ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 February 2024 01:38
- Hits: 10932
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ กค. ได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรวม 2 ฉบับ ได้แก่
1. พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ได้กำหนดคำนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
1.1 คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (โดยผู้ถือ คริปโทเคอร์เรนซีจะได้ผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย)4
1.2 โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยโทเคนดิจิทัลแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้ 2 ประเภท ได้แก่
1) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) คือ โทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ (โดยผู้ถือโทเคนเพื่อการลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนแบ่งของกำไรและส่วนแบ่งรายได้)5
2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) คือ โทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ (โดยโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์จะเป็นการกำหนดสิทธิให้แก่ผู้ถือในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ตามที่ระบุเอาไว้ตามเงื่อนไขในการออกโทเคนดิจิทัล เช่น การแปลงคูปอง Voucher คะแนนสะสม บัตรเข้าชมงานต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ)6
2. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรตามลำดับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้และกำหนดให้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ ประกอบกับตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ปัจจุบันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. (ตลาดรอง)7 สามารถกระทำได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broken) และ 3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ต่อมา กค. โดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวม 2 ฉบับ ดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 744) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่กระทำในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยอันจะเป็นประโยชน์แก่การกำกับดูแลการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เป็นการกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวในขณะนั้น เพื่อรอการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ กค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) (อยู่ระหว่างดำเนินการ) ซึ่งจะมีการกำหนดให้โทเคนดิจิทัลบางลักษณะเป็นหลักทรัพย์ (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) อันจะส่งผลต่อภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของโทเคนดิจิทัลดังกล่าว อย่างไรก็ดี เพื่อให้การเสียภาษีมีความแน่นอน การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลไม่ควรมีกำหนดเวลา และหากการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วเสร็จ กรมสรรพากรจะสามารถปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้สอดคล้องกันต่อไปได้
2. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับการออกเสนอขายและการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในตลาดรอง ดังนี้
2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี อันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป
2.2 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ไม่ว่ากระทำในหรือนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมี ดังนี้
|
มูลค้าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการตัวกลาง (ล้านบาท) |
*หมายเหตุ |
||
Exchange |
Broker |
Dealer |
||
ปี 2565 |
1,014,301 |
118,126 |
984 |
มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน |
ปี 2566 |
296,094 |
88,567 |
3,122 |
ทั้งนี้ สำหรับจำนวนบัญชีซื้อขายใน Exchange ณ เดือนกันยายน 2566 มี 2,945,001 บัญชีแบ่งเป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว จำนวน 87,982 บัญชี และบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว จำนวน 2,857,019 บัญชี
กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมถึงนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ด้วย รวมทั้งปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโทเคนดิจิทัล (Token Digital) ในประเภทของโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ได้กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป กค. โดยกรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาด้วยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 744) พ.ศ. 2565 ซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขาย คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการโอนขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม สำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566 แล้ว ดังนั้น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการโอนขายโทเคนดิจิทัลจะเหลือเฉพาะการโอนขายดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ตามที่ กค. ได้เสนอมาในครั้งนี้
เดิม |
ร่างฯ ที่ กค. เสนอมาในครั้งนี้ |
|
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 744) พ.ศ. 2565 |
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... |
|
● ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะใน Exchange เท่านั้น |
● ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่ได้โอนขายผ่านตัวกลาง ดังนี้ 1) Exchange 2) Broker 3) Dealer |
|
● ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 |
● ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป |
กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. ประมาณการการสูญเสียรายได้
1) การขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมจากที่สูญเสียอยู่ในปัจจุบัน
2) การขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมถึงการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้และโดยผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมไม่มากเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายรับของผู้ขายต้องถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณปีละ 70 ล้านบาท
2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
2) การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
3) นักลงทุนในประเทศไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้น
4) ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
1. ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ |
● บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล |
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี |
● ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ร้อยละ 7) สำหรับกรณีดังต่อไปนี้ 1) โอนขายทริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่กระทำในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2) โอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่กระทำผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3) โอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ให้แก่ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ซื้อ) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 4) โอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่กระทำโดยผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ขาย) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล |
3. ระยะเวลาบังคับใช้ |
● ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป |
_________________________
1 เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายในการซื้อหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (กระดานเทรด) โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญามาให้หรือการจัดระเบียบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถกระทำการดังกล่าว ได้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB) และบริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ จำกัด (WAANX)
2 เป็นผู้ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่คนอื่น เป็นการค้าปกติ โดยอาจจะมีการส่งคำสั่งไปที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น บริษัท ฟินันเซีย ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (FDA) และบริษัท อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (INVX)
3 เป็นผู้ให้บริการหรือแสดงความพร้อมในการบริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเอง เป็นการค้าปกติโดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XSPRING) และบริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (COINS TH)
4 สกุลเงินดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยแต่ละสกุลจะเรียกเป็นเหรียญ (coin) เช่น บิตคอยน์ [Bitcoin (BTC)] ไบแนนซ์ [Binance (BNB)] และ อีเทอเรียม [Ethereum (ETH)]
5 โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เช่น เหรียญบุพเพสันนิวาสโทเคน (Destiny Token) และ เหรียญสิริ ฮับ โทเคน (Siri Hub Token)
6 โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ เช่น เจฟินคอยน์ (JFin Coin) เป็นโทเคนดิจิทัลของบริษัทในกลุ่ม Jaymart ระดมทุนผ่าน ICO [การเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่อประชาชน [Initial Coin Offering)] เพื่อนำไปพัฒนาระบบ Decentralized Digital Landing Platform (DDLP) หรือการให้คนกู้เงินดิจิทัลผ่านระบบบดิจิทัล โดยการระดมทุนผ่าน ICO ซึ่งบริษัท JVentures (JVC) เป็นคนขายเหรียญ JFIN Coin ให้กับผู้ลงทุน แล้วเอาเงินจากการระดมทุนไปให้ลูกค้าในกลุ่ม (JFintech) ใช้ในการพัฒนา DDLP ต่อไป ทั้งนี้ลูกค้าที่ถือเหรียญ JFIN Coin ก็อาจจะมาใช้เหรียญที่ตนถือในการเข้าใช้ประโยชน์ใน DDLP ได้ด้วย เช่น การแลกของรางวัลแปลงคูปอง Voucher เป็นต้น
7 ตลาดรอง คือ เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายเปลี่ยนมือตราสารทางการเงินรวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างผู้ลงทุนด้วยกันเองซึ่งได้ซื้อขายผ่านตลาดแรกมาแล้ว ตัวอย่างตลาดรองของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิทคับ (แพลตฟอร์มของไทย) และไบแนนซ์ (แพลตฟอร์มต่างประเทศ) ส่วนตลาดแรก คือ ICO การเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่อประชาชน เป็นแพลตฟอร์มแรกในการทำธุรกรรมเพื่อระดมทุนสร้างสินทรัพย์ทางการเงินรวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล (ทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น) โดยมีผู้ต้องการลงทุนเป็นผู้ซื้อเพื่อจะนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือต่อเพื่อแสวงหาผลกำไร ซึ่งจะต้องซื้อขายตลาดแรกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 กุมภาพันธ์ 2567
2211