WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ

Gov 32

มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ

           คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้ 

           1. เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

           2. รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน (คณะกรรมการฯ) 

           สาระสำคัญของเรื่อง 

           1. เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 (ฝุ่น PM2.5) โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ1กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับในช่วงต้นปีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน ซึ่งในปี 2566 สถานการณ์มลพิษจากฝุ่นละอองมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่โดยจะรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน2 และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ และสังคม ทส. จึงจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และเสนอให้มีกลไกการบริหารจัดการ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ภายใต้กรอบแนวคิด ดังนี้ (1) การกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก (2) สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ (3) จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสั่งการลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร (4) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน (5) ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี และ (6) ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด และต่อเนื่อง เพื่อให้ส่วนราชการได้นำมาตรการดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งเวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

           2. มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

รายละเอียด

(1) พื้นที่เป้าหมายและเป้าหมาย

     (1.1) พื้นที่เป้าหมายหลัก

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายการเผาไหม้ในพื้นที่ป่า (ป่าอนุรักษ์ 10 พื้นที่ และป่าสงวนแห่งชาติ 10 พื้นที่) ลดลงร้อยละ 50 และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลดลงร้อยละ 50

     (1.2) พื้นที่เป้าหมายรอง

พื้นที่อื่น โดยมีเป้าหมายการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอื่น (นอกเหนือจากป่าอนุรักษ์ 10 พื้นที่และป่าสงวนแห่งชาติ 10 พื้นที่ข้างต้น) ลดลงร้อยละ 20 และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ลดลงร้อยละ 10 และควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เมือง

(2) ผลลัพธ์คุณภาพอากาศ

     ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 และจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานลดลง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

พื้นที่เป้าหมาย

ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 

ลดลงร้อยละ

จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 

เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ

17 จังหวัดภาคเหนือ

40

30

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

20

5

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

10

5

ภาคกลาง

20

10

 

(3) การปฏิบัติการ 
     (3.1) ระยะเตรียมการ

● กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับวิกฤต (เกิน 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรงมหาดไทย (มท.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ สธ.

● แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้ทั่วถึงและทันท่วงที รวมทั้งจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น หน้ากากอนามัย ยารักษาโรค และมีการสื่อสารเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ทส. มท. สธ. และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

● ดำเนินการสื่อสารเชิงรุกอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐโดยเฉพาะการไม่เผาป่า ไม่เผาพื้นที่เกษตร ความตระหนักในภัย และความเสียหายจากการเผา

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : องค์กรสื่อมวลชน

● การจัดการไฟในป่า เช่น เตรียมความพร้อมในพื้นที่เป้าหมายหลักที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาซ้ำซาก โดยใช้กลยุทธ์การตรึงพื้นที่ สร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า และจัดเตรียมน้ำเพื่อการดับไฟป่า เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ทส.

● การจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ให้ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดกำหนดแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ ส่งเสริมเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่ไร่อ้อยและนาข้าว ไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)

● ควบคุมฝุ่นละอองในเขตมือง เช่น ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ (Euro 5)3 มาจำหน่ายในราคาเท่ากับน้ำมันดีเซล แจ้งให้ผู้ประกอบการควบคุมการผลิตและตรวจสอบการทำงานระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : พน. และ อก.

● การสนับสนุนและการลงทุน เช่น ออกมาตรการเพื่อให้สิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจกับภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

     (3.2) ระยะเผชิญเหตุ

● การจัดการไฟในป่า เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการสถานการณ์ไฟป่าระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ควบคุมการเข้าป่า เพิ่มมาตรการควบคุมเมื่อสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤตหรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรง เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ทส.

● การจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ (ระดับอำเภอ) ในการเฝ้าระวัง ออกตรวจ ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุ ให้บริหารจัดการไฟ ตามข้อตกลงในบัญชีรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ หากเกษตรกรต้องการเผาให้ขออนุญาตฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการเผา โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไข และประมวลผลผ่านระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิง (BurnCheck)4 เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กษ. และ มท.

● การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง เช่น ตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีอย่างเข้มงวด เพิ่มจุดตรวจสอบและจุดตรวจจับควันดำให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤต ตรวจกำกับโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่นละออง เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงคมนาคม (คค.) และ อก.

● จัดตั้งศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC) ในทุกระดับ5

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : มท. สธ. และ กทม.

     (3.3) ระยะบรรเทา

กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการยกระดับคุณภาพอากาศ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ทส. และ สธ.

     (3.4) มาตรการการบริหารจัดการในภาพรวม

● พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเรื่องการห้ามเผากับมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กษ.

● การจัดการหมอกควันข้ามแดน เช่น เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส6 (CLEAR Sky Strategy) และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับ PM2.5 ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพิ่มเงื่อนไขการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ในการพิจารณานำเข้า - ส่งออกสินค้า รวมทั้งเร่งจัดทำระบบ Big Data ที่บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านคุณภาพอากาศ และเร่งรัดการนำเข้ากฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี [คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤศจิกายน 2566) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดแล้ว]

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทส. และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

(4) กลไกการบริหารจัดการ 

     (4.1) แต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการระดับชาติ โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานหลัก

     (4.2) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และ ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเชื่อมโยงนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่

(5) การป้องกันและเผชิญเหตุ 
     ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองปี 2567 ทส. จำเป็นต้องดำเนินโครงการยกระดับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ ..2567 และ 2) โครงการจัดหาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแบบครบวงจร โดยจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในโอกาสต่อไป 

 

           3. นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 27 คน โดยมีพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ เช่น (1) เสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 (2) เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ มอบหมาย ควบคุม กำกับ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเป็นหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม เป็นต้น

           4. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 

มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละอองแล้ว โดยมอบหมายให้ ทส. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

________­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­____________________

1 จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี

2กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในช่วงต้นปี 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศกว่า 1.7 ล้านราย 

3เนื่องจากการประกาศบังคับใช้มาตรฐานน้ำมัน Euro 5 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 แต่เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มสูงและรุนแรงขึ้น จึงขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน ให้นำน้ำมัน Euro 5 มาจำหน่ายก่อนกำหนด และขอให้จำหน่ายในราคาเท่ากับน้ำมันดีเซล (ปกติน้ำมัน Euro 5 จะราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท)

4จังหวัดจะมีการลงทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อกำหนดช่วงเวลาการเผาของเกษตรกร ไม่ให้มีการเผาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเกษตรกรจะต้องขออนุญาตเผาและลงทะเบียนในระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิง (BurnCheck) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและกำหนดช่วงเวลาเผาดังกล่าว 

5จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเมื่อสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM2.5 เข้าสู่สภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดการสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับจังหวัด มีสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ 2. ระดับเขตสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ 3. ระดับกรม มีอธิบดีกรมที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ 4. ระดับกระทรวง มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

6 เป็นยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านความร่วมมือจาก 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566

 

 

12594

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

SME 720x100 66QIC 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

iconmotor

gen 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!