WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

Gov 23

การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

          1. เห็นชอบต่อร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

          2. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในร่างความตกลงฯ ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้แทนดังกล่าวลงนามในร่างความตกลงฯ

          3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ

          4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารของความตกลงฯ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือแจ้งยืนยันมายังกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า ได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศที่จำเป็นสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ เสร็จสิ้นแล้ว

          5. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารของความตกลงฯ ให้กับผู้เก็บรักษา (Depositary) ความตกลงฯ

          ทั้งนี้ ประเทศหุ้นส่วนของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ได้สรุปผลการเจรจาร่างความตกลงฯ แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะลงนามร่างความตกลงฯ ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

          สาระสำคัญ

          1. ประเทศหุ้นส่วน IPEF ประกอบด้วย เครือรัฐออสเตรเลีย บรูไนดารุสชาลาม ฟิจิ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ร่วมเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้ง 4 เสาความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า เสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้เจรจาจัดทำร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อร่วมลงนามก่อนที่จะดำเนินการให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งจะเป็นความตกลงภายใต้กรอบ IPEF ฉบับแรกที่เสร็จสมบูรณ์

          2. ร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการจัดทำนโยบายทางการค้าและการลงทุนอย่างครอบคลุมในห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมบทบาทของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการรับมือกับวิกฤติต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ลดการบิดเบือนกลไกตลาด และสนับสนุนความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การลงทุน วิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยง เป็นต้น

          3. ร่างความตกลงฯ ประกอบด้วยข้อบทที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) การประสานความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (2) การดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (3) การส่งเสริมความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ (4) การดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ได้แก่ การเสริมสร้างบทบาทแรงงาน การแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิแรงงานของประเทศนั้นในสถานที่ทำงานเฉพาะแห่ง (5) การจัดตั้งกลไกเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ Supply Chain Council, Supply Chain Crisis Response Network และ Labor Rights Advisory Board (6) การกำหนดสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญหรือสินค้าหลัก (7) การติดตามและแก้ไขปัญหาจุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และ (8) การรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

          4. ร่างความตกลงฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่จะทำให้เกิดพันธกรณีที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อปฏิบัติตามความตกลงฯ รวมถึงไม่มีการใช้บังคับกลไกระงับข้อพิพาท และเป็นหนังสือสัญญาซึ่งมีขั้นตอนการลงนามและขั้นตอนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (consent to be bound) แยกออกจากกัน โดยข้อบทที่ 21 ของร่างความตกลงฯ กำหนดให้ประเทศหุ้นส่วน IPEF ที่ลงนามแล้วให้สัตยาบันแสดงการยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าว ซึ่งความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ 30 วันหลังจากวันที่ประเทศหุ้นส่วน IPEF ให้สัตยาบันอย่างน้อย 5 ประเทศ 

          ประโยชน์และผลกระทบ

          1. การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศหุ้นส่วน IPEF อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาค ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่สำคัญ และยังส่งเสริมการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบและวัตถุดิบทดแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก รวมทั้งสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาบทบาทและศักยภาพแรงงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน

          2. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานภายใต้ IPEF และเห็นว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากเสาความร่วมมือที่ 2 ในการเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน การดึงดูดการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญหรือสินค้าหลัก และเป็นช่องทางสำหรับความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

11295

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!