ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 January 2024 23:37
- Hits: 9600
ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในรายละเอียดและให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป
ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า
1. โดยที่ได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 วรรคห้า กำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่นั้นเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของ เมาอย่างอื่น เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลง ต่อมาได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดให้เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่ ประกาศใช้บังคับ
2. ต่อมามีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565) โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการปรับปรุงมาตรการกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยและเพื่อให้การป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ลักษณะความผิดในการขับรถ การตรวจสอบหรือทดสอบผู้ขับขี่ เป็นต้น โดยในมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)ฯ บัญญัติให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10)ฯ ส่งผลให้กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราขบัญญัติจราจรทางบกซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10)ฯ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงที่อาศัยอำนาจตามความในวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522ฯ ดังกล่าวในการออกกฎกระทรวงถูกยกเลิกไปโดยผลของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ จะยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวงฉบับใหม่ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)ฯ ใช้บังคับ
3. จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยังไม่ครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์ในบางกรณี เช่น บุคคลอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้หรืออยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ ดังนั้น ตช. พิจารณาแล้ว เห็นว่า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นในขณะ ขับรถหรือไม่ ตลอดจนกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานจราจร สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับรถหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและบุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารอยู่ในร่างกายได้ เพื่อเป็นการป้องปรามให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุทางถนน
4. ตช. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 และครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้ หรืออยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
หมายเหตุ |
||
วิธีการตรวจหรือทดสอบ |
● ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีการ ดังนี้ 1. ตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST) 2. ตรวจวัดจากเลือด 3. ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ |
เดิมกำหนดให้ “ตรวจวัดจากปัสสาวะ” เป็น “ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ” เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น |
||
|
● กำหนดให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น |
เพื่อให้สอดคล้องกับ ม.131/1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา |
||
หน้าที่ของพนักงานสอบสวนและแพทย์ |
● กรณีที่มีอุบัติเหตุจากการขับขี่และมีพฤติการณ์เชื่อว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ได้กระทำการฝ่าฝืนตาม ม.43 (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวหรือไม่ทุกกรณี ตามวิธีการตรวจหรือทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์ |
กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในทุกกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เดิมเจ้าพนักงานฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บางกรณี เช่น บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้ |
||
|
● กรณีผู้ขับขี่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยการวัดจากลมหายใจ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้ 1. ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเป็นหนังสือขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายบุคคล ภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ หรือด้วยวาจา วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น จากนั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ 2. ให้แพทย์เก็บตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่น และให้ออกหลักฐานเป็นหนังสือแสดงผลการตรวจพิสูจน์โดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมในสำนวน การสอบสวน 3. ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้แพทย์บันทึกการไม่ยินยอมนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีตามที่กำหนด |
กำหนดขึ้นใหม่ |
||
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด |
● กรณีตรวจวัดจากเลือด (เจาะเลือด) หากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หรือเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับบางกรณี เช่น ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว เป็นต้น หรือกรณีผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ● กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะให้เทียบกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้ 1. กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วย 2,000 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น หากวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่า 0.04 ให้คูณด้วย 2,000 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 80 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) 2. กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วยเศษ 1 ส่วน 1.3 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น วัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะ วัดค่าได้ 78 ให้คูณด้วย เศษ 1 ส่วน 1.3 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 60 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) |
คงเดิม [เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522] |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 มกราคม 2567
1794