WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41

Gov 17

แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41 โดยกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเป็นกฎหมายกลางมีหลักการให้มีการเปลี่ยนโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองของกฎหมายตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย (ไม่เป็นโทษอาญา) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้เตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อใช้บังคับกฎหมายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผู้ใช้และอ้างอิงกฎหมายที่จะสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

          2. มอบหมายให้ สคก. และหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้วางแนวทางไว้ 

          สาระสำคัญ 

          สคก. เสนอว่า 

          1. โดยที่ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โดยเป็นกฎหมายกลาง1 ซึ่งมีหลักการให้มีการเปลี่ยนโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว และโทษปรับทางปกครองของกฎหมายตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย โดยการปรับนั้นมิได้เป็นโทษทางอาญา 

          2. โดยมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวของกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติ (มีจำนวน 168 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัยและให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองของกฎหมายในบัญชี 3 ท้ายพระราชบัญญัติ (มีจำนวน 3 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัยและให้ถือว่าอัตราโทษปรับทางปกครองเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 อันจะทำให้ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและความผิดที่มีโทษปรับทางปกครอง ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติปรับเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยโดยผลของกฎหมาย อย่างไรก็ดี มาตรา 41 บัญญัติให้ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 22 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่รวมถึง (1) ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือโทษที่สูงกว่าสำหรับกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเดียวกันนั้น และ (2) ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดอีกหรือเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย 

          นอกจากนี้ มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ บัญญัติให้กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ไม่เกินที่กฎหมายนั้นกำหนด ให้เปลี่ยนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะในการกำหนดโทษปรับอาญาเป็นการปรับเป็นพินัยไม่เกินอัตราที่กำหนดสำหรับการกำหนดโทษปรับอาญา ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 

          3. ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้เตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนประโยชน์แก่ประชาชนที่จะสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง สคก. จึงได้หารือคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย3 เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41 ซึ่งยังไม่เคยปรากฏแนวทางมาก่อน 

          4. คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ได้พิจารณามาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญัญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ แล้ว เห็นสมควรกำหนดแนวทางการพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้ 

               4.1 แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ปรากฏตามตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ 

 

พระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ .. 2556 

          มาตรา 29 (เดิม

          ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท” 

          แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          มาตรา 29 

          ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งแสนบาท*

[*มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย .. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย]”

 

                  ทั้งนี้ ให้ สคก. นำแนวทางดังกล่าวข้างต้นไปปรับใช้กับการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำของบทบัญญัติที่มีการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวของกฎหมายในบัญชี 1 และถ้อยคำของบทบัญญัติที่มีโทษปรับทางปกครองในบัญชี 3 ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการที่มาตรา 39 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ได้เปลี่ยนโทษดังกล่าวไปแล้ว รวมถึงกรณีที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกฎหมายในบัญชี 2 ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย (มีจำนวน 33 ฉบับ) นอกจากนั้น หากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้บังคับกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ดังกล่าว ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ก็ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของประชาชนในการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงและเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย 

               4.2 แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                  คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ แล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ไม่เกินที่กฎหมายนั้นกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกัน จึงเห็นสมควรกำหนดแนวทางการแก้ไขถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร .. 2528

          มาตรา 97 วรรคสอง (เดิม)

          ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท

          แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือจะกำหนดทั้งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจะกำหนดให้มีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้

 

พระราชบัญญัติองค์การบริการส่วนจังหวัด .. 2540

          มาตรา 51 วรรคสอง (เดิม)

          ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

          แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือจะกำหนดทั้งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งมื่นบาท หรือจะกำหนดให้มีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา .. 2542

          มาตรา 70 วรรคสอง (เดิม)

          ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้

          แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุก หรือกำหนดทั้งโทษจำคุกและปรับสำหรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ หรือจะกำหนดให้ผู้ละเมิดข้อบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้

 

พระราชบัญญัติเทศบาล .. 2496

          มาตรา 60 วรรคสอง (เดิม)

กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

          ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดเกินว่าหนึ่งพันบาท

          แนวทางที่คณะกรรมการกำหนด

          ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดให้ผู้ละเมิดเทศบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งพันบาทไว้ด้วยก็ได้

 

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล .. 2537

          มาตรา 71 วรรคหนึ่ง (เดิม)

          องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ในการนี้ จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

          แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด

          องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ในการนี้ จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนข้อบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

