การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิปัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด และตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 February 2024 23:57
- Hits: 10501
การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิปัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด และตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด และตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
สาระสำคัญ
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (25 กรกฎาคม 2566) เห็นชอบกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ) และคณะรัฐมนตรีมีมติ (8 สิงหาคม 2566) เห็นชอบประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) จำนวน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ (2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) รายได้จากการท่องเที่ยว (4) รายได้ของผู้ประกอบการ SMEsและ OTOP และ (5) การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 รวมถึง (ร่าง) ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (จำนวน 7 ตัวชี้วัดหลัก 217 ตัวชี้วัดย่อย) ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว และเห็นควรให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ เสนอต่อ ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรีอีกครั้งภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เนื่องจากองค์ประกอบการประเมินส่วนราชการและจังหวัดได้กำหนดประเด็นการประมินในเรื่องของผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มติคณะรัฐนตรี รวมถึงนโยบายรัฐบาลด้วย
2. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติ ก.พ.ร. (ตามข้อ 1) โดยเสนอเรื่องต่อ ก.พ.ร. ในการประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 [รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติรับทราบการประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด [มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 กรกฎาคม 2566) เห็นชอบไว้] และ Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (จำนวน 7 ตัวชี้วัดหลัก 204 ตัวชี้วัดย่อย) [มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 สิงหาคม 2566) เห็นชอบไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวชี้วัดย่อย เนื่องจากหน่วยงานมีการรวมตัวชี้วัดและตัดบางตัวชี้วัดออก เพื่อลดจำนวนตัวชี้วัดของหน่วยงานไม่ให้เป็นภาระในการดำเนินงาน] และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 หลักการและแนวทางประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
(มีรายละเอียดเช่นเดียวกับการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566)
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
หลักการประเมิน |
- ส่วนราชการ : มุ่งเน้นการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนงานบูรณาการ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และดัชนีชี้วัดสากล (International KPIs) โดยให้กระทรวงมีบทบาทหลักเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับกระทรวง โดยในการกำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวง มุ่งเน้นการกำหนดตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs)1 - จังหวัด : มุ่งเน้นการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายระดับชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาลเช่นเดียวกับส่วนราชการ รวมถึงนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย (มท.) นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผลสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 57 และมาตรา 582 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 โดยให้ มท. มีบทบาทหลักในการพิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัด น้ำหนักและค่าเป้าหมาย รวมทั้งติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของจังหวัดผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของจังหวัด - การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยใช้กลไก Joint KPIs ภายใต้ประเด็น Agenda จำนวน 5 ประเด็น (ตามข้อ 1) ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ โดยมีการถ่ายทอดเป้าหมายจากระดับประเทศลงสู่ระดับหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนการดำเนินงาน |
|
องค์ประกอบการประเมิน |
ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ 1. การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) (น้ำหนักร้อยละ 70) (ตัวชี้วัดตามภารกิจ เช่น ผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท และ Joint KPIs) 2. การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) (น้ำหนักร้อยละ 30) การพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล (น้ำหนักร้อยละ 20) และการประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) (น้ำหนักร้อยละ 10) |
|
เกณฑ์การประเมิน |
ประกอบด้วยการประเมิน 2 ระดับ ดังนี้ 1. เกณฑ์การประเมินระดับตัวชี้วัด พิจารณาจากผลการดำเนินงานเทียบกับค่าเป้าหมายใน 3 ระดับ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ได้แก่ ค่าเป้าหมายขั้นสูง (100 คะแนน) ค่าเป้าหมายมาตรฐาน (75 คะแนน) และค่าเป้าหมายขั้นต้น (50 คะแนน) 2. เกณฑ์การประเมินระดับส่วนราชการและจังหวัด (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) โดยแบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับคุณภาพ (90-100 คะแนน) ระดับมาตรฐาน (60-89.99 คะแนน) และระดับต้องปรับปรุง (ต่ำกว่า 60 คะแนน) |
