การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co - operation and Development: OECD)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 December 2023 00:00
- Hits: 3253
การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co - operation and Development: OECD)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co - operation and Development: OECD) (ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขออนุมัติให้ สศช. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
3. มอบหมายให้ สศช. และ กต. เป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย และมอบหมายหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบตามตารางห่วงโซ่คุณค่าเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก OECD ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน Framework for the Consideration of Prospective Members รวมถึงการดำเนินการอื่นใดที่จะช่วยขจัดอุปสรรคและสนับสนุนกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในอนาคต
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 กุมภาพันธ์ 2565) เห็นชอบให้ กต. ศึกษาถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก OECD ตลอดจนประโยชน์ในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก OECD ที่ไทยจะได้รับ เนื่องด้วยการมีส่วนร่วมกับ OECD จะช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ในการยกระดับมาตรฐานนโยบายและมาตรการต่างๆ ของไทยให้ทัดเทียมสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถและปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ตามที่ สศช. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติข้างต้น (15 กุมภาพันธ์ 2565) กต. ได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาและวิจัยความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยเมื่อเดือนกันยายน 2565 TDRI ได้เสนอรายงานผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (full member) อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิกมากกว่าเข้าร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ในฐานะของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (non - member)
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 24 - 27 เมษายน 2566 สศช. และ กต. ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทน OECD เกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกของไทย โดยผลการหารือได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากมีการพัฒนามาตรฐานภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับ OECD หลายด้าน โดยเฉพาะโครงการ Country Programme (โครงการ CP) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง1 ซึ่ง OECD มีท่าทีเชิงบวกต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทย
3. สศช. ร่วมกับ กต. จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [จำนวน 41 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)] เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับประเด็นความพร้อมและความเหมาะสมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อชี้แจงแนวทางในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก พร้อมทั้งขอรับข้อมูลการประเมินความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกรอบการพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก OECD (Framework for the Consideration of Prospective Members) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูล ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่จำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิก OECD และการพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐาน OECD
4. สศช. แจ้งว่า กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน (1) ขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก (5 ขั้นตอน) (2) กระบวนการภาคยานุวัติ
5. กต. ได้จัดทำร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ซึ่งมีสาระสำคัญที่แสดงถึงเจตนาฝ่ายเดียวอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในการขอเข้าสู่กระบวนการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมิได้มีเนื้อหาเป็นการทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD แต่อย่างใด ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับ OECD ที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น (1) การเรียนรู้และปรับตัวของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD (2) การเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD หลายฉบับ และ (3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ OECD ในหลายภาคส่วน ทั้งนี้ โครงการ Thailand - OECD Country Programme ระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 จะเป็นการรักษาแรงขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันนี้ให้คงระดับต่อไป
2) การดำเนินการของประเทศไทยเพื่อเข้าเป็นสมาชิก
ประเทศไทยจะเร่งกระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ปรับปรุงนโยบายประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วยการแข่งขันที่เท่าเทียมและโปร่งใส ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยสมบูรณ์
3) ผลประโยชน์ที่ OECD จะได้รับจากการที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก
ประเทศไทยสามารถผยแพร่การดำเนินงานระดับโลกของ OECD เพื่อสร้างผลกระทบและเพิ่มการมีบทบาทของ OECD ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ OECD ต่อภูมิภาคนี้
6. แผนการขับเคลื่อนการดำเนินการของประเทศไทย
สศช. ได้จัดทำห่วงโซ่คุณค่าเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยยึดหลักเกณฑ์จาก Framework for the Consideration of Prospective Members2 รวมทั้งได้ระบุหน่วยงานหลักที่มีภารกิจสอดคล้องกับเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรฐานและการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน Framework for the Consideration of Prospective Members ให้ได้มากที่สุด ดังนี้
เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก OECD |
หน่วยงานหลัก |
(1) ความพร้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบตามมาตรฐาน OECD อาทิ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับตราสาร ทางกฎหมายของ OECD |
สคก. |
(2) ความมุ่งมั่นของประเทศในการปฏิบัติตามค่านิยม วิสัยทัศน์ และภารกิจของ OECD อาทิ ความพร้อมในการเปิดเสรีการลงทุนโดยตรง สิทธิแรงงาน เสรีภาพของสื่อมวลชน ภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
ยธ. |
(3) กลไกเชิงสถาบัน อาทิ ความพร้อมด้านการบริหารราชการแผ่นดินระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า |
สำนักงาน ก.พ.ร. |
(4) ข้อมูลเศรษฐกิจหลักของประเทศ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ อัตราการว่างงาน มูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสม เป็นต้น |
สศช. |
(5) ความสัมพันธ์กับ OECD อาทิ การเข้าไปมีสถานะใน OECD Committee การเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมาย การมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือต่างๆ ของ OECD |
กต. |
________________________________________
1 ปัจจุบันได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ CP ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ OECD เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว] เห็นชอบเพื่อดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ใน 4 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) หลักธรรมาภิบาล (2) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน (3) ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ และ (4) การฟื้นฟูสีเขียว ผ่านรูปแบบความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การจัดทำรายงานการศึกษาวิจัยร่วม การทบทวนนโยบายและบทวิเคราะห์อื่นๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลทางสถิติในการวิเคราะห์ เป็นต้น
[โครงการ CP ระยะที่ 1 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อปี 2564 โดยได้มีการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 16 โครงการ เช่น โครงการ Improving Integrity and Governance in the Public Sector Designing Effective Anti - corruption Policies รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) โครงการ Implementing Regulatory Reform and Mainstreaming Good Regulatory Practice รับผิดชอบโดย สคก. โครงการ Supporting the Digital Economy รับผิดชอบโดย ดศ. และโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring รับผิดชอบโดย สศช. และ กต. เป็นต้น ทั้งนี้ สศช. เห็นว่า การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 1 กับ OECD ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานภายในประเทศของไทยให้ทัดเทียมสากล พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น]
2 Framework for the Consideration of Prospective Members เป็นหลักเกณฑ์ที่ OECD จัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกใช้ประเมินความพร้อมในเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (2) สถานะความพร้อมของประเทศในการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับ OECD (State of Readiness) (2) ความมุ่งมั่นของประเทศในการปฏิบัติตามคำนิยมและผลผูกพันประเทศสมาชิก OECD (County’s Commitment to OECD Values and Membership Obligations) (3) กรอบการบริหารภาครัฐและโครงสร้างเชิงสถาบัน (Institutional Framework) (4) ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ (Key Economic Indicators) และ (5) การมีส่วนร่วมกับ OECD (Relations with OECO)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 ธันวาคม 2566
12838