               4.3 แนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

                  คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้พิจารณามาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ แล้ว เห็นว่า ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 2 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะไม่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยและค่าปรับทางพินัย ในกรณีดังต่อไปนี้

                  กรณีที่หนึ่ง ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือโทษที่สูงกว่าสำหรับกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเดียวกันนั้น ตามมาตรา 41 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เห็นว่า จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลกระทำความผิดอย่างเดียวกัน แต่กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลธรรมดาที่กระทำความผิดนั้นต้องรับโทษจำคุกหรือโทษอาญาที่สูงกว่าส่วนนิติบุคคลที่กระทำความผิดเดียวกันนั้นต้องรับโทษปรับสถานเดียว ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายในบัญชี 1 ที่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวที่ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย เช่น มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 59 มาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 แต่สำหรับมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 นั้น แม้กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้กรณีที่บุคคลธรรมดากระทำผิดในมาตรา 6 แต่องค์ประกอบของการกระทำความผิดของบุคคลธรรมดามีองค์ประกอบแตกต่างจากการกระทำความผิดของนิติบุคคล จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (1) ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 จึงต้องเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย 

                  กรณีที่สอง ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดอีกหรือเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ตามมาตรา 41 (2) แห่งพะราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เห็นว่า

                  (1) กรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับ โทษที่สูงกว่าโทษปรับต้องเป็นโทษอาญาเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายกำหนดโทษปรับสถานเดียวและกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมจากโทษปรับ เช่น กำหนดให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์หรือมีคำสั่งให้เลิกประกอบกิจการ หรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกำหนดมาตรการทางปกครอง เช่น สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือมีอำนาจสั่งกักเรือ หรือกำหนดค่าปรับบังคับการไว้ เนื่องจากเป็นมาตรการอื่นที่ไม่ใช่โทษอาญา กรณีดังกล่าวจึงสามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้

                  (2) เงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำผิดอีก ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลเดียวกันและกฎหมายกำหนดให้บุคคลคนเดียวกันนั้นต้องรับโทษอาญาที่สูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดเดียวกันซ้ำอีก เช่น มาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

                  (3) เงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ต้องเป็นการกระทำความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดเดียวกันกับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว และกฎหมายกำหนดให้ต้องรับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น มาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราขบัญญัติเครื่องแบบทหาร (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2485 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

                  สำหรับกรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดอาญาและกำหนดโทษจำคุกไว้ และได้กำหนดเหตุลดโทษไว้สำหรับการกระทำที่มีองค์ประกอบความผิดเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเมื่อมีเหตุดังกล่าวได้รับเพียงโทษปรับสถานเดียวเป็นกรณีที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำความผิดโดยมีเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่ควรรับโทษถึงจำคุกจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (2) สามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้ เช่น มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือกรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดอาญาซึ่งบุคคลคนเดียวกระทำความผิดและมีโทษสองระดับ เพราะมีองค์ประกอบความผิดคนละองค์ประกอบ เช่น มาตรา 127 ทวิ และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (2) และสามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้ 

          5. ทั้งนี้ สคก. ได้จัดทำตารางรวมมาตราของกฎหมาย ฉบับต่างๆ ตามบัญชี 1 และบัญชี 3 ที่จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไว้ ตามแนวทางของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในข้อ 4 โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ สคก. (ocs.go.th) แล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเป็นการล่วงหน้า และเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกฎหมาย

____________________________ 

1 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิด หรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด จึงเห็นควรกำหนดให้มีกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง โดยปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาบางประการตามกฎหมายต่างๆ รวม 204 ฉบับ ที่มุ่งต่อการปรับเป็นเงินเป็น “มาตรการปรับเป็นพินัย” ซึ่งการปรับนั้นมิได้เป็นโทษทางอาญา รวมทั้งไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ตลอดจนไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป ซึ่งการมีกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ตามสมควรและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ 

2 มาตรา 40 บรรดาความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 2 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 

 ก่อนตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชกฤษฎีกานั้นให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้มีมติไม่เห็นชอบ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไป 

 การตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งจะเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายที่ระบุไว้ในบัญชีบางมาตราหรือทุกมาตรา โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการเปลี่ยนไว้ด้วย 

3 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบโดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่หน่วยธุรการ ซึ่งได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 318/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10541

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!