ความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 February 2024 00:38
- Hits: 11277
ความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้
1. รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อด้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รวมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับในการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานอัยการสูงสุด นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่อไป ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดฯ และรัฐผู้ประเมินได้จัดทำรายงานการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ รอบที่ 2 ฉบับสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยซึ่งถือได้ว่าไทยได้ปฏิบัติภารกิจภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ในฐานะผู้ถูกประเมินโดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้วทั้ง 2 รอบ ได้แก่ (1) การประเมินติดตามฯ รอบที่ 1 (หมวดที่ 3 การกำหนดให้เป็นความผิดอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย และหมวดที่ 4 ความร่วมมือระหว่างประเทศ) และ (2) การประเมินติดตามฯ รอบที่ 2 (หมวดที่ 2 มาตรการป้องกันการทุจริตและหมวดที่ 5 การติดตามทรัพย์สินคืน) ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดพิมพ์เอกสารผลผลิตของกลไกการประเมินติดตามฯ ในรูปแบบ “เอกสารชุดอนุสัญญาฯ (UNCAC Boxset)” และเผยแพร่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.nacc.go.th/tacc/ โดยเอกสารชุดดังกล่าวประกอบด้วยอนุสัญญาฯ ฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปลภาษาไทยและรายงานการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ รอบที่ 1 และรอบที่ 2
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 122/2565 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ และเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของกฎหมายต่อต้านการทุจริตของไทย อันเป็นผลจากการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในความรับผิดชอบของหน่วยงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่อไปสรุปได้ ดังนี้
2.1 ผลการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ สรุปได้ ดังนี้
(1) กฎหมายและการดำเนินการของไทยในภาพรวมมีความสอดคล้องกับ อนุสัญญาฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยได้รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ในความรับผิดชอบขององค์กรซึ่งกำหนดและกำกับนโยบายเพื่อป้องกันการทุจริตของไทย โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดฯ มีความเห็นว่า นโยบายการป้องกันการทุจริตของประเทศควรริเริ่มและพัฒนามาจากการถอดบทเรียนจากการปราบปรามการทุจริตระดับชาติเพื่อให้การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตมีความสอดคล้องเหมาะสมและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการทุจริตหลายหน่วยงานอาจก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระระดับชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีความรับผิดชอบทั้งด้านป้องกันและด้านปราบปรามการทุจริต และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินภารกิจดังกล่าวโดยปราศจากอิทธิพลและการแทรกแซงใดๆ อันเป็นไปตามหลักสากลและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
(2) การประเมินติดตามฯ เป็นการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีความสอดคล้องรองรับตามพันธกรณีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดฐานความผิดการให้และรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดหลักการริบทรัพย์สินตามหลักมูลค่า การกำหนดความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่หากมีการหลบหนี ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
(3) ไทยยังคงมีประเด็นตามข้อบทบังคับแห่งอนุสัญญาฯ ที่ยังต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น เช่น การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ การกำหนดบทลงโทษสำหรับนิติบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด การห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสินบนมาลดหย่อนภาษี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการทุจริต 2 ประเด็น ดังนี้
(3.1) การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ (Special Investigative Techniques) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ครอบคลุมถึงการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบทที่ 50 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อบทบังคับ เช่น การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการอำพราง และการใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการสะกดรอย เพื่อให้เข้าถึงและได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและไต่สวนคดีทุจริตอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง
(3.2) มาตรการชะลอการไต่สวนนิติบุคคล1 (Non-Trial Resolutions) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มาตรการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 เพื่อนำหลักการชะลอการไต่สวนนิติบุคคลมาใช้บังคับ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเพิ่มกลไกการชะลอการดำเนินคดีกับนิติบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยส่งเสริมให้นิติบุคคลเข้ามาให้ถ้อยคำหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเพื่อให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ภาครัฐหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในด้านการลงทุนให้เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ยั่งยืน และคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีการดำเนินการเทียบเท่ามาตรฐานสากลสอดคล้องตามอนุสัญญาฯ รวมถึงหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
2.2 ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตาม อนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ โดยจะส่งผลให้กฎหมายไทยมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ทั้งนี้ การอนุวัติการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตในระดับประเทศจึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานในกำกับของราชการฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ สรุปได้ ดังนี้
ข้อบทที่เกี่ยวข้อง |
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ เช่น |
แนวทางการดำเนินการ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|||
หมวดที่ 2 มาตรการป้องกันการทุจริต |
||||||
ข้อบทที่ 5 ย่อหน้า 1 |
คงไว้ซึ่งการติดตามความมีประสิทธิภาพและผลกระทบที่ได้รับจากการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงปรับใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการประสานงานและลดความซ้ำซ้อนและความซับซ้อนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับต่างๆ ของรัฐบาล |
กระบวนการดำเนินการ : ดำเนินการติดตามประสิทธิภาพและผลที่ได้รับจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติฯ กระบวนการนิติบัญญัติ: ปฏิรูปหน่วยงานฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต |
- สำนักงาน ป.ป.ช. - รัฐสภา |
|||
ข้อบทที่ 7 ย่อหน้า 1 (ข) |
พยายามระบุตำแหน่งราชการที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการทุจริตและกำหนดกระบวนการในการคัดเลือกฝึกอบรม และหมุนเวียนบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวตามความเหมาะสม |
กระบวนการดำเนินการ : - กำหนดรายชื่อตำแหน่งราชการ ที่มีความเสี่ยงพิเศษต่อการทุจริต - กำหนดกระบวนการคัดเลือก ฝึกอบรมและหมุนเวียนบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว |
- สำนักงาน ป.ป.ช. - สำนักงาน ก.พ. |
|||
ข้อบทที่ 12 ย่อหน้า 2 |
คงไว้ซึ่งการเสริมสร้างมาตรการป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบังคับ รวมถึงมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชีโดยการส่งเสริมข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณธรรมในภาคธุรกิจหรือแนวปฏิบัติทางพาณิชย์ที่ดีการยกระดับความโปร่งใสในภาคเอกชน และการป้องกันการใช้กระบวนการควบคุมกิจกรรมทางพาณิชย์โดยมิชอบ |
กระบวนการดำเนินการ : - บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน - ดำเนินมาตรการส่งเสริมมาตรฐานการบัญชี - ดำเนินมาตรการส่งเสริมคุณธรรมในภาคธุรกิจ - ดำเนินมาตรการส่งเสริมแนวปฏิบัติทางพาณิชย์ที่ดีและการป้องกันการใช้กระบวนการควบคุมกิจกรรมทางพาณิชย์โดยมิชอบ - ดำเนินมาตรการยกระดับ ความโปร่งใสในภาคเอกชน |
- กระทรวงพาณิชย์ - สำนักงาน คณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (สกท.) - สำนักงาน ป.ป.ช. - สำนักงาน คณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ - ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) |
|||
หมวดที่ 3 การกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา และการบังคับใช้กฎหมาย |
||||||
ข้อบทที่ 15 (ก) |
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อทำให้มั่นใจว่าการให้สินบนทางอ้อมจะต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับการกระทำความผิดโดยตรง เพื่อให้ครอบคลุมถึงการให้คำมั่น เสนอหรือให้ประโยชน์อันมิควรได้แก่บุคคลที่สาม รวมถึงตัดองค์ประกอบเพิ่มเติมอัน “มิชอบ” ด้วยหน้าที่ในการกระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำใด |
กระบวนการนิติบัญญัติ : - กำหนดความผิดฐาน “ให้สินบนทางอ้อม” ตัดองค์ประกอบ “มิชอบด้วยหน้าที่” ในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ |
สำนักงาน ป.ป.ช. - รัฐสภา |
|||
