WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

แผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

Gov 04

แผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้ 

          1. รับทราบผลการดำเนินงาน การจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

          2. เห็นชอบแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนการดำเนินงานฯ) วงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,095.162 ล้านบาท และประมาณการรายได้ 1,095.460 ล้านบาท

          เรื่องเดิม

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 ธันวาคม 2565) ดังนี้

          1. รับทราบแผนปฏิบัติการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ (1) ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต (2) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ (3) กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (4) ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และ (5) การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานสากล

          2. เห็นชอบเแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,000.256 ล้านบาท ประมาณการรายได้ จำนวน 1,000.818 ล้านบาท

          สาระสำคัญของเรื่อง

          พน. รายงานว่า 

          1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีผลการดำเนินงาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

ผลการดำเนินงาน

(1) ส่งเสริมการมุ่งสู่พลังงานสะอาด

 

- กำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภาคประชาชนและโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT)1

- กำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff)2 เพื่อรองรับความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน

(2) เสริมสร้างประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการพลังงาน

 

- ร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างประเทศในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการพลังงานกับองค์กรระหว่างประเทศหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(3) ส่งเสริมการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

 

- กำกับดูแลการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

- ศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะ

(4) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรม

 

- ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าชธรรมชาติระยะที่ 2 โดยปรับปรุงข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าชธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม3

- ปรับปรุงข้อกำหนดการให้บริการสถานีเชื้อเพลิงธรรมชาติเหลว (LNG) แก่บุคคลที่สามเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตในกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าชธรรมชาติสามารถเช้าถึงโครงสร้างพื้นฐานกิจการก๊าซธรรมชาติได้อย่างเป็นธรรม

(5) กำกับอัตราค่าบริการพลังงานที่เหมาะสมกับต้นทุนการประกอบกิจการพลังงาน

 

- เพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ราคา LNG มีความผันผวนเนื่องจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน

- จัดสรรก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก

- พิจารณาปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น

- ทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

(6) สร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจการพลังงาน

 

- รับฟังข้อร้องเรียนจากผู้ใช้พลังงานที่ได้รับความเสียหาย เช่น ไฟตก ไฟดับ การเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ถูกต้อง

- เร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการข้อร้องเรียนแบบดิจิทัล

(7) เพิ่มขีดความสามารถทางดิจิทัลและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่หลากหลาย

 

- พัฒนาระบบการให้บริการอนุญาตการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าแบบออนไลน์ (e-Services)

- ทบทวนกระบวนการบริหารงานบุคคลโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้รองรับการทำงานแบบไฮบริด (รูปแบบการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกทำงานได้ทั้งจากที่บ้านหรือที่ทำงาน)

- ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความรู้เท่าทันเทคโนโลยี

การจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี .. 2566

(1) การจัดเก็บรายได้

 

- จำนวน 1,000.818 ล้านบาท ( วันที่ 30 กันยายน 2566)

(2) การใช้จ่ายงบประมาณ

 

- คาคว่าจะใช้จ่ายจำนวน 1,000.256 ล้านบาท ( วันที่ 30 กันยายน 2566) 

- คาดว่าจะนำเงินส่งคลังในปีงบประมาณ .. 2566 จำนวน 0.562 ล้านบาท (มาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน .. 2550 บัญญัติให้รายได้ของสำนักงาน กกพ. เมื่อหักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. และค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เหลือเท่าใดให้นำส่งคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน)

 

          2. ครั้งนี้ กกพ. ได้จัดทำแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ พ.ศ. 2567 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาของแผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

 

หัวข้อ

สาระสำคัญ

วิสัยทัศน์

กำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม

วัตถุประสงค์ที่ 1 ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

เป้าหมาย

กำกับดูแลการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ ทั่วถึง มีความมั่นคง รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

แนวทางการพัฒนา

(1) สนับสนุนการพัฒนาการมุ่งสู่พลังงานสะอาด

(2) เสริมสร้างประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการพลังงาน

ตัวชี้วัด

(1) ออกระเบียบและประกาศการกำกับการรับซื้อไฟฟ้าตามกรอบเวลาที่กำหนด

(2) มีระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ

ตัวอย่างแผนงาน/

โครงการที่สำคัญ

(1) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

(2) พัฒนาระบบข้อมูลการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ที่ 2 ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรม ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

เป้าหมาย

(1) ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 24

(2) ก้าวเข้าสู่การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

(3) อัตราค่าบริการพลังงานเหมาะสม/เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงาน

แนวทางการพัฒนา

(1) พัฒนาการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

(2) พัฒนาการกำกับกิจการไฟฟ้าเพื่อวางรากฐานด้านการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ตามแนวทาง 4D1E5

(3) กำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและส่งเสริมการวิเคราะห์ต้นทุนค่าบริการพลังงาน

ตัวชี้วัด

(1) พัฒนากฎระเบียบเพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซในระยะที่ 2

(2) พัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการซื้อขายจากพลังงานหมุนเวียน

(3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการพลังงานตามระยะเวลาที่กำหนด

ตัวอย่างแผนงาน/

โครงการที่สำคัญ

(1) ติดตาม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน

(2) โครงการพัฒนากฎระเบียบการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology)6

(3) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และศึกษา/ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าชธรรมชาติ

ให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2

วัตถุประสงค์ที่ 3 กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป้าหมาย

(1) สถานประกอบกิจการพลังงานมีมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐาน สิ่งแวดล้อมและมาตรฐานคุณภาพการให้บริการตามที่กำหนด

