WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….

Gov 42

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้ 

          1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป 

          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

          ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เป็นการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่กำหนดให้จัดทำพระราชบัญญัติตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกของภาครัฐในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันและระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับสังคม กำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติในการคุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งใช้ในการประกาศพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และกำหนดให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้ประชาชนและชุมชนที่อยู่ภายในพื้นที่มีสิทธิอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติได้ตามวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของตน

          กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว รวมทั้งได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 11 ฉบับ

          สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

          1. คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

              1.1 กำหนดให้มี “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 8 คน [ได้แก่ (1) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2) ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (3) ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (4) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (5) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (6) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (7) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ (8) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ] กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 5 คน กรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยการสรรหาของสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย จำนวน 6 คน และกรรมการผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 2 คน และให้ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน (ศมส.) เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ ศมส. จำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

              1.2 กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ เช่น กำหนดนโยบายและมาตรการการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คำแนะนำแก่คณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติต่อไป จัดให้มีระบบและมาตรการในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

              1.3 กำหนดให้ ศมส. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

          2. สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย

              2.1 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ กับ ศมส. กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนกลุ่มชาติพันธุ์และการเลือก สมาชิกให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประกาศกำหนด โดยให้ที่ประชุมสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยประชุมกันเพื่อเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการ

              2.2 กำหนดให้สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับสังคม เสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพ พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนสมัชชาในการเข้าร่วมประชุมหรือมีบทบาทในฐานะตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

              2.3 กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารสมัชชา” ประกอบด้วย ประธานสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งที่ประชุมสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยเลือกจากสมาชิก และให้เลขานุการสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการของคณะกรรมการบริหารสมัชชา โดยคณะกรรมการบริหารสมัชชามีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารและดำเนินการของสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของตน

              2.4 กำหนดให้สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยแต่งตั้งคณะผู้อาวุโส ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หรือเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยในการดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และการดำเนินงานของสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประเด็นปัญหาที่ไม่สามารถหาข้อยุติในสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยได้ 

          3. ข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์

              3.1 กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์” ประกอบด้วยผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นประธานกรรมการ กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการ ศมส. จำนวน 1 คน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 3 คน [ได้แก่ (1) อธิบดีกรมการปกครอง (2) อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ (3) ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ] กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการบริหารสมัชชา จำนวน 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แต่งตั้ง จำนวน 7 คน และให้ผู้อำนวยการ ศมส. เป็นกรรมการและเลขานุการ 

              3.2 กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ชุมชน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรม และจิตวิญญาณ ข้อมูลบุคคล และข้อมูลวิถีชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรมและภาษา โดยการจัดทำ ข้อมูลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

                   (1) เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและมีการรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ 

                   (2) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล 

                   (3) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

                   (4) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศและเพิกถอนเขตพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดเพื่อการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการดำเนินกิจการอื่นของรัฐที่กระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

                   (5) เพื่อเผยแพร่การรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ประชาชนได้เกิดความตระหนักในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์

          4. พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

              4.1 กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีอำนาจกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยก่อนการประกาศพื้นที่ดังกล่าวให้ชุมชนจัดทำแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ ให้ ศมส. สนับสนุนชุมชนในการจัดทำแผนแม่บทและแผนที่ดังกล่าว โดยขอให้หน่วยงานของรัฐในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทและแผนที่ดังกล่าวด้วย

              4.2 เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของรัฐในพื้นที่และผู้แทนของชุมชนในพื้นที่ จํานวนไม่น้อยกว่า 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน โดยมีผู้แทนหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการ

              4.3 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีอำนาจหน้าที่จัดทำธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และพื้นที่สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงรักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภาษา มาตรการบังคับใช้ธรรมนูญพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ 4.1 รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ เช่น จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามแผนแม่บท เสนอแนะการปรับปรุงแผนแม่บทต่อคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

              4.4 ให้ประชาชนและชุมชนที่อยู่ภายในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามที่กำหนดในธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ 4.3 และไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่บุคคลใดได้ เว้นแต่การสืบทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม โดยสิทธิใช้ประโยชน์ดังกล่าว เช่น ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อการอยู่อาศัย การสาธารณูปโภค การเกษตรกรรม การประมง การเลี้ยงสัตว์ และการสาธารณะของชุมชน กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อการทำกินตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ปฏิบัติพิธีกรรมตามประเพณีและจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กำหนด

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

2202

Click Donate Support Web 

AXA 720 x100

Banner GPF720x100 PX

MTL 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

QIC 720x100

gen 720x100

CKPower 720x100

TOA 720x100

SME 720x100 66

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!