ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 February 2024 23:36
- Hits: 9768
ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่าง สธ. กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ขอให้ สธ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
[สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ) เสนอขอลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ สธ. ได้ขอขยายระยะเวลาให้มีการลงนามภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว]
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ แจ้งผลการพิจารณาโครงการของราชอาณาจักรไทยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งเสนอขอลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ มีโครงการของ สธ. จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการการสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Strengthening the Cooperation of Traditional and Indigenous Medicine in response to COVID-19 Pandemic in the Greater Mekong Basin)
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการกำหนดรายละเอียดสำหรับการดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี 2566 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
หลักการเบื้องต้น |
(1) มุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง (2) ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในการปรึกษาหารือ การประสานงาน การร่วมมือกัน และการได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน (3) เคารพกฎหมายและกฎระเบียบของสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทย (4) ร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุน |
|
การยืนยันเงินงบประมาณและโครงการ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีนได้พิจารณาโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2566 ที่เสนอโดยฝ่ายราชอาณาจักรไทย โดยพิจารณาตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวปฏิบัติการยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและการบริหารจัดการโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางและมาตรฐานสากล โดยมีโครงการของฝ่ายราชอาณาจักรไทยที่ได้รับการอนุมัติและได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 1 โครงการ รายละเอียด ดังนี้ โครงการ: โครงการการสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Strengthening the Cooperation of Traditional and Indigenous Medicine in response to COVID-19 Pandemic in the Greater Mekong Basin) งบประมาณ: 134,793 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ในวงเงินไม่เกิน 930,800 หยวน (ประมาณ 4.7 ล้านบาท) ระยะเวลาโครงการ: 1 ปี หน่วยงานดำเนินโครงการ: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นผู้ดำเนินโครงการและรับผิดชอบการวางแผนโครงการและการดำเนินโครงการรวมทั้งกิจกรรมและการบริหารงบประมาณของโครงการ |
|
การจัดสรรงบประมาณ |
ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนจะจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเต็มให้ฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการหลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ |
|
การบริหารจัดการโครงการ |
ฝ่ายราชอาณาจักรไทยจะดำเนินการ ดังนี้ (1) ใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานดำเนินโครงการ รวมทั้งให้แนวทางและกระตุ้นให้หน่วยงานดำเนินโครงการดำเนินตามแผนระยะเวลา และงบประมาณของโครงการ ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นวันเริ่มต้นโครงการ (2) แจ้งฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนหากมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญในการดำเนินโครงการในระยะเวลาที่เหมาะสม (3) แจ้งสถานะการดำเนินโครงการ ความก้าวหน้าของโครงการ ความสมบูรณ์ของเป้าหมายโครงการที่กำหนดในแต่ละระยะและการใช้ประโยชน์ของเงินงบประมาณและแจ้งฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงความคืบหน้าตามความเวลาที่เหมาะสม (4) ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณะและเปิดเผยเกี่ยวกับโครงการและกองทุน รวมทั้งแบ่งปันผลการประชาสัมพันธ์และผลงานด้านการทูตสาธารณะให้กับฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบตามเวลาที่เหมาะสม |
|
การกำกับดูแลและการตรวจสอบ |
(1) ฝ่ายราชอาณาจักรไทยจะให้แนวทางและกำกับดูแลการตรวจสอบด้วยตัวเองของหน่วยงานดำเนินโครงการในเรื่องความก้าวหน้าของโครงการ ประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ และการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อกำหนด และจะแจ้งฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบในระยะเวลาที่เหมาะสม (2) ฝ่ายราชอาณาจักรไทยจะตรวจสอบโครงการบนพื้นฐานเฉพาะกิจ (3) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความเห็นพ้องร่วมกัน (4) ปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจะได้รับการแก้ไขผ่านการหารืออย่างฉันมิตร |
|
การยอมรับโครงการและการประเมินผล |
(1) ฝ่ายราชอาณาจักรไทยจะให้แนวทางและเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ (2) ฝ่ายราชอาณาจักรไทยจะจัดทำรายงานการยอมรับโครงการ ให้ความเห็นต่อรายงานผลการดำเนินโครงการฉบับสมบูรณ์และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นลายลักษณ์อักษร (3) งบประมาณส่วนที่เหลือจะต้องนำส่งให้แก่ฝ่ายจีนตามรายละเอียดบัญชีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดภายในสมาเดือนหลังจบโครงการ |
|
การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม |
การทบทวนหรือการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนหรือทั้งหมดของบันทึกความเข้าใจฯ เป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะมีผลหลังจากวันที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันผ่านการปรึกษาหารือ |
|
การประยุกต์ใช้ |
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ |
|
ระยะเวลา |
(1) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามและจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลาอีก 5 ปี นอกจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวันหมดอายุ (2) การสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่มีอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตัดสินใจก่อนการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ |
3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และวรรค 9 ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2191