(2) มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานหมุนเวียน/

เทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

แนวทางการพัฒนา

(1) ปรับปรุงมาตรฐานการประกอบกิจการพลังงานให้ทันสมัย และผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และคุณภาพบริการ

(2) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

ตัวชี้วัด

1) สถานประกอบกิจการพลังงานมีมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานคุณภาพการให้บริการร้อยละ 100

(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดัชนี้ชี้วัดความยั่งยืนของโรงไฟฟ้า

ตัวอย่างแผนงาน/

โครงการที่สำคัญ

(1) ตรวจสอบ/ตรวจประเมินสถานประกอบกิจการไฟฟ้า คุณภาพการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า

(2) กำหนดเกณฑ์และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อนำร่องการทดสอบดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียน

วัตถุประสงค์ที่ 4 ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วมเข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เป้าหมาย

(1) ผู้มีส่วนได้เสียมีความพึงพอใจต่อการกำกับกิจการพลังงาน

(2) ยกระดับการคุ้มครองสิทธิ สร้างพันธมิตรเพื่อพัฒนางานคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

(3) ส่งเสริมชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น และมีระบบการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ทันสมัย

แนวทางการพัฒนา

(1) พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีระบบ เพื่อให้ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่นประชาชนและผู้รับใบอนุญาตมีส่วนร่วมได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน

(2) สร้างเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

(3) การบริหารจัดการที่ทันสมัยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ตัวชี้วัด

(1) ความพึงพอใจต่อการกำกับกิจการพลังงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าร้อยละ 85

(2) มีเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน จำนวน 15 จังหวัด

(3) การวางระบบการคัดเลือกโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม7

ตัวอย่างแผนงาน/

โครงการที่สำคัญ

1) พัฒนาระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และปรับปรุงกระบวนการจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมแบบครบวงจร

(2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับกิจการพลังงาน

(3) สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และกำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงาน

วัตถุประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาลและได้มาตรฐานสากล

เป้าหมาย

(1) องค์กรมีคะแนนผลประเมิน Integrity and Transparency Assessment (ITA) ระดับ AA (ในปิงบประมาณ .. 2565 ได้คะแนน ITA อยู่ในระดับ AA หรือ 96.32 คะแนน) และรักษาระบบคุณภาพองค์กรตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2015

(2) มีศูนย์ข้อมูลด้านการกำกับกิจการพลังงานภายในปี 2567

(3) พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการเรียนรู้จัดการให้บรรลุเป้าหมายองค์กร

แนวทางการพัฒนา

(1) พัฒนาองค์กรด้วยระบบบริหารงานคุณภาพและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

(2) เพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

(3) พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคล

(4) พัฒนาศักยภาพบุคลากรแบบ Multi skill เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจพลังงานใหม่

ตัวชี้วัด

(1) คะแนนผลประเมิน ITA ระดับ AA และได้รับการรับรองมาตรฐานการต่อต้านการรับสินบน และรักษาระบบคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรตามมาตรฐาน ISO

(2) มีระบบข้อมูลก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน

(3) ปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลตามแผนงาน

(4) บุคลากรเป้าหมายได้รับการอบรมและเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรแบบ Multi Skill เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจพลังงานใหม่ ร้อยละ 100

ตัวอย่างแผนงาน/

โครงการที่สำคัญ

(1) การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลขององค์กรตามเกณฑ์ ITA และจัดโครงการรักษาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน IS0

(2) การพัฒนาบุคลากรตามแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล และสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ

 

          3. สำนักงาน กกพ. ได้ประมาณการงบประมาณสำหรับการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน พัฒนาระบบการกำกับอัตราค่าบริการพลังงาน พัฒนากฎระเบียบการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,095.162 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงานรายปี จำนวน 1,095.460 ล้านบาท

_________________________

1FIT คือ มาตรการส่งสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อจูงใจผู้ประกอบการเอกชนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่าไฟฐานและค่า Ft ทำให้มีราคาที่ชัดเจนและเป็นธรรม

2ไฟฟ้าสีเขียว คือ ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม

3บุคคลที่สาม หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายอื่นที่ประสงค์เป็นผู้ใช้บริการ หรือผู้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายใต้ TPA Code : ข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม

4การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เป็นนโยบายที่ พน. ดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 (ระยะที่ 1) โดยมุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ การให้บริการ การจัดหาต้นทุน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ของประเทศ โดยมีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้เห็นชอบแนวทางระยะที่ 2 แล้ว โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน คือ ธุรกิจต้นน้ำ (จัดหาก๊าซธรรมชาติ) ธุรกิจกลางน้ำ (การแปรสภาพ การขนส่ง และการควบคุมคุณภาพ) และธุรกิจปลายน้ำ (การขายก๊าซธรรมชาติให้แก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมขาติ)

5นโยบายด้านพลังงานของ พน. เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน ประกอบด้วย 4D (Digitalization Decarbonization Decentralization De - regulation) และ1E (Electrification)

6นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่รูปแบบใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคจนสามารถแทนที่ผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีเดิมในตลาดได้ เช่น Grab ธุรกิจที่นำเอาการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ผนวกเข้าเป็นแพลตฟอร์มการเรียกรถแบบใหม่

7เป็นการดำเนินการตามมาตรา 97 (3) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติให้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2199

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C J

MTL 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

 

 

AXA 720 x100aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

SME 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

gen 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!