ผลการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค กรุงเทพมหานคร - UNDP (Bangkok - UNDP Regional Innovation Center: RIC) หรือห้องป
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 February 2024 23:13
- Hits: 10575
ผลการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค กรุงเทพมหานคร - UNDP (Bangkok - UNDP Regional Innovation Center: RIC) หรือห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย (Thailand Policy Lab: TPLab) ประจำปี 2565 ความก้าวหน้าของกิจกรรมประจำปี 2566 และการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ อนุมัติ และเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาคกรุงเทพมหานคร - UNDP (Bangkok - UNDP Regional Innovation Center: RIC) หรือห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย (Thailand Policy Lab: TPLab)1 ประจำปี 2565 (โครงการความร่วมมือศูนย์ RIC) และความก้าวหน้าของกิจกรรมประจำปี 2566
2. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC อีก 7 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC (จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) เป็นวันที่ 30 กันยายน 2567 ภายใต้กรอบวงเงินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม
3. เห็นชอบร่างเอกสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างเอกสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ สศช. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
4. อนุมัติให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในหนังสือความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ของฝ่ายไทย พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนาม
(ความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC จะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567)
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. โครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ได้เริ่มดำเนินงานภายหลังจากการลงนามความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยรัฐบาลไทยได้สนับสนุนค่าบำรุงประจำปี จำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ UNDP เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2565 ซึ่ง สศช. ได้รายงานความก้าวหน้าให้แก่คณะกรรมการกำกับโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC และคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะแล้ว
2. ในครั้งนี้ สศช. ได้รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ประจำปี 2565 และความก้าวหน้าของกิจกรรมประจำปี 2566 ตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC สรุปได้ ดังนี้
กรอบการดำเนินกิจกรรม |
การดำเนินการ / กิจกรรม ปี 2565-2566 |
|
เสาหลักที่ 1 : การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย |
||
(1) การศึกษาแนวทางการเพิ่มสัดส่วนของประชากรวัยเยาว์ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
- ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการอบรมกระบวนการออกแบบเชิงระบบและการวิเคราะห์ ส่วนประกอบในกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ ควบคู่กับการทดลองใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะ 8 ขั้นตอน (Public Policy Process Reimagined 8 Elements in Action)2 โดยในระยะแรกมุ่งเน้นการทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องการมีครอบครