WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

Gov 09

ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

          1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) เฉพาะการอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)

          2. เห็นชอบในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยอธิบดีกรมศุลกากรของประเทศไทย (ไทย) และกัมพูชา โดยไม่ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม ทั้งนี้ กรมศุลกากร กค. จะดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือแสดงเจตนารมณ์ในการยินยอมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โดยไม่ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

          3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ การเปิดจุดผ่านแดนใหม่หรือด้วยเหตุผลอื่นใด ถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กค. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

[จะมีการลงนามและรับรองร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ]

          สาระสำคัญ

          1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (17 ตุลาคม 2560) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ และอนุมัติให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ รวมทั้งอนุมัติให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งต่อมา กต. ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยมีข้อสังเกตว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการผ่านแดนตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า [General Agreement on Tariff’s and Trade (GATT)] และความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้า [Trade Facilitation Agreement (TFA)] ในกรอบขององค์การการค้าโลกที่ไทยเป็นภาคี จึงต้องพิจารณาด้วยว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนการลงนาม ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 3/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเนื่องจากมีเจตนาจัดทำในระดับรัฐบาลและก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศภาคีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีตามมาตรา 178 วรรคสาม แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 178 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          2. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (กต.) ได้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มลงวันที่ 17 มกราคม 2561 ให้อธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้น (นายกุลิศ สมบัติศิริ) เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ แต่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อลงนาม ฝ่ายกัมพูชาประสงค์จะใช้หนังสือมอบฉันทะ (Letter of Authorization) ที่จัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในฐานะหนังสือมอบอำนาจเต็มเพื่อประกอบการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่ใช้เป็นการภายในในการมอบอำนาจให้แก่ผู้เจรจาในฐานะผู้แทนของรัฐ ทั้งนี้ ไม่พบว่ามีการใช้หนังสือมอบฉันทะดังกล่าวในการลงนามเอกสารที่ประสงค์ให้มีผลผูกพันรัฐบาลแต่อย่างใด ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงไม่สามารถยอมรับให้ฝ่ายกัมพูชาใช้หนังสือดังกล่าวในการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้

          3. กค. (กรมศุลกากร) ได้จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อหารือร่วมกับผู้แทนจาก กต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้อธิบดีกรมศุลกากรของทั้งสองประเทศสามารถลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในนามของรัฐได้โดยไม่ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ตามมาตรา 7 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (Vienna Convention on the Law of Treaties 1969) ประกอบกับ กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) เห็นว่า หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบว่าจะลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ใช้หนังสือมอบอำนาจเต็มจะต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ในส่วนของที่อนุมัติให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มด้วย

          4. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ1 มีสาระสำคัญ ดังนี้

              4.1 กำหนดให้คู่ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนของการผ่านแดน โดยสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากรหากได้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการผ่านแดนอย่างครบถ้วน แต่ประเทศภาคีสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาระที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือค่าบริการอื่นๆ ได้

              4.2 สินค้าต้องห้ามและสินค้าต้องกำกัด2 ในการผ่านแดนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายหรือข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนของประเทศที่มีการผ่านแดน เช่น ความมั่นคง การปกป้องคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์

              4.3 สินค้าผ่านแดนจะต้องขนส่งผ่านที่ทำการพรมแดนที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาคผนวกดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่ภาคี ทั้งนี้ เส้นทางภายในประเทศสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะถูกกำหนดโดยภาคีแต่ละฝ่าย 

              4.4 ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตรระหว่างหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฝ่าย

              4.5 การแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยภาคีอีกฝ่ายจะต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เสนอมาทั้งหมดจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย

              4.6 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามและให้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด

              4.7 ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่เสนอจะยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่าย โดยให้แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในกรณียกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ บทบัญญัติตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะยังมีผลบังคับใช้ในการดำเนินการ หรือการทำข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ 

          5. กค. แจ้งว่า การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และเป็นการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งนี้ ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้ โดยไม่ต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หมวด 4 ส่วนที่ 1 ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการผ่านแดนไว้แล้ว ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนลงนาม 

__________________

1 กค. แจ้งว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นฉบับเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560

2 สินค้าที่กฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้าหรือส่งออกต้องได้รับอนุญาตให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2192

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

CKPower 720x100

TOA 720x100

Banner GPF720x100 PX

EXIM One 720x90 C J

QIC 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

MTL 720x100

 

 

 

AXA 720 x100

gen 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!