WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

Gov 19

ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

          1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ในกรอบวงเงิน 29,748 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2571) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายในกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

          2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยมีแหล่งเงินในการดำเนินการ ดังนี้ 

               2.1 สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินรวม 385 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 369 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน จำนวน 9 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประกวดราคา จำนวน 7 ล้านบาท 

               2.2 ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อจากกระทรวงการคลัง และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม วงเงินรวม 29,363 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง จำนวน 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 604 ล้านบาท ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย

               2.3 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น อำเภอโนนสะอาด อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย พ.ศ. ....

          สาระสำคัญ

          การรถไฟแห่งประเทศไทยขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ความสอดคล้องของโครงการ

          โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นและลดระยะเวลาการโดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์และแผนการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการใช้ระบบขนส่งระบบราง เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย - นครราชสีมา - สระบุรี - ฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง - มาบตาพุด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนด้านการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มายังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้า (Multimodal Transport) จากทางรถไฟไปยังระบบการขนส่งทางชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการคมนาคมในภาคต่างๆ ของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ ขอนแก่น พิษณุโลก และกรุงเทพฯ โดยการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ที่มีพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการ เช่น สนามบิน ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า รวมทั้งกิจการต่อเนื่องอย่างครบถ้วน และสอดคล้องกับผังแนวคิดการพัฒนาการเชื่อมโยงกับต่างประเทศในแนวแกนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตาม แนวตะวันออก - ตะวันตก (สระบุรี - นครราชสีมา - ขอนแก่น - อุดรธานี - หนองคาย - เวียงจันทน์)

          2. ความเหมาะสมของโครงการ

               2.1 ลักษณะของโครงการ

               เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ทาง ขนาดไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วยทางรถไฟระดับดินระยะทางประมาณ 153 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ 2 แห่ง ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี เป็นการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่จำนวน 6 สถานี และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิมจำนวน 8 สถานี มีที่หยุดรถจำนวน 4 แห่ง และได้ดำเนินการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในปัจจุบันทั้งหมดโดยได้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 53 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความจุของทางรถไฟตลอดจนความรวดเร็วและความปลอดภัยในการให้บริการ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

               2.2 การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและสินค้า

                    1) ผลการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงขอนแก่น - หนองคาย มีจำนวนประมาณ 3,500 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2569 (ปีที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการตามรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมฉบับปรับปรุงใหม่) และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2599 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.19 ต่อปี

                    2) ผลการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงนี้มีจำนวนประมาณ 3.50 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันต่อปี ในปี 2599 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.67 ต่อปี

               2.3 ประมาณการผลตอบแทนของโครงการ

                    1) ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์

                    ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการพบว่ามีความเหมาะสมต่อการลงทุน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) มีค่าเท่ากับร้อยละ 18.46 มากกว่าร้อยละ 12 ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้ นอกจากนี้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 มีค่า 14,598 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 มีค่า 1.69 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะได้รับผลประโยชน์สูงกว่าต้นทุนที่สูญเสียไปกรณีที่มีการพัฒนาโครงการนี้

                    2) การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน

                    จากการประมาณการค่าใช้จ่ายรวมและรายได้รวมของโครงการผลการวิคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return : FIRR) เท่ากับร้อยละ -3.98

               2.4 การออกแบบรายละเอียดโครงการ

                    1) แนวเส้นทางโครงการ

                    โครงการมีจุดเริ่มต้นที่ กม. 453+954.950 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ - ขอนแก่น ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปทางเหนือของสถานีขอนแก่น (กม. 449+750) ประมาณ 4.2 กิโลเมตร และมีจุดสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย (กม.621+345) ระยะทางรวมประมาณ 167 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ในการออกแบบจะต้องมีการปรับปรุงแนวเส้นทางในบางช่วง เนื่องจากไม่สามารถรองรับความเร็วตามข้อกำหนด (Design Speed) ซึ่งกำหนดไว้ที่ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถไฟโดยสารจะเดินรถด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟบรรทุกสินค้าจะเดินรถด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

                    2) สถานีรถไฟ

                    ตลอดแนวเส้นทางโครงการมีจำนวนสถานีรถไฟทั้งหมด 14 สถานี ได้แก่ สถานีสำราญ สถานีโนนพยอม สถานีน้ำพอง สถานีเขาสวนกวาง สถานีโนนสะอาด สถานีห้วยเกิ้ง สถานีกุมภวาปี สถานีห้วยสามพาด สถานีหนองตะไก้ สถานีหนองขอนกว้าง สถานีอุดรธานี สถานีนาพู่ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีอยู่เดิมทั้งหมด แต่จะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ตลอดแนวเส้นทางโครงการมีป้ายหยุดรถจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ที่หยุดรถห้วยไห ที่หยุดรถบ้านวังชัย ที่หยุดรถห้วยเสียว และที่หยุดรถคำกลิ้ง 

                    3) ลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard)

                    โครงการได้กำหนดให้มีลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร สถานีหนองตะไก้ พื้นที่ขนาด 21,750 ตารางเมตร และสถานีนาทา พื้นที่ขนาด 19,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

                    4) โรงช่อมบำรุง

                    โครงการได้กำหนดให้โรงซ่อมบำรุงตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีนาทาจังหวัดหนองคาย มีขนาดพื้นที่ 11.25 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานซ่อมบำรุงให้สามารถบำรุงรักษาขบวนรถเมื่อมาถึงสถานีปลายทาง โดยได้พิจารณาถึงการซ่อมบำรุงวาระไม่เกิน 6 เดือน หรือบำรุงเบา (Light Maintenance) และสามารถซ่อมฉุกเฉินนอกวาระได้ ประเภทรถที่รองรับในโรงซ่อมบำรุงนาทา ประกอบด้วย รถจักร (Locomotive) รถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit) รถสินค้า (Freight Train) รวมถึงการรองรับขบวนรถโดยสารใหม่ซึ่งเป็นแบบรถชุด (Train set) ขนาดความยาว 340 เมตร

               2.5 การประมาณการมูลค่าลงทุนโครงการเบื้องต้นและแผนการเบิกจ่ายเงิน

               การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาและประเมินมูลค่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย โดยอ้างอิงจากประมาณการตามผลการศึกษาและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันแล้ว มีมูลค่าโครงการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 29,748 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) 

               2.6 การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

               การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561

               2.7 แผนการดำเนินงานโครงการ

               การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางแผนการดำเนินโครงการ โดยได้พิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยและได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการให้เป็นปัจจุบันแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2570 และเปิดให้บริการต่อประชาชนได้ในเดือนพฤษภาคม 2570 

               2.8 การเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง

               จากผลการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมของโครงการฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินประมาณ 184 ไร่ เพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟใหม่บางช่วงเพื่อปรับแก้รัศมีโค้งและก่อสร้างทางยกระดับหรือทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในท้องที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามวัตถุประสงค์ จึงมีความจำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดเตรียมพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยกรมการปกครองมีหนังสือ ที่ มท 0310.1/10566 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 แจ้งผลการตรวจสอบแนวเขตการปกครองแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการก่สร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10535

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!