WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปิงบประมาณ พ.ศ. 2565

Gov 22

รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปิงบประมาณ พ.ศ. 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ 

          สาระสำคัญ

          รง. รายงานว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 จึงเป็นผลให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (22 ตุลาคม 2562) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติต เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมทั้งนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี โดย รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็กองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) ร่วมจัดประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็ก ครั้งที่ 5 (5th Global Conference On The Elimination Of Child Labour) ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2565 ณ เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการ Durban Call to Action on the Elimination of Child Labour เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ เป้าหมายที่ 8.7 ในการดำเนินการโดยทันทีและมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดภายในปี 2568 ซึ่งจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าของคนทำงานและเยาวชน การยุติการใช้แรงงานเด็กในภาคการเกษตร การป้องกันและขจัดการใช้แรงงาน เด็ก รวมทั้งแรงงานบังคับ แรงงานทาสยุคใหม่2 และการค้ามนุษย์ การตระหนักถึงสิทธิของเด็กในการศึกษา การเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมโดยถ้วนหน้า และการเพิ่มเงินทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน

          2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย จากการประมวลผลข้อมูลโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประขากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า เด็กที่มีอายุ 15-17 ปี (ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์) มีจำนวน 2.542 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน จำนวน 131,338 คน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ทำงานอย่างเดียว โดยไม่ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในกิจการขายส่ง ขายปลีก กิจการโรงแรมและบริการอาหาร การผลิตและการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ตามลำดับ

          3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 พบว่า มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 948 คน (ลดลงจากปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 3,222 คน) โดยเป็นการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมากที่สุด จำนวน 860 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 76 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 12 คน

          4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก ตามรายงานสถานการณ์ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ประจำปี 2564 ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมีผลการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในระดับปานกลาง (เช่นเดียวกับปี 2563) ซึ่งในรายงานระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งเป็นผลจากการค้ามนุษย์ รวมถึงกรณีเด็กที่มีอายุไม่ถึง 12 ปี ขึ้นชกมวยไทยซึ่งเป็นงานอันตราย ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องอายุขั้นต่ำสุดในการทำงาน เพราะกฎหมายไม่ให้การคุ้มครองเด็กที่ทำงานนอกระบบหรือที่ไม่มีการจ้างงานอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานเด็กยังคงเป็นปัญหาท้าทาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอในการตรวจสถานที่ทำงานในภาคแรงงานนอกระบบหรือที่อยู่ห่างไกลได้อย่างแท้จริง

          5. การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย สรุปได้ ดังนี้

               (1) การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนและฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อการมีงานทำ มีนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องติดตาม จำนวน 67,129 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565) การติดตามแล้วพบตัว จำนวน 52,760 คน กลับเข้าสู่ระบบ จำนวน 31,446 คน ไม่กลับเข้าสู่ระบบ จำนวน 21,314 คน จัดการเรียนการสอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล จำนวน 222 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนเข้ารับการศึกษา รวมทั้งสิ้น 27,245 คน ฝึกอบรมเยาวชนด้านทักษะอาชีพ ทักษะการเกษตรในโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ 27 จังหวัด มีเยาวชนที่ได้รับการอบรมฯ จำนวน 11,800 คน ตรวจสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์แรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินโครงการนิเทศกีฬามวยตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้บุคลากรในวงการกีฬามวย

               (2) การช่วยเหลือ คุ้มครอง และบำบัดฟื้นฟูเด็กที่ถูกใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น ตรวจประเมินอายุเด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง หรือตรวจอายุกรณีที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเพื่อลดโอกาสการจ้างแรงงานที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ ดำเนินโครงการคลินิกจิตสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดและการกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยให้คำปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน และผู้ปกครอง จำนวน 227 คน บำบัดรักษา ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 98 แห่ง

               (3) การบูรณาการพัฒนาระบบและกลไกการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการสื่อสารสาธารณะ เช่น ตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามกรอบแนวทางของสถานประกอบกิจการภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 แต่งตั้งคณะนุกรรมการบูรณาการและพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง ระบบฐานข้อมูลของประเทศไทย ด้านการดำเนินคดีและการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จัดฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงานในรูปแบบความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (Non Governmental Organizations: NGOs) ภายใต้โครงการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ (ATLAS Project) ยกระดับและติดตามการบังคับใช้กฎหมายทีมสหวิชาชีพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคประมงและภาคบนบก

          6. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้

               (1) สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายตามแนวทางแผนปฏิบัติการ “Durban Call to Action on the Elimination Child Labour” เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8.7 ในการขจัดแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ โดยส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าของคนทำงานและเยาวชน สนับสนุนทรัพยากรในการตรวจแรงงานภาคนอกระบบและภาคเกษตรกรรม ส่งสริมและสนับสนุนแผนงานโครงการของหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อร่วมกันดำเนินงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ลดอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษา และส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้โดยง่าย

               (2) ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านกรอบนโยบาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้บรรลุผล เช่น ผลักดันการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. ในการกำหนดอายุขั้นต่ำและความปลอดภัยในการทำงานของเด็ก ปรับปรุงแก้ใขร่างระเบียบและกติกาตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 กรณีมวยเด็ก และผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ พัฒนาระบบบูรณาการฐานข้อมูลด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นการเฉพาะร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนคดี การดำเนินคดี และการลงโทษผู้กระทำความผิดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างเป็นระบบ

               (3) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และมีการติดตามประเมินผลให้บรรลุผลควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนระดับต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

               (4) สนับสนุนทรัพยากรในการวิจัยและสำรวจข้อมูลการคุ้มครองทางสังคมต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องนุ่งห่ม การทำงานบ้านและงานก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า มีโครงการด้านสังคมอย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในกลุ่มต่างๆ ข้างต้น เนื่องจากเป็นกิจการที่มีโอกาสใช้แรงงานเด็กและเข้าถึงได้ยาก

               (5) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานความร่วมมือในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การส่งต่อช่วยเหลือและจับกุมผู้กระทำความผิด

___________________________________

1การประสานงานได้รับแจ้งว่า รง. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายชุดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เรื่อง คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี

2หมายถึง การที่บุคคลตกอยู่ในการแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น ถูกควบคุม โดยไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะถูกคุกคามมีการใช้ความรุนแรง หรือถูกล่อลวง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

11021

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!