WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย

Gov 10

รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในการปรับปรุงการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของ ขสมก. และ รฟท. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กค. รายงานว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณารายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ ขสมก. และ รฟท. แล้ว เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 สรุปได้ ดังนี้

          1. รายงานผลการให้บริการสาธารณะของ ขสมก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2565)

              1.1 สรุปสาระสำคัญของรายงานผลการให้บริการสาธารณะของ ขสมก.

                    (1) ลักษณะของการบริการและปริมาณการให้บริการสาธารณะ ขสมก. ให้บริการรถโดยสารธรรมดา มีรถวิ่งจริง จำนวน 1,477 คัน (เป้าหมาย 1,460 คัน) ระยะทางรวม 88.92 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมาย 111.38 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจาก ขสมก. ขาดอัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสาร และ ขสมก. เน้นการให้บริการในช่วงเช้าซึ่งเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนและมีรถเสียระหว่างการให้บริการ ส่งผลต่อการเปลี่ยนกะรถและทำให้ในช่วงบ่ายมีจำนวนรถโดยสารให้บริการน้อย อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกได้ปฏิรูปเส้นทางการเดินรถซึ่งมีระยะทางสั้นกว่าเดิมจึงทำให้กิโลเมตรทำการลดลง

                    (2) ผลการดำเนินงานของ ขสมก. โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น

                         (2.1) ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการอยู่ที่ร้อยละ 88.80 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.80 (เป้าหมายร้อยละ 86) เนื่องจาก ขสมก. มีการอบรมพนักงานในการให้บริการผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง

                         (2.2) จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ 13.48 ครั้งต่อล้านกิโลเมตรสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้ไม่เกิน 8 ครั้งต่อล้านกิโลเมตร เนื่องจากรถโดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจากอายุการใช้งาน สภาพพื้นผิวถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำให้มีจุดเสี่ยงตามถนนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงมีพนักงานขับรถใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ในการขับรถโดยสารสาธารณะ

                         (2.3) จำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยที่ตรวจจับได้จากระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (Global Positioning System: GPS) มีการตรวจจับได้ จำนวน 126,740 ครั้ง เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเก็บข้อมูลจากจำนวนครั้งที่พนักงานขับรถโดยสารใช้ความเร็วเกินกำหนด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาณ GPS ไม่เสถียรและมีการนับซ้ำซ้อน ทำให้จำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

                         (2.4) ต้นทุนต่อกิโลเมตรทำการสูงกว่าเป้าหมาย โดยอยู่ที่ 44.42 บาทต่อกิโลเมตรทำการ (เป้าหมาย 37.83 บาทต่อกิโลเมตรทำการ) เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวรถ เช่น ค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายพนักงาน มีการปรับเพิ่มสูงกว่ากรอบการคำนวนตามบันทึกข้อตกลงฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                         (2.5) การร้องเรียนเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยจากระบบการร้องเรียนโดยผู้โดยสาร ผ่าน Call Center จำนวน 2,322 ครั้ง เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ขสมก. มีช่องทางการร้องเรียนหลายช่องทาง ได้แก่ Call Center ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน ศูนย์ปลอดภัยกระทรวงคมนาคม (คค.) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และตู้จดหมาย ปณ. 5 อย่างไรก็ตาม การจัดทำรายงานในครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก Call Center เท่านั้น

                    (3) การพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ มีจำนวน 2,530.59 ล้านบาท (กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ จำนวน 2,279.78 ล้านบาท) โดยมีการหักค่าการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ (บันทึกข้อตกลงฯ) จำนวน 786.99 ล้านบาททำให้ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะประจำปี 2565 ภายหลังจากการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัด คิดเป็นจำนวน 1,743.60 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 1,139.89 ล้านบาท (เบิกจ่ายแล้ว) งวดที่ 2-3 รวมจำนวน 603.70 ล้านบาท

              1.2 มติคณะกรรมการฯ

                    (1) รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ ขสมก. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,530.59 ล้านบาท และให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งวดที่ 2-3 จำนวน 603.70 ล้านบาท