|
รอบระยะเวลาการประเมิน |
กำหนดให้ประเมินส่วนราชการและจังหวัด ปีละ 2 รอบ ดังนี้ - รอบการประเมินครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม - รอบการประเมินครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน โดยให้ส่วนราชการและจังหวัดมีการกำกับติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติราชการและกำหนดให้รายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบการรายงานผลการประเมินส่วนราชการ (Electronic Self Assessment Report: e-SAR) |
|
กลุ่มเป้าหมายในการประเมิน |
ส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย (1) ส่วนราชการ 154 หน่วยงาน และ (2) จังหวัด 76 จังหวัด สำหรับส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้นำแนวทางการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหารไปประยุกต์ใช้และส่งผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีพร้อมกับส่วนราชการอื่น |
|
กลไกการประเมิน |
การพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดดำเนินการผ่านกลไกคณะทำงานเพื่อพิจารณาตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ/จังหวัด (แต่งตั้งโดย อ.ก.พ.ร.) และคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ/จังหวัด (แต่งตั้งโดยรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวง/รัฐมนตรีที่กำกับส่วนราชการหรือรัฐมนตรีที่กำกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) |
|
การปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวชี้วัด (ปรับเปลี่ยนได้เฉพาะตัวชี้วัดภารกิจ และ Joint KPIs) |
ส่วนราชการและจังหวัดสามารถขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายและเกณฑ์การให้คะแนน หากการดำเนินงานตามตัวชี้วัดได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สถานการณ์ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ โรคระบาดรุนแรง โรคอุบัติใหม่ที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า การปรับเบลี่ยนนโยบายรัฐบาล หน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดสากลยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวชี้วัด ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือได้รับงบประมาณล่าช้าอย่างน้อย 6 เดือน และคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องมีมติให้ปรับเป้าหมาย แผนการดำเนินงาน หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามตัวชี้วัด โดยดำเนินการตามแนวทางที่ ก.พ.ร. กำหนด |
|
การเชื่อมโยงผลการประเมินส่วนราชการกับการประเมินผู้บริหารส่วนราชการ |
ผลการประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ในแต่ละรอบการประเมินจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการปฏิบัติงานรายบุคคลระดับหัวหน้าส่วนราชการ (ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า อธิบดีหรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด) เพื่อให้การประเมินหัวหน้าส่วนราชการสามารถผลักดัน การปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ส่วนราชการและจังหวัดจะนำผลการประเมินส่วนราชการและจังหวัดไปเป็นผลการประเมินผู้บริหารในมิติด้านผลสัมฤทธิ์ (Performance) มิติย่อยการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (Agenda) และภารกิจประจำของส่วนราชการ (Function) โดยการประเมินผู้ปริหารส่วนราชการ รอบการประเมินที่ 1 (วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม) ใช้ผลการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ รอบการประเมิน 6 เดือน ตามองค์ประกอบที่ 1 การประเมินผลการดำเนินงาน (น้ำหนักร้อยละ 70) และการประเมินผู้บริหารส่วนราชการ รอบการประเมินที่ 2 (วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน) ใช้ผลการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ รอบการประเมิน 12 เดือน ตามองค์ประกอบที่ 1 การประเมิน ประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) (น้ำหนักร้อยละ 70) และองค์ประกอบที่ 2 การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) (ร้อยละ 30) |
2.2 ความก้าวหน้าการจัดทำตัวชี้วัดของส่วนราชการและจังหวัด
1) ตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ในส่วนของตัวชี้วัดส่วนราชการ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการได้เห็นชอบตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 294 ตัวชี้วัด ซึ่งคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ3 18 กระทรวง (ไม่รวมกระทรวงกลาโหม) และ 20 ส่วนราชการ (ส่วนราชการในสังกัด/ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ได้นำไปพิจารณาถ่ายทอดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ (ตัวชี้วัดระดับกรม) แล้ว จำนวน 172 ตัวชี้วัด คิดเป็นร้อยละ 58.50 (ส่วนที่เหลือหน่วยงานยังไม่ได้นำไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกรม เนื่องจากบางตัวชี้วัดอาจยังไม่สามารถวัดผลการดำเนินการได้ในปี 2567) และในส่วนของการจัดทำตัวชี้วัดจังหวัด 76 จังหวัด คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้พิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับตัวชี้วัดตามการกิจ (Functional KPIs) [ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายเร่งด่วนของ มท. (Agenda KPIs) แผนพัฒนาของจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (Area KPIs) และเป้าหมายในการบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดและส่วนราชการ (Joint KPIs)] โดยมีภาพรวมตัวชี้วัดจังหวัด 18 ตัวชี้วัด4 (ไม่นับซ้ำ) แบ่งออกเป็น 3ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 6 ตัวชี้วัด (2) ด้านสังคม/มั่นคง จำนวน 7 ตัวชี้วัด และ (3) ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ตัวชี้วัด
