WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Gov 18

ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารในข้อ 2 และ 3 จำนวน 18 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารในข้อ 2 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารในข้อ 2.13 พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างเอกสารในข้อ 3 และให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย สำหรับการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนตามที่กระทรวงคมนาคม (กค.) เสนอ 

          สาระสำคัญของร่างเอกสาร

          1. กระทรวงคมนาคมข้อเสนอร่างผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะรัฐมนตรี รวม 18 ฉบับ โดยแบ่งเป็นเอกสารที่รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจะร่วมกันรับรอง (adopt) จำนวน 17 ฉบับ และเอกสารที่รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ

          2. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ได้แก่

              2.1 ร่างแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (The Guidelines on Smart Ports) เป็นการกำหนดแนวทางการประเมินท่าเรือโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพท่าเรืออัจฉริยะ และดัชนีความพร้อมด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของท่าเรือ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในอนาคต โดยการจัดทำร่างแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคผ่านความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น

              2.2 ร่างข้อเสนอแนะเรื่อง การอำนวยความสะดวกการผลัดเปลี่ยนและส่งลูกเรือกลับสู่ภูมิลำเนา (Recommendations to Ensure Continuity of Port Terminal Operations during Crisis and Recommendations on Measures Pertaining to Issues on Crew Change and Repatriation during Crisis) เป็นการรวบรวมแนวทางปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการรับมือกับปัญหาและอุปสรรคด้านการเปลี่ยนถ่ายคนประจำเรือ และการรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจท่าเรือเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารแนวทางการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งที่ประสุดยอดอาเซียนได้ให้การรับรองเมื่อปี 2563

              2.3 ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน (Policy Recommendations to Improve Electric Vehicle (EV) Infrastructure and Charging Stations in ASEAN) เป็นการรายงานข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายเพื่อผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานระดับสากลและส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystems) ยานยนตไฟฟ้าแบบบูรณาการในอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนการศึกษาผ่านแผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-สหรัฐฯ ภายใต้โครงการด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)

              2.4 ร่างเอกสารแนวทางการประเมินด้านความสามารถ/ประสิทธิภาพของท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ในภูมิภาคอาเซียน (Guideline for Evaluation Capacity/Performance of Container Terminals in the ASEAN Region) เป็นการนำเสนอแนวทางการประเมินและกำหนดตัวขี้วัดความสามารถ/ประสิทธิภาพของท่าเทียบเรือตู้สินค้าในอาเซียน และระบุแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของท่าเทียบเรือฯ ให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในเวทีโลก

              2.5 ร่างรายงานฉนับสมบูรณ์เรื่อง การพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางน้ำ ปี 2563-2564 (Completion Report of the Development of VTS Operator’s Capacity Programme (2020-2021)) เป็นการนำเสนอรายงานผลการฝึกอบรมบุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางน้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ และป้องกันมลพิษทางทะเลที่เกิดจากการชนกันของเรือในทะเล ตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมประภาคารและเครื่องหมายทางเรือระหว่างประเทศ โดยการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้กองทุนเพื่อการรวมกลุ่มระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น

              2.6 ร่างผลการศึกษาเรื่อง การจัดทำร่างยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการขนส่งอัจฉริยะ (Building a Comprehensive Strategy for ASEAN Smart Mobility) เป็นแนวทางการกำหนด กลยุทธ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งในเมืองที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยนำระบบดิจิทัลและเทคนโลยีอัจฉริยะเข้ามาปรับใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งในภูมิภาค โดยการจัดทำร่างยุทธศาสตร์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

              2.7 ร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่ครอบคลุมเพื่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (Joint Declaration on Comprehensive Cooperation for Smart Mobility between Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the Republic of Korea (ROK)) เป็นการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมการคมนาคม การสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการด้านการเดินทางและขนส่ง การส่งเสริมความก้าวหน้าและประสิทธิภาพระบบขนส่งอัจฉริยะ การสนับสนุนและปรับปรุงการให้บริการการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการเดินทางและขนส่ง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเวทีความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

              2.8 ร่างแผนปฏิบัติการหลวงพระบางภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น (The Luang Prabang Action Plan under the ASEAN-Japan Transport Partnership (AJTP)) เป็นการกำหนดขอบเขตการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2567-2576) ครอบคลุมนโยบายด้าน (1) ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (2) การเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน (3) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการขนส่งที่ยั่งยืน (4) การขนส่งที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย และ (5) การขนส่งที่ปลอดภัยและมั่นคง