                    (2) ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ เห็นควรให้ ขสมก. ดำเนินการ ดังนี้

                         (2.1) เก็บข้อมูลรายได้ค่าโดยสารจากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร (ตั๋วกระดาษ) บัตรสวัสดิการ และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แยกตามประเภทของราคาค่าโดยสารที่มีการลดหย่อนตามกลุ่มผู้โดยสาร เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กนักเรียน/นักศึกษา เพื่อให้การจัดทำประมาณการรายได้ค่าโดยสารและจำนวนตั๋วโดยสารสำหรับขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง

                         (2.2) พัฒนาและปรับปรุงระบบ GPS ให้มีความเสถียรเพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน และควรรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนให้ครบทุกช่องทาง รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากระบบ GPS และระบบการร้องเรียนมาวิเคราะห์สาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไขเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการสาธารณะของ ขสมก. ต่อไป

                         (2.3) ประเด็นตัวชี้วัดจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสำหรับรถโดยสารธรรมดาที่ ขสมก. เป็นฝ่ายผิดซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก ดังนั้น ขสมก. ต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในการให้บริการผู้โดยสาร

                         (2.4) เร่งจัดทำรายงานทางการเงินให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีที่ ขสมก. ไม่ได้นำมาตรฐานรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงินที่ประกาศโดยสภาวิชาชีพบัญชี และมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 มาถือปฏิบัติ เพื่อมิให้เกิดกรณีการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินสำหรับงวดบัญชีปีถัดไป

                         (2.5) ขสมก. มีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนค่อนข้างสูงในแต่ละปี ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้ คค. พิจารณาทบทวนบทบาทของ ขสมก. ในการให้บริการรถโดยสารประจำทางในพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจน รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์จำนวนผู้โดยสารที่ยังต้องการใช้บริการสาธารณะเชิงสังคม1 เพื่อนำมากำหนดแนวทางการให้บริการสาธารณะเชิงสังคมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกำหนดแนวทางการให้เงินอุดหนุนสำหรับการให้บริการสาธารณะเชิงสังคมที่เหมาะสมยิ่งขึ้นและไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐเกินความจำเป็น

          2. รายงานผลการให้บริการสาธารณะของ รฟท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2565)

              2.1 สรุปสาระสำคัญของรายงานผลการให้บริการสาธารณะของ รฟท.

                    (1) ลักษณะของบริการและปริมาณการให้บริการสาธารณะ รฟท. ให้บริการรถไฟเชิงสังคม2 131 ขบวนต่อวัน (เป้าหมาย 152 ขบวนต่อวัน) มีจำนวนผู้โดยสาร 12.37 ล้านคน (เป้าหมาย 24.22 ล้านคน) และกิโลเมตรทำการ 7.85 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมาย 8.30 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ผู้ใช้บริการยังไม่กลับมาใช้บริการประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนยังมีนโยบายให้บุคลากรหมุนเวียนปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานกับที่พักอาศัย รฟท. จึงงดให้บริการเชิงสังคมเป็นการชั่วคราวในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและกิโลเมตรทำการลดลง

                    (2) ผลการดำเนินการของ รฟท. โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น

                         (2.1) ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการอยู่ที่ 4.12 สูงกว่าเป้าหมาย (เป้าหมายระดับความพึงพอใจคือ 4 จาก 5) โดยผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในด้านราคามากที่สุด ส่วนความพึงพอใจน้อยที่สุด คือ ด้านสภาพแวดล้อมและความสะอาด

                         (2.2) ประสิทธิภาพการบริหารเวลาเดินรถให้ตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 85.04 สูงกว่าเป้าหมาย (เป้าหมายร้อยละ 80 ของจำนวนเที่ยวที่ตรงต่อเวลา)

                         (2.3) การเกิดอุบัติเหตุต่อการเดินรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 0 ครั้ง เป็นไปตามเป้าหมาย (เป้าหมายอุบัติเหตุร้ายแรง จำนวน 0 ครั้ง และอุบัติเหตุสำคัญ จำนวน 0 ครั้ง)