2) Joint KPIs ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้งให้ส่วนราชการและจังหวัดจัดทำรายละเอียด Joint KPIs ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน พร้อมทั้งกำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ/จังหวัด ภายใต้ประเด็น Agenda จำนวน 5 ประเด็น 7 ตัวชี้วัดหลักและตัวชี้วัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย จำนวน 204 ตัวชี้วัดย่อย สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นนโยบายสำคัญ (Agenda) |
ตัวชี้วัดหลักและเป้าหมาย |
จำนวนตัวชี้วัดย่อย |
|
ประเด็นที่ 1 การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ |
- ดัชนีความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ (63 คะแนน) - สัดส่วนความสำเร็จของพื้นที่ลำน้ำสายหลัก 22 ลุ่มน้ำ ที่ได้รับการฟื้นฟูต่อพื้นที่เป้าหมาย (ร้อยละ 27.5 ต่อปี) |
45 |
|
ประเด็นที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงจากกรณีปกติ (ร้อยละ 4) |
31 |
|
ประเด็นที่ 3 รายได้จากการท่องเที่ยว |
รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศ (2.83 ล้านบาท) |
47 |
|
ประเด็นที่ 4 รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP |
- สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ - อัตราการเติบโตมูลค่าสินค้า OTOP (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) |
57 |
|
ประเด็นที่ 5 การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 |
ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ยรายปีลดลง (ร้อยละ 4) |
24 |
|
รวม |
7 |
204 |
____________________________________
1ตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic KPIs) เป็นตัวชี้วัดภายใต้แผนระดับประเทศต่างๆ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งสอดคล้องกับเอกสารงบประมาณและแผนงบประมาณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันตัวชี้วัดของแผนระดับประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะเป็นผู้ยกร่าง Strategic KPIs ของแต่ละส่วนราชการ และเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนให้คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการรับทราบและผลักดันให้ส่วนราชการถ่ายทอด Strategic KPIs เป็นตัวชี้วัดกรม
(ไม่บังคับ) โดย Strategic KPIs จะเป็นตัวชี้วัดส่วนราชการเพื่อใช้ในการติดตามการดำเนินการที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของส่วนราชการในการขับเคลื่อนตามแผนต่างๆ ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย (ไม่ใช้ในการประเมินผลตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ)
2มาตรา 57 และมาตรา 58 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ท.ศ. 2565 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการตามแผนพัฒนาจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับแก่การดำเนินการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดด้วย
3คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการเป็นกลไกในการกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนัก ค่าเป้าหมายในการประเมินผลการปฏิปัติราชการของส่วนราชการ แสะติดตาม กำกับ และให้การสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด
4จากการประสานสำนักงาน ก.พร. แจ้งว่า ภาพรวมตัวชี้วัดจัหวัด 18 ตัวชี้วัด แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) รายได้จากการท่องเที่ยว (2) รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน (3) อัตราการขยายตัวของมูลค่าของสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (4) อัตราการขยายตัวของมูลค่าของสินค้าเกษตรปลอดภัย (5) มูลค่าการค้าชายแดน และ (6) ผลการดำเนินงานตามแนวทางส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่
2. ด้านสังคม/มั่นคง จำนวน 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิพอเพียง (2) ร้อยละของหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่พบปัญหายาเสพติด (3) อัตราคดีอาชญากรรมต่อประชากรแสนคน (4) ร้อยละของเด็กปฐนวัยมีพัฒนาการสมวัย (5) อัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาส (6) ร้อยละของจำนวนแรงงานนอกระบบที่อยู่ภายใต้ประกันสังคม (ผู้ประกันตนตามมาตรา 40) และ (7) จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนกาคใต้ลดลง
3. ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) คุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ดี (2) ค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) (3) ค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) (4) ร้อยละของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และ (2) ความสำเร็จของการส่งสริมสถานประกอบการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมสีเขียว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2196