รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 February 2024 00:54
- Hits: 10660
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์ หดตัวร้อยละ 14.13 จากรถบรรทุกปิกอัพเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ ผลจากความเปราะบางด้านรายได้และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 16.38 จากทิศทางของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนประเภทสินค้าที่ผลิตจากสินค้าในกลุ่ม home-use (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในครัวเรือน) เพื่อจำหน่ายในช่วงโควิด มาผลิตในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมแทน เช่น ยานยนต์ IOT เป็นต้น ทำให้มีจำนวนผลิตลดลงแต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้น
3. เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน หดตัวร้อยละ 14.19 จากการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย และลูกค้าไม่มีคำสั่งซื้อ โดยลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกซื้อเหล็กนำเข้าซึ่งมีราคาถูกจากต่างประเทศทดแทน
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 29.91 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น แต่ปีนี้มีการผลิตตามปกติ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
2. เครื่องประดับเพชรพลอย ขยายตัวร้อยละ 12.91 จากสินค้าสร้อยและแหวนเป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ได้รับคำสั่งจากบริษัทแม่ให้ผลิตสินค้า 2 ชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปีนี้ผู้ผลิตมีวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2201