                         (2.4) จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการมีจำนวน 12.37 ล้านคนต่ำกว่าเป้าหมาย (เป้าหมาย 24.22 ล้านคน) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้โดยสารยังไม่กลับมาใช้บริการ

                         (2.5) ต้นทุนการดำเนินงานอยู่ที่ 469.05 บาทต่อกิโลเมตรสูงกว่าเป้าหมาย (เป้าหมาย 397.96 บาทต่อกิโลเมตร) เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม รถจักร เครื่องจักรและล้อเลื่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายการรักษาความสะอาดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

                    (3) การพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะมีจำนวน 3,063.42 ล้านบาท (กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ จำนวน 3,278.87 ล้านบาท) โดยมีการหักค่าการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงฯ จำนวน 296.17 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะประจำปี 2565 ภายหลังจากการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัด คิดเป็นจำนวน 2,767.25 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 1,639.43 ล้านบาท และงวดที่ 2 จำนวน 655.77 ล้านบาท (งวดที่ 1 และ 2 มีการเบิกจ่ายแล้ว) และงวดที่ 3 จำนวน 472.05 ล้านบาท

              2.2 มติคณะกรรมการฯ

                    (1) รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ รฟท. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 3,063.42 ล้านบาท และให้ รฟท. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งวดที่ 3 จำนวน 472.05 ล้านบาท

                    (2) ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ

                         (2.1) ผู้โดยสารยังคงมีความพึงพอใจในบางรายการที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายเช่นเดียวกับปี 2564 เช่น ความพึงพอใจด้านความสะอาดและความเพียงพอของจำนวนห้องน้ำบริเวณสถานี และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ดังนั้น ควรให้ คค. กำกับให้ รฟท.จัดทำแนวทางในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการในเรื่องดังกล่าวเพื่อเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในอนาคต นอกจากนี้ ความพึงพอใจด้านราคาควรเกิดจากความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการบริการที่ดีและราคาที่ถูกลงควรสอดคล้องกับต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งนี้ การลดลงของขบวนรถหรือจำนวนรถโดยสารในปัจจุบันอาจไม่ได้สะท้อนถึงคะแนนความพึงพอใจที่สูงขึ้น รฟท. จึงควรเร่งปรับจำนวนขบวนรถให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการเดินทางเพื่อให้การให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสะท้อนความพึงพอใจของผู้รับบริการได้อย่างถูกต้อง

                         (2.2) ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแต่จำนวนผู้โดยสารของ รฟท. ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร จึงควรให้ คค. และ รฟท. ศึกษาและวิเคราะห์จำนวนผู้โดยสารที่ยังต้องการใช้บริการสาธารณะเชิงสังคมเพื่อกำหนดแนวทางและการให้บริการสาธารณะเชิงสังคมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกำหนดแนวทางการให้เงินอุดหนุนสำหรับการให้บริการสาธารณะที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐเกินความจำเป็น

                         (2.3) รฟท. ควรเร่งจัดทำต้นทุนมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับอ้างอิงและใช้ประกอบการดำเนินงานของ รฟท. นอกจากนี้ ในการจัดทำรายงานผู้สอบบัญชีของ รฟท. ซึ่งเป็นรายงานแบบมีเงื่อนไขในประเด็นการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอทำให้กระทบต่อรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ค่าเช่า และลูกหนี้ของ รฟท. จึงควรให้ คค. กำกับดูแลให้ รฟท. แก้ไขรายงานให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ภายในปีบัญชีถัดไป

_____________________________

1 บริการสาธารณะเชิงสังคม คือ บริการสาธารณะโดยรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาค

2 รถไฟเชิงสังคม คือ ขบวนรถไฟที่ให้บริการในลักษณะของการให้บริการสังคม โดยเป็นรถไฟชั้น 3 ประกอบด้วย รถไฟธรรมดา รถไฟชานเมือง และรถไฟท้องถิ่น ซึ่งจะหยุดรับส่งผู้โดยสารทุกสถานีและผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถไฟในชีวิตประจำวัน

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 24 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10777

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!