WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)

Gov 23

รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้ 

          1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) 

          2. รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในระยะต่อไป

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามและรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อคณะรัฐมนตรี ขอรายงานสรุปความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2566 และแนวทางการขับเคลื่อน การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในระยะต่อไป ดังนี้

          1. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้

          มาตรการที่ 1 ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

              1) ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น Wafer Fabrication, Micro Electronics, Power Electronics และ Communication Electronics

              2) ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต เช่น IC Packaging ไปสู่ IC Design และ PCB ไปสู่ High Density PCB, Flexible PCB และ Multi-Layer PCB เป็นต้น

              3) สร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics

              4) สร้างและยกระดับบุคลากรให้เป็น Smart Developer (SD)

          มาตรการที่ 2 : กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

              1) สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการไทย ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานมาตรฐานของไทยเป็นผู้กำหนดขึ้น

              2) กระตุ้นอุปสงค์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็น Smart Home & Smart Appliance, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และ EV

          มาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

              1) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Eco-system ให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น IoT Platform, Cloud System, Data Center, Data Security, 5G และ Connectivity Teachnology เป็นต้น

              2) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) เช่น ด้าน IC/Circuit/PCB Design และ Micro/Nanotechnology Design เป็นต้น

              3) ยกระดับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรฐาน และการทดสอบด้าน Smart Electronics

              4) ส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การจัดเก็บ รวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

          2. ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2566

          กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปความคืบหน้าในการดำเนินการได้ ดังนี้

              2.1 มาตรการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีการดำเนินการ ดังนี้

                   1) การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมเพื่อขอยกเว้นเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 จากมูลค่าการลงทุน จำนวน 98 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 108,266.8 ล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)

                   2) การสร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics ให้มีความรู้และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการดำเนินการของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund หรือ TED Fund) โดยมีการบูรณาการหน่วยงานให้ทุนสนับสนุน (Funding Agency) หน่วยบ่มเพาะ (Incubator & Accelerator) และนักลงทุน (Investor) ในการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ Startup โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการอยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุนทั้งสิ้น 16 ราย (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

                   3) การยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต โดยมีการดำเนินการโครงการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund; SF) ประเภทโครงการนวัตกรรม ระดับอุตสาหกรรม (Industrial Prototype) ในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Microelectronics) และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์วงจรรวมในระดับอุตสาหกรรม จำนวน 7 ราย (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)

              2.2 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศและต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้

                   1) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูป ให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มีการพัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data platform) ด้านการเกษตร มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 300 ราย เกิดรายได้เป็นมูลค่ากว่า 450 ล้านบาท (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

                   2) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยการจัดทำกิจกรรมแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยี Smart Farm และ IoTs มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชของกรมวิชาการเกษตร มีแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 6 แปลง ได้แก่ ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว มันสำปะหลัง และลำไย (กรมวิชาการเกษตร)

                   3) โครงการยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับสถานประกอบการให้สามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Smart Electronics จำนวน 5 กิจการ ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานเฉลี่ยร้อยละ 24.5 และสามารถลดปริมาณ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 552.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

                   4) การวิจัยพัฒนาต้นแบบ Smart Sensor สำหรับ Safety Home/Safety Workplace ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบเซนเซอร์แบบกระจายอย่างง่าย สำหรับการเฝ้าติดตาม และแจ้งเตือนคุณภาพอากาศในพื้นที่ปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์” รวมถึงมีการเผยแพร่ในบทความวิชาการ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ)

                   5) การจัดงานแสดงสินค้า “TAPA 2023” ภายใต้แนวคิด “Sustainable for The Future” ระหว่างวันที่ 5-8 เมษายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)

              2.3 มาตรการสร้างและพัฒนา Ecosystem สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยการพัฒนาบุคลากร ระบบ และโครงสร้างพื้นฐาน มีการดำเนินงาน ดังนี้

                   1) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Ecosystem เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้

                       1.1) การดำเนินการยก (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการ ฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก่อนนำเข้าเสนอคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพแรงงานแห่งชาติ (กระทรวงแรงงาน)

                       1.2) โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ มีการจัดกิจกรรมดิจิทัลประเทศไทยเพื่ออนาคต พ.ศ. 2566-2570 (Digital Thailand for Future 2023-2027) โดยมีศูนย์วิเคราะห์ทดสอบรับรองมาตรฐาน สร้างนวัตกรรมดิจิทัลด้านเทคโนโลยี 5G จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนในการดำเนินการร่วมกับรัฐ 15 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

                       1.3) การจัดทำ Industrial Data Analytic and Collaboration Platform ประกอบด้วยฐานข้อมูลผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงเป็น Collaboration Platform เชื่อมโยงระบบนิเวศน์เชิงธุรกิจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงยกระดับเป็น Smart Factory ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

                       1.4) โครงการพัฒนาศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการตลาด ข้อมูลเทคโนโลยี ตลอดจนรายงานบทวิเคราะห์ และบทวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ และพัฒนาต่อยอดในการดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนการพัฒนานโยบายของประเทศต่อไป (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

                   2) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) รวมทั้งส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่ม Productivity ให้กับอุตสาหกรรมไทย ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้

                       2.1) โครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ (Thailand Digital Valley) เพื่อเป็นศูนย์กลางการออกแบบนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบนวัตกรรมบริการทางธุรกิจ การออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมดิจิทัล รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีเอกลักษณ์ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้กับประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยและภูมิภาค โดยใช้พื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว ร้อยละ 9.04 ของแผนการจัดตั้ง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

                       2.2) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและการวิเคราะห์ทดสอบวงจรรวมและเซนเซอร์ เพื่อพัฒนาต้นแบบวงจรรวมในระดับวงจรไฟฟ้า มีระบบครุภัณฑ์สำหรับห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และทดสอบวงจรรวมและเซนเซอร์ มีหลักสูตรการออกแบบวงจรรวมแบบออนไลน์ รวมทั้งมีเครือข่ายผู้ออกแบบวงจรรวม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อให้ความเห็นในการดำเนินงานและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)

                       2.3) ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ฐานข้อมูลด้านกำลังคน ความเชี่ยวชาญ หน่วยงาน และครุภัณฑ์ ทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ รวมทั้งเครือข่ายภาคเอกชนและต่างประเทศ ตลอดจนมีการพัฒนากำลังคน (Workforce) ที่เกี่ยวข้องกับด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)

                   3) การยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 4 มาตรฐาน (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)

                       3.1) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ภาพรวมเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในปัญญาประดิษฐ์

                       3.2) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ การประเมินสมรรถนะการจำแนกของการเรียนรู้ของเครื่อง

                       3.3) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ภาพรวมเกี่ยวกับข้อกังวลด้านจริยธรรมและสังคม

                       3.4) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ กรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)

                   4) การส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้

                       4.1) โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายสู่การเป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ โดยมีผลการดำเนินงาน คือ ผู้ประกอบการและประชาชนในชุมชนเป้าหมาย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้หลักเกณฑ์มาตรฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมาย/สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชนหรือสถานประกอบการ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ที่ยั่งยืน รวมทั้งมีหลักสูตรการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยก/ถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)

                       4.2) การพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์คัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยผลการดำเนินงานมีเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการคัดแยกวัสดุที่เป็นองค์ประกอบหลักของซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อน หรือ ผ่านกระบวนการคัดแยกกระจกออกด้วยกระบวนการ Hot Knife หรือ Heated Blade และบดย่อยส่วนประกอบที่เหลือเป็นผงขนาดไม่เกิน 1.2 มิลลิเมตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)

                       4.3) การปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกฎหมายกรมควบคุมมลพิษพิจารณาต่อไป (กรมควบคุมมลพิษ)

          3. ปัญหาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

          กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งมีการจัดประชุมหารือเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านบุคลากร และกลุ่มที่ 2 ด้านระบบนิเวศอุตสาหกรรม โดยสามารถสรุปปัญหาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้ ดังนี้

              3.1 ปัญหาอุปสรรค

                   1) การลงทุน : ยังไม่มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในประเทศ เนื่องจากต้องมีการลงทุนสูง ผู้ประกอบการไทยยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ยังไม่จูงใจนักลงทุนรายใหญ่ นอกจากนี้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) และผู้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ (Wafer Fabrication) ให้เพียงพอเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว

                   2) บุคลากร : ขาดแคลนบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) ผู้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ (Wafer Fabrication) และผู้ออกแบบวงจรพิมพ์ขั้นสูง (PCB Design) รวมถึงบุคลากรในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ System Developer นอกจากนี้ การผลิตและพัฒนากำลังคนในสถาบันการศึกษา ยังไม่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Mismatch)

                   3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ : ขาดการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

                   4) การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ : กระบวนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยมีทั้งทางเคมีและทางกล ทำให้เกิดของเสียในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดเงื่อนไขในด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่สามารถรองรับของเสียจากกระบวนการผลิตดังกล่าวได้

              3.2 โอกาสของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

              ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบ Digital Transformation ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ มีความขัดแย้งเชิงภูมิภาค ทำให้มีการปรับห่วงโซ่อุปทาน มีการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกสำคัญ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ ทั้งในด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุน ด้านการพัฒนาบุคลากร รวมถึงสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

          4. แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในระยะต่อไป

          กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีดังนี้

              4.1 การกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีหลายกลุ่มและมีหลายขนาด จึงมีความต้องการในการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น มาตรการการสนับสนุนการลงทุนควรมีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้อย่างครอบคลุม

              4.2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งในระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงให้การรับรองสมรรถนะบุคคลของคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพัฒนาหลักสูตร โดยมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

              4.3 การสนับสนุนให้มีการใช้อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ โดยสามารถใช้กลไกแผนงานบูรณาการอุตสาหกรรมศักยภาพที่ อก. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำคำของบประมาณ เพื่อยกระดับผลิตภาพและประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาฝีมือแรงงานของอุตสาหกรรมศักยภาพ

              4.4 การสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยควรมีพื้นที่สำหรับให้บริการในการพัฒนาและทดสอบต้นแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการ รวมทั้งมีการพัฒนามาตรฐานและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบด้าน Smart Electronics เพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มาตรฐานกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานห้องทดสอบภายในกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ในงานเฉพาะด้าน

              4.5 การสร้างกลไกการสนับสนุนของภาครัฐในการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากที่เหลือ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่พิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรือที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบรีไซเคิล การเก็บภาษีหรือเพิ่มค่าธรรมเนียมฝังกลบให้สูงขึ้น การห้ามส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือชิ้นส่วนที่ไทยมีศักยภาพในการรีไซเคิล รวมถึงผลักดันพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เป็นต้น

              4.6 การพิจารณาเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นอกเหนือจากกลุ่ม Smart Factory, Smart Product, Smart Farm, Smart Hospital & Health และรถ EV โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต New S-Curve เพื่อให้มาตรการสนับสนุนต่างๆ มีความครอบคลุมทุกสาขาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

          ประโยชน์และผลกระทบ

          อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปี ในปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคบริการ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่การผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้าง Supply Chain ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรม S-Curve ต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566

 

 

12598

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

SME 720x100 66QIC 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

iconmotor

gen 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!