์ รวมถึงการจัดการซากรถยนต์และของเสียอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว

               2.3 LGBTQ+ :หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลจาก LGBT Capital2 และ Ipsos3 ในปี 2566 คาดว่าไทยจะมีจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 4.2 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีการผลักดันกฎหมายส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงพบปัญหาการเลือกปฏิบัติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายด้านโดยเฉพาะทางด้านอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างการยอมรับและการสนับสนุนตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม เป็นต้น

          3. บทความ “หนี้สินคนไทย: ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและกระทบต่อการจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือน และครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลเครดิตบูโร4 ในไตรมาสหนึ่งปี 2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนกลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบว่า มีการก่อหนี้ประเภทอื่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ หนี้เพื่อการประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และหนี้ที่ไม่สามารถจำแนกประเกทได้ ซึ่งกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี มีการก่อหนี้ประเภทนี้มากที่สุดและเป็นกลุ่มอายุที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ขณะที่กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า (1) หนี้จำนวนมากยังไม่ได้นำเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร ส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ (2) หนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสูงกว่าหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ (3) กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้นและกลุ่มผู้สูงอายุ และ (4) หนี้ครัวเรือนอื่นๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมีแนวทางในการดำเนินการ ได้แก่ (1) ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร (2) กำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด (3) หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง (4) ส่งเสริมการปลูกฝังความรู้เรื่องทางการเงินและวินัยทางการเงินที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย และ (5) ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน

 

­_______________________________________

1 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กำหนดนิยามของ “การย้ายถิ่น” หมายถึง การย้ายสถานที่ที่อยู่อาศัยจากเขตเทศบาลอื่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อื่นซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยครั้งสุดท้ายมายังเทศบาลอื่นหรือ อบต. อื่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนเขตเทศบาลหรือ อบต. เนื่องจากการขยายเขตเทศบาลหรือแยกหมู่บ้านโดยที่บุคคลหรือครัวเรือนนั้นยังอยู่ที่เดิมและการย้ายสถานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาไม่นับว่าเป็นการย้ายถิ่น

2 LGBT Capital (เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินสำหรับกลุ่มเพศทางเลือกหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ของสหราชอาณาจักร

3 อิปซอสส์ (Ipsos) เป็นบริษัทด้านการสำรวจและวิจัยตลาดระดับโลกของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งได้จัดทำผลสำรวจออนไลน์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22,514 คน อายุระหว่าง 16-74 ปี

4 เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นบริษัทกลางที่ทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อของบุคคล

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 3 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10120

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!