ข้อบทที่ 23 ย่อหน้าย่อย 2 (ก), (ข), (ง) |
บังคับใช้ความผิดฐานฟอกเงินกับความผิดฐานทุจริตทั้งหมดร่วมถึงจัดทำสำเนาของกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินให้แก่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ |
กระบวนการนิติบัญญัติ : กำหนดให้การกระทำทุจริต “ทั้งหมด” เป็นความผิดมูลฐานสำหรับความผิดฐานฟอกเงิน - กระบวนการดำเนินการ : จัดส่งสำเนาพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ |
สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) รัฐสภา |
|||
ข้อบทที่ 27 ย่อหน้า 3 |
ไทยอาจมุ่งประสงค์ที่จะกำหนดให้การตระเตรียมการกระทำความผิดฐานทุจริตเป็นความผิดทางอาญา |
กระบวนการนิติบัญญัติ : กำหนดความผิดฐาน “ตระเตรียมการกระทำทุจริต” |
สำนักงาน ป.ป.ช. |
|||
ข้อบทที่ 30 ย่อหน้า 1 |
ประเมินว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายไทยจะนำไปสู่การมีบทลงโทษที่ได้สัดส่วนมากขึ้น หรือไม่ |
กระบวนการดำเนินการ : ประเมิน/ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความได้สัดส่วนของการกำหนดโทษประหารชีวิต กระบวนการนิติ : บัญญัติ ยกเลิก “โทษประหารชีวิต” ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต |
- กระทรวงยุติธรรม - สำนักงาน ป.ป.ช. - รัฐสภา |
|||
หมวดที่ 4 ความร่วมมือระหว่างประเทศ |
||||||
ข้อบทที่ 44 ย่อหน้า 2 |
ไทยอาจมุ่งประสงค์ที่จะอนุญาตให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนสำหรับฐานความผิดที่ไม่สามารถลงโทษได้ภายใต้กฎหมายภายในของไทย |
กระบวนการนิติบัญญัติ : กำหนดให้รัฐบาลไทยมีอำนาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ |
- สำนักงานอัยการ สูงสุด (อส.) - รัฐสภา |
|||
ข้อบทที่ 46 ย่อหน้า 4 |
ไทยอาจมุ่งประสงค์ที่จะส่งข้อมูลได้เองในบริบทความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมาย |
กระบวนการนิติบัญญัติ : กำหนดให้ไทยมีอำนาจส่งข้อมูลทางคดีให้แก่ต่างประเทศผ่านช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาได้โดยไม่ต้องมีคำขอ |
- สำนักงาน ป.ป.ช. - อส. - รัฐสภา |
|||
ข้อบทที่ 50 |
เพื่อให้เกิดความแน่ชัดของกฎหมายทบทวนกฎหมายเพื่ออนุญาตอย่างชัดแจ้งให้ใช้การสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีพิเศษในคดีทุจริต และกำหนดให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าวไทยอาจมุ่งประสงค์ที่จะใช้การสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีพิเศษระหว่างประเทศในการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว |
กระบวนการนิติบัญญัติ : กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ |
- สำนักงาน ป.ป.ช. - รัฐสภา |
|||
หมวดที่ 5 การติดตามทรัพย์สินคืน |
||||||
ข้อบทที่ 51 |
- ทำให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคสำหรับไทยในการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการใช้เงื่อนไขเรื่องหลักความผิดสองรัฐโดยเคร่งครัดซึ่งรวมถึงมาตรการที่ไม่บังคับ (non-coercive measures) - ทำให้แน่ใจว่าการให้อำนาจอย่างกว้างแก่นายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจเกี่ยวกับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ประสานงานกลางในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว |
กระบวนการนิติบัญญัติ : - กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เรื่องหลักความผิดสองรัฐและมาตรการที่ไม่บังคับ - กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในการมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด (มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาพ.ศ. 2535) |
อส. |
|||
ข้อบทที่ 52 ย่อหน้า 4 |
กำหนดให้สถาบันการเงินเก็บข้อมูลอย่างเพียงพอจากธนาคารตัวแทนเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงในประเด็นความเหมาะสมของการควบคุมการฟอกเงินของธนาคารตัวแทน |
กระบวนการดำเนินการ : กำหนดให้สถาบันการเงินเก็บข้อมูลฯ |
- สำนักงาน ปปง. - ธปท. |
|||
ข้อบทที่ 54 ย่อหน้า 1 (ก) |
กำหนดมาตรการสำหรับการบังคับตามคำสั่งริบทรัพย์ของศาลต่างประเทศโดยตรง |
กระบวนการนิติบัญญัติ : แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 32-34 แห่งพระราชบัญญัติ ความร่วมมือฯ ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจรับและดำเนินการเพื่อบังคับตามคำสั่งริบทรัพย์ของศาลต่างประเทศโดยตรง |
- อส. - รัฐสภา |
_____________
1เป็นวิธีการเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข้ามามีส่วนร่วมในการไต่สวน เช่น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแส หรือข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดและยินยอมชำระเงินค่าปรับ ค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจชะลอการไต่สวนนิติบุคคลได้ โดยมิต้องนับระยะเวลาระหว่างที่มีการชะลอการไต่สวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2198