              2.9 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 (The Twenty-Ninth ASEAN Transport Ministers Meeting (29th ATM) Joint Ministerial Statement) เป็นการรับรองแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการการจราจรทางอากาศ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 การรับรองพิธีสาร 3 ว่าด้วยความสามารถในการกำกับดูแลความปลอดภัยขององค์การบริหารการบินแห่งชาติของข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน การรับรองรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการและการมีผลบังคับใช้ของกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งฉบับต่างๆ ของอาเซียน การรับรองแนวทางท่าเรืออัจฉริยะ การรับรองร่างข้อเสนอแนะเรื่อง การผลัดเปลี่ยนและส่งลูกเรือกลับสู่ภูมิลำเนา ความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอมริกา จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

              2.10 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจีน ครั้งที่ 22 (The Twenty-Second ASEAN-China Transport Ministers Meeting (22rd ATM+China) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อกิจกรรม/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงปี 2566 อาทิ การฝึกอบรมระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยในการเดินเรือเฟอร์รี่ ครั้งที่ 2 การสัมมนาว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางน้ำระหว่างจีน-อินโดนีเซีย โครงการฝึกอบรมขั้นสูงว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน และความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ปี 2564-2568

              2.11 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 21 (The Twenty-First ASEAN-Japan Transport Ministers Meeting (21st ATM+Japan) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี มิตรภาพอาเซียน-ญี่ปุ่น และครบรอบ 20 ปี ของแผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2566 การให้การรับรองผลลัพธ์การดำเนินโครงการต่างๆ ในปี 2565-2566 การให้การรับรองแผนปฏิบัติการหลวงพระบาง การให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการใหม่ที่จะดำเนินการในปี 2566-2567 และความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศในภูมิภาคระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น

              2.12 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 14 (The Fourteenth ASEAN and Republic of Korea Transport Ministers Meeting (14th ASEAN+ROK) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จของโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ปี 2564-2568 ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ ผลการศึกษาเรื่อง การจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการขนส่งอัจฉริยะ และความคืบหน้าการจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

              2.13 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมร่วมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสาขาการขนส่ง-สาขาการท่องเที่ยว (Interface Meeting between ASEAN Tourism Ministers and ASEAN Transport Ministers Joint Ministerial Statement) เป็นการเสริมสร้างให้มีการดำเนินความร่วมมือระหว่างสาขาการขนส่งและสาขาการท่องเที่ยวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก ผ่านรูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และมรดกของประเทศสมาชิกอาเซียน การใช้ประโยชน์จากช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดของทั้งสองสาขา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างองค์การท่องเที่ยวแห่งอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน

              2.14 ร่างรายงานฉนับสมบูรณ์เรื่อง โครงการฝึกอบรมระบบนำร่องเดินอากาศในอาเซียน (Final Draft - Project Report on the GNSS Implementation Plan Training in ASEAN (GIPTA)) เป็นการรายงานผลการฝึกอบรมบุคลากรในหน่วยปฏิบัติงานการนำร่องเดินอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือภายใต้กองทุนเพื่อการรวมกลุ่มระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการใช้ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อการลงทุน

              2.15 ร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการบินที่ยั่งยืน (ASEAN Sustainable Aviation Action Plan: ASAAP) เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะ 10 ปี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมการบินอาเซียนให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รองรับการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียน ปีละ 1 ครั้ง

              2.16 ร่างแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการจราจรทางอากาศ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 (ASEAN Air Navigation Service Master Plan, Third Edition) เป็นการปรับปรุงข้อกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการจราจรทางอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยในห้วงอากาศอาเซียน

              2.17 ร่างพิธีสาร 3 ว่าด้วยความสามารถในการกำกับดูแลความปลอดภัยขององค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Protocol 3 Safety Oversight Capabilities for National Aviation Administration) เป็นเอกสารแนบท้ายข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Flight Crew Licensing: MRA-FCL) โดยการกำหนดคุณสมบัติขององค์การการบริหารการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำกับดูแลความปลอดภัยการบิน สำหรับการดำเนินการเพื่อการออกใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน (นักบิน) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน และสอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

          3. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Development of ASEAN Highway Network) เป็นการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน ซึ่งลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ให้มีข้อมูลโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่เป็นปัจจุบัน การกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์การออกแบบทางหลวง ระบบหมายเลข และมาตรฐานป้ายบอกทางบนทางหลวงอาเซียนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และกำหนดขอบเขตความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่มีความปลอดภัย และส่งเสริมความคล่องตัวในเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ประเทศสมาชิกมีการลงนามครบทั้งสิบประเทศ 

          4. ประโยชน์และผลกระทบ

              ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวข้างต้น เป็นเอกสารแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งให้เป็นมาตรฐานสากลทั้งด้านการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน ปี 2559-2568 และเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้การรับรอง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก่อนปี 2608

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

11298

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!