รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 23:19
- Hits: 8887
รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 (พระราชบัญญัติฯ) ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
สาระสำคัญ
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติฯ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565) มาตรา 20 บัญญัติให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 รวมทั้งกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 22 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งให้ทำหน้าที่ในการติดตาม เร่งรัด ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามมาตรา 20 และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วันว่าหน่วยงานของรัฐใดยังมิได้ดำเนินการ พร้อมทั้งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป รวมทั้งแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยทราบถึงหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ โดยให้แจ้งเตือนทุก 15 วันด้วย ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (18 ตุลาคม 2565) มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 22 เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
2. รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติรับทราบแล้ว มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อราชการและระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติงานตามมาตรา 20 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐ ประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 โดยจากข้อมูลการสำรวจสถานะของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ในระยะแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) พบว่า หน่วยงานของรัฐทั้งหมด 8,294 หน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรา 10 แล้ว จำนวน 6,782 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 82 ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และดำเนินการตามมาตรา 16 แล้ว จำนวน 6,631 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 80 ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด สรุปตามประเภทหน่วยงานของรัฐได้ ดังนี้
ประเภท หน่วยงาน |
จำนวน หน่วยงาน ทั้งหมด |
ประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประชาชนติดต่อราชการ ตามมาตรา 10 |
กำหนดระบบการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 16 |
||||
ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน) |
ร้อยละ |
ยังไม่ ดำเนินการ (หน่วยงาน) |
ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน) |
ร้อยละ |
ยังไม่ ดำเนินการ (หน่วยงาน) |
||
1. ส่วนราชการ |
160 |
160 |
100 |
- |
160 |
100 |
- |
2. จังหวัด |
76 |
76 |
100 |
- |
76 |
100 |
- |
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) |
7,850 |
6,351 |
81 |
1,499 |
6,210 |
79 |
1,640 |
4. องค์การมหาชน |
61 |
61 |
100 |
- |
61 |
100 |
- |
5. รัฐวิสาหกิจ (ยกเว้นที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด) |
41 |
41 |
100 |
- |
41 |
100 |
- |
6. มหาวิทยาลัยรัฐ |
88 |
77 |
88 |
11 |
67 |
76 |
21 |
7. หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ |
13 |
11 |
85 |
2 |
11 |
85 |
2 |
8. หน่วยงานอื่นของรัฐ |
5 |
5 |
100 |
- |
5 |
100 |
- |
รวม |
8,294 |
6,782 |
82 |
1,512 |
6,631 |
80 |
1,663 |
หมายเหตุ : สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า การประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการมาตรา 10 และการกำหนดระบบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการออกเป็นประกาศ/คำสั่งต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการสำรวจผ่านทางแบบสำรวจออนไลน์ที่จัดทำขึ้นผ่านทาง google form โดยให้หน่วยงานของรัฐแนบประกาศ/คำสั่งที่ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่ไม่แนบเอกสาร/แนบเอกสารผิด/อยู่ในระหว่างจัดทำ/ไม่ตอบแบบสำรวจ จะถูกจัดเป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่จัดทำประกาศ/คำสั่ง
นอกจากนี้ การเผยแพร่ที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมลกลาง) ซึ่งเป็นอีกช่องทางการติดต่อของประชาชนและหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 10 หน่วยงานของรัฐได้ลงทะเบียนที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์กับ สพร. ครบแล้วทุกหน่วยงาน ขณะที่ อปท. ลงทะเบียนแล้ว จำนวน 5,108 แห่ง จากทั้งหมด 7,850 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวน อปท. ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566)
2.2 การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ หน่วยงานของรัฐสามารถขอยกเว้นการดำเนินการได้ จำนวน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 14 (นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบกระบวนการพิจารณาคำขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และ สคก. ร่วมกลั่นกรองและพิจารณา) โดยจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นการดำเนินการ ทั้งนี้ การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ มาตรา 7 มีหลักเกณฑ์การพิจารณาการขอยกเว้น ดังนี้ (1) ไม่สามารถยื่นคำขอล่วงหน้าได้ (2) เมื่อยื่นคำขอแล้วผู้ยื่นคำขอต้องพิสูจน์/ยืนยันตัวตน/ดำเนินการเฉพาะตัวใดๆ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ วันที่ยื่นคำขอไม่สามารถพิสูจน์/ยืนยันตัวตน/ดำเนินการเฉพาะตัวใดๆ ได้ในภายหลัง (3) ผู้ยื่นคำขอสามารถรอรับเอกสาร/ใบอนุญาตได้เลย (4) มีระยะเวลาการให้บริการตามคู่มือประชาชนตั้งแต่การยื่นคำขอจนถึงการออกเอกสาร/ใบอนุญาต สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 วัน ทั้งนี้ มีหน่วยงานเสนอขอยกเว้นการดำเนินการตามมาตราดังกล่าว จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 355 งานบริการ ดังนี้
หน่วยงานของรัฐ |
จำนวนงานบริการ ที่ขอยกเว้นฯ |
ผลการพิจารณา |
|
เห็นควร ยกเว้น |
ไม่เห็นควร/ ไม่เข้าข่ายยกเว้น |
||
1. กรมการกงสุล |
2 |
2 |
- |
2. กรมการปกครอง |
71 |
15 |
56 |
3. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สำนักงานอัยการทหาร) |
1 |
1 |
- |
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช). |
191 |
2 |
189 |
5 กรมสรรพากร |
18 |
- |
18 |
6. กรมที่ดิน |
66 |
27 |
39 |
7. ธนาคารแห่งประเทศไทย |
5 |
4 |
1 |
8. สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม |
1 |
- |
1 |
รวม |
355 |
51 |
304 |
2.3 ผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สพธอ. และ สพร. ได้ร่วมดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีความรู้ความเข้าใจและทราบถึงเจตนารมณ์และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ โดยมีการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
(1) สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่มอบหมายให้เป็นหน่วยงานตามมาตรา 22 ในการแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยทราบถึงหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้และระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการ โดยให้แจ้งเตือนทุก 15 วัน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานแล้ว โดยมีสาระสำคัญ เช่น การเชิญเข้าร่วมการประชุมชี้แจง/ให้คำปรึกษาการแจ้งแนวทางต่างๆ แก่หน่วยงานในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เช่น การลงทะเบียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างการจัดทำประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และคำสั่งระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 ตลอดจนการติดตาม เร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรา 10 และมาตรา 16 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
(2) การส่งเสริม สร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เช่น การจัดคลินิกให้คำปรึกษาการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และการสร้างการรับรู้ แก่หน่วยงานของรัฐผ่านกิจกรรมเวทีสัญจร 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร) เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รวมถึงการประชุมชี้แจงหน่วยงานเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลภายใต้หลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ ตลอดจนวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และมาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และการใช้บริการของประชาชน
3. การดำเนินการในระยะต่อไป
3.1 สำนักงาน ก.พ.ร. จะติดตาม เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 ให้ครบถ้วนโดยเร็ว
3.2 สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. ส่งเสริม สร้างการรับรู้ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 20 ผ่านระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร และเป็นช่องทางสำหรับหน่วยงานของรัฐในการรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรา 20 ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1791