WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานความก้าวหน้าและผลการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)

Gov 05

รายงานความก้าวหน้าและผลการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และรับทราบผลการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ 

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามและรายงานแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ต่อคณะรัฐมนตรี ขอรายงานสรุปผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และผลการทบทวนแผนปฏิบัติการฯ ดังนี้

          1. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)

              คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารฯ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยมาตรการหลัก 4 มาตรการ ดังนี้

              มาตรการที่ 1 สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้และทักษะเพื่อใช้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food)

              มาตรการที่ 2 สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) ยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย

              มาตรการที่ 3 สร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) สร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมไทยมีบทบาทในตลาดโลกโดยการเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิต การค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง 

              มาตรการที่ 4 สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

          2. ความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

              2.1 มาตรการที่ 1 : สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) มีการดำเนินงาน ดังนี้ 

                    (1) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการพัฒนากระบวนการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการเชื่อมโยงสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 235 ผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 1,149 กิจการ และการเพิ่มทักษะแรงงาน จำนวน 3,680 คน

                    (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการยกระดับเกษตรกรให้เป็นนักรบพันธุ์ใหม่ (Smart Farmer) ผ่านการอบรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จำนวน 320 คน และ Smart Officer ประจำจังหวัด จำนวน 77 คน รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 800 คน มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 257 คน และกลุ่มองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่น จำนวน 25 กลุ่ม นอกจากนี้ มีการยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมให้ตรงความต้องการของห่วงโซ่อุปทาน โดยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (พืชอาหาร) ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 2,805 คน ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 7,931 ไร่ อีกทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูปให้กับวิสาหกิจชุมชน/เกษตรกร จำนวน 154 กิจการ 566 คน ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน (OTOP) ประเภทผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ และการพัฒนา GMP ให้กับโรงสีข้าว จำนวน 5 กิจการ 

                    (3) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีการจัดทำโปรแกรมเร่งการเจริญเติบโต (Food Technology Accelerator) ของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะด้านนวัตกรรมอาหาร (Reskills/Upskills) ผ่านกิจกรรมอบรมต่างๆ เช่น PADTHAI (Program to Accelerate and Develop Thai Food SMEs) การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ด้านนวัตกรรมกลิ่นรส ด้าน Foresight into the BCG Economy: Food & Agriculture Series การเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจของนวัตกรรมอาหาร ผู้ควบคุมการผลิตน้ำบริโภค และทักษะนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเกษตรสู่ Smart Farm เป็นต้น มีผู้ประกอบการผ่านโปรแกรมดังกล่าว จำนวน 834 คน และได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร 61 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 108 กิจการ

                    (4) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการนำระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์/ เทคโนโลยี Internet of Things มาใช้ในการจัดการเกษตร ได้แก่ ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ระบบ Customer Relationship Management (CRM) ระบบ Material Requirement Planning (MRP) ระบบ Enterprise Asset Management (EAM) ระบบ Financial Risk Management (FRM) และระบบ Supply Chain Management (SCM) โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ธุรกิจเกษตร เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน จำนวน 2,567 กิจการ/คน

                    (5) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยการบ่มเพาะองค์ความรู้ ผ่านโปรแกรม SME VUCA PROACTIVE จำนวน 17 กิจการ ซึ่งมี 1 กิจการได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบ SME VUCA World Award ระดับ Gold นอกจากนี้ มีการให้คำปรึกษาและพัฒนาการดำเนินธุรกิจ Technology for All จากโค้ชธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยผ่านการ Pitching และนำสินค้าออกสู่ตลาดบนแพลตฟอร์ม Shopee จำนวน 22 กิจการ

                    (6) กระทรวงมหาดไทย มีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกร เช่น การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อพลาสติก การปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน จำนวน 1,040 คน นอกจากนี้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าเกษตรแปรรูป/เกษตรอินทรีย์/เกษตรปลอดภัย ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 2,080 กิจการ/กลุ่ม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 1,014 ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพเกษตรกร จำนวน 814 คน รวมถึงมีการสร้าง Yong Smart Farmer จำนวน 440 คน และได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ จำนวน 22 กลุ่ม ตลอดจนมีการเชื่อมโยงธุรกิจรายใหญ่(Big Brothers) ในการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานชุมชน ได้แก่ การสร้างลานตากเมล็ดกาแฟในพื้นที่หมู่บ้านผาแดง จังหวัดพะเยา การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตลาดหัวปลี จังหวัดสระบุรี เป็นต้น

                    (7) กระทรวงแรงงาน มีการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ มีอาชีพและกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 12,691 คน

              2.2 มาตรการที่ 2 : สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) มีการดำเนินงาน ดังนี้

                    (1) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการพัฒนาศักยภาพและบูรณาการความร่วมมือในเครือข่ายหน่วยงาน Center of Food Excellence (CoFE) เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยมีสถาบันอาหารเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งศูนย์บริการห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหารของสถาบันอาหาร ได้ดำเนินการบริการทดสอบด้านเคมี จำนวน 57,356 รายการ บริการทดสอบด้านจุลชีววิทยา จำนวน 15,165 รายการ บริการสอบเทียบ จำนวน 14,507 ตัวอย่าง และบริการทดสอบความชำนาญ จำนวน 4,293 ห้องปฏิบัติการ

                    (2) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีการสร้างนักวิจัยให้สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงที่สามารถกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) ได้ ในเรื่องสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมสารสำคัญในอาหารจากธรรมชาติเพื่อควบคุมภาวะความดันโลหิตและไขมันในเลือดสำหรับสังคมที่เข้าสู่ภาวะก่อนและสูงวัย การผลิตเพปไทด์ไฮโดรไลเซทจากรำข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ในโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) ระดับห้องปฏิบัติการ จำนวน 8 ต้นแบบ และระดับอุตสาหกรรม จำนวน 1 ต้นแบบ ได้รับอนุสิทธิบัตร (Petty Patent) จำนวน 8 เรื่อง และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Patent for Innovation) จำนวน 2 เรื่อง รวมทั้งได้กระบวนการใหม่ระดับห้องปฏิบัติการ จำนวน 1 กระบวนการ

                    นอกจากนี้ ได้จัดให้มีหน่วยงานในรูปศูนย์ให้บริการด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อให้บริการแบบครบวงจร ณ เมืองนวัตกรรมอาหาร ส่วนขยายที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัย โดยเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพอาหารและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ มีการให้บริการทดสอบแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกว่า 500 รายการ และห้องปฏิบัติการมีวิธีทดสอบใหม่ที่ได้มาตรฐานเพื่อใช้ทดสอบอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 12 เรื่อง 

                    (3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการวิจัยและพัฒนาอาหารดัชนีไกลซีมิกต่ำจากแป้งต้านทานการย่อย เพื่อผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำตาล จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ 

              2.3 มาตรการที่ 3 : สร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) มีการดำเนินงาน ดังนี้

                    (1) กระทรวงพาณิชย์ มีการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จำนวนทั้งสิ้น 1,603 กิจการ แบ่งเป็นผู้ประกอบการไทย จำนวน 722 กิจการ และผู้ประกอบการต่างชาติ จำนวน 881 กิจการ เกิดมูลค่าการเจรจาการค้า 66,169 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าระดับภูมิภาค ได้แก่ งาน THE NORTHERN PRODUCTS THAILAND 2022 ซึ่งมีผู้ประกอบการจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจำหน่ายสินค้าภายในงาน จำนวน 40 กิจการ เกิดมูลค่า การจำหน่าย 3,500,145 บาท และมียอดการเจรจาธุรกิจ จำนวน 48 คู่ มูลค่า 2,585,000 บาท และงาน Amazing Singburi เกิดมูลค่าการจำหน่าย 4,800,000 บาท เป็นต้น

                    (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม/สหกรณ์โคนม จำนวน 5 แห่ง แห่งละ 20 คน รวม 100 คน เพื่อให้สามารถเปิดร้านนมหน้าฟาร์มประจำชุมชนสำหรับจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากนมที่ผลิตได้ในชุมชน ตลอดจนมีการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าชุมชน จำนวน 90 คน

                    (3) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการพัฒนาชุมชนให้ได้มาตรฐานการท่องเที่ยว จำนวน 49 ชุมชน และนำชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้ว ไปเชื่อมตลาดการท่องเที่ยว จำนวน 26 ชุมชน ทำให้ได้เมนูท้องถิ่น เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เกิดเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คือ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร นอกจากนี้ มีการจัดงาน Amazing Thai Taste Festival – Amazing New Chapters @Petchaburi ทำให้เกิดเงินหมุนเวียน 15,215,740 บาท 

                    (4) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูล MSME Big Data ให้เป็นปัจจุบัน จำนวน 1 ฐานข้อมูล โดยสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.sme.go.th นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบให้บริการ SME Access โดยการเชื่อมโยง บูรณาการข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ SME ONE (ความร่วมมือจำนวน 59 หน่วยงาน มีผู้ใช้บริการ จำนวน 644,390 คน) SME Academy 365 (ระบบ E-Learning มีผู้ใช้บริการ จำนวน 10,423 คน) SME CONNEXT (แอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ) และ SME Coach (ให้คำปรึกษาออนไลน์ มีผู้ประกอบการได้รับคำปรึกษา จำนวน 1,017 คน)

                    (5) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชน จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งประดู่ หมู่บ้านรวมไทย และหมู่บ้านม้าร้อง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

              2.4 มาตรการที่ 4 : สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling)

                    (1) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ดังนี้

                          (1.1) การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สาขาอาหาร จำนวน 36 มาตรฐาน เช่น แป้งมันสำปะหลัง มอโนโซเดียม แอล-กลูทาเมต น้ำตาลไอซิง นมและผลิตภัณฑ์นม ไส้กรอกโบโลญญา ไส้กรอกแฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ ไส้กรอกเวียนนา ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืช ข้าวโพด ไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช และจุลชีวของห่วงโซ่อาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 255 ผลิตภัณฑ์ และการตรวจติดตาม จำนวน 32 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 97 คำขอ

                          (1.2) การส่งเสริมอ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพและผลผลิตสูง จำนวน 1,092,491 ต้นกล้า ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ผลผลิตตันต่อไร่ของเกษตรกรที่ใช้อ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 นอกจากนี้ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ในรูปแบบฟาร์มอ้อยอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Sugarcane Farm) นำร่อง ขนาดแปลงเล็ก กลาง และใหญ่ จำนวน 20.03 ไร่ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 299 คน มีความรู้ด้านการจัดการฟาร์มอ้อยอัจฉริยะ (Smart Farming) รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการใช้งานเว็บแอพพลิเคชั่นสนับสนุนการบริหารจัดการอ้อยแปลงใหญ่และการจัดทำแปลงสาธิตต้นแบบอัจฉริยะให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 50 คน และพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 39 คน ให้สามารถใช้งานและถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้าน Smart Farming ได้

                          (1.3) การพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 29 กลุ่ม เช่น คลัสเตอร์อาหารอนาคต กทม. ปริมณฑล คลัสเตอร์อาหารพร้อมทาน (TFF) กทม. ปริมณฑล คลัสเตอร์อาหารแปรรูป (TTT) กทม. ปริมณฑล คลัสเตอร์กาแฟ จังหวัดเชียงราย คลัสเตอร์ผลไม้แห่งขุนเขา จังหวัดพิษณุโลก คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูป จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และคลัสเตอร์สมุนไพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

                    (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการดำเนินการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อการส่งออก จำนวน 4,946 ตัวอย่าง และการตรวจสุขลักษณะโรงงาน โดยมีโรงงานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผ่านมาตรฐาน GMP จำนวน 318 กิจการ และผ่านมาตรฐาน HACCP จำนวน 315 กิจการ รวมทั้งมีการรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกร จำนวน 900 คน ครอบคลุมพื้นที่ 38 แปลง และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 40 ฟาร์ม นอกจากนี้ มีการตรวจติดตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 40 ฟาร์ม และการตรวจสถานรับซื้อและกระจายสินค้าสัตว์น้ำตามมาตรฐานสุขอนามัย จำนวน 35 ร้าน 

                    ในส่วนร้านอาหารมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ/อุตสาหกรรมอาหารใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผ่านการรับรองร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) โดยมีร้านอาหารทั้งร้านใหม่และร้านเดิมที่ตรวจต่ออายุการรับรอง ผ่านการรับรอง จำนวน 3,153 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารในระดับต่างๆ ผ่านการพัฒนาและขยายผลระบบตามสอบสินค้าเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 538 คน และมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จำนวน 40 แปลง

                    (3) กระทรวงการคลัง มีการจัดทำโครงการต่อยอด New Gen, Smart Farmer, Young Farmer เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจร่วมกับเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งมีผู้ได้รับการพัฒนาร่วมกับเครือข่าย จำนวน 300 คน

                    (4) กระทรวงมหาดไทย มีการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge-Based OTOP) จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วยผู้ผลิตและประกอบการ OTOP จำนวน 47 คน 20 ผลิตภัณฑ์

                    (5) กระทรวงแรงงาน มีการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของโครงการ) ภายใต้โครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานด้านท่องเที่ยวและบริการ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน โครงการเสริมสร้างสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 และโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าสูง โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 4,444 คน

                    (6) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 26 โครงการ มูลค่า 1,412 ล้านบาท การส่งเสริมการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 6 โครงการ มูลค่า 195 ล้านบาท การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 2 กิจการ มูลค่า 299 ล้านบาท การส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงงานผลิตพืช จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 129 ล้านบาท การส่งเสริมการลงทุนในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 254 ล้านบาท และการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 385 ล้านบาท 

                    (7) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ต้นแบบธุรกิจอาหารแปรรูป จำนวน 75 กิจการ ในเขตพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน ลำปาง และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ มีการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยสู่การเป็น Formulization รองรับการประกอบการในยุค Next Normal ด้านมาตรฐานสินค้า จำนวน 212 กิจการ และเข้าสู่ระบบของภาครัฐ จำนวน 25 กิจการ 

          3. ผลการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) 

              กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้จัดการประชุมทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานร่วมดำเนินการ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม 601 ชั้น 6 อาคาร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 50 คน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 17 หน่วยงาน 44 คน และหน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 4 หน่วยงาน 6 คน ซึ่งผลจากการทบทวนแผนปฏิบัติการฯ ขอสรุปประเด็นปัญหาและการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป ดังนี้

              3.1 ประเด็นปัญหา

                    (1) โรคระบาดและภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตของสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลงส่งผลต่อระดับราคาของวัตถุดิบและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 

                    (2) การทำเกษตรของไทย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรแปลงเล็ก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือหากมีการรวมแปลงก็ไม่สามารถนำเครื่องจักรของเกษตรแปลงใหญ่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                    (3) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศ แต่ยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารอนาคต ซึ่งยังต้องพึ่งพิง Functional Ingredients ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากลจากต่างประเทศ มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต

                    (4) ภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาไม่สูงมาก เช่น สับปะรดกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

                    (5) การขาดแคลนแรงงานในกระบวนการผลิตอาหารแปรรูป

                    (6) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาในเรื่องการออกประกาศเกี่ยวกับการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารของประเทศ ควบคู่กับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตอาหารอนาคต

                    (7) ทิศทางอาหารอนาคตในปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด เช่น สินค้าเกษตรผลสด (เกรดคุณภาพเยี่ยม) รวมถึงอาหารที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยในกระบวนการหมักเพื่อให้เกิด Probiotics จะได้แอลกอฮอล์ ซึ่งยังติดข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกกฎหมาย 

                    (8) การจัดประเภทอาหารอนาคตโดยใช้พิกัดศุลกากรในปัจจุบัน ยังไม่ชัดเจน มีเพียงอาหารอินทรีย์ที่สามารถใช้พิกัดศุลกากรได้ 

                    (9) ห้องปฏิบัติการทดสอบอาหารในส่วนภูมิภาคยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะให้บริการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง

              3.2 การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป

                    กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำกับการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูง ส่งผลให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่สากลตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลปัจจุบัน ขณะที่ยังให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอาหารกลุ่มโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารพื้นฐานและเป็นสินค้าสำคัญในการส่งออกของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็น 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกอาหารโลกได้ภายในปี พ.ศ. 2570

                    สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป มีดังนี้ 

                    (1) อาหารโภคภัณฑ์ 

                          (1.1) ควรมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดทำแผนจัดการภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทย รวมถึงสามารถรักษาเสถียรภาพราคาของผลผลิตทางการเกษตรได้ 

                          (1.2) ควรมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่การเกษตร (Zoning) ให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีความสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งหากมีการทำโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรที่ดี การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยทดแทนแรงงานคนได้ เช่น การให้เช่าใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยผู้ให้บริการมีการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ตลอดจนการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ใช้กับผู้ผลิตเครื่องจักรในประเทศไทย ทั้งนี้ สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีราคาสูง ควรพิจารณามาตรการจูงใจเกษตรกรในการผ่อนชำระได้เหมือนรถยนต์ โดยใช้เครื่องจักรค้ำประกัน

                          (1.3) ควรมีการปรับปรุงสายพันธุ์พืช เช่น สับปะรด เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนต่อโรคและแมลงได้ดี โดยมีแผนการปรับปรุงสายพันธุ์อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี 

                          (1.4) ควรมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) เช่น เครื่องสำหรับเจาะ/จิกตาสับปะรด ปัจจุบันใช้แรงงานคน สามารถเจาะตาได้ 7 ลูก/นาที หากใช้เครื่องจักรจะสามารถทำได้ถึง 60 ลูก/นาที เป็นต้น

                          (1.5) ควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาในการยืดอายุสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียนผลสด ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสามารถกระจายไปต่างประเทศได้ระยะทางที่ไกลขึ้น และเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าในปัจจุบัน

                    (2) อาหารอนาคต

                          (2.1) ควรเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจำกัดนิยามความหมายของอาหารอนาคต และกำหนดพิกัดศุลกากรให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป

                          (2.2) ควรให้ความสำคัญกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และมีการเจรจาต่อรองกับประเทศที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ตลอดจนมีการทบทวนโควตาอัตราภาษี (Tariff Rate Quota: TRQ) การนำเข้าสินค้าเกษตรตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ

                          (2.3) ควรเร่งให้มีการพิจารณาออกประกาศเกี่ยวกับการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) เพื่อผู้ประกอบการจะได้นำไปใช้อ้างอิงในการจำหน่ายสินค้า และลดต้นทุนในเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับผลทางสุขภาพ

                          (2.4) ควรพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบอาหารในส่วนภูมิภาคให้มีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างครอบคลุมทุกรายการตามที่ตลาดต้องการ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 24 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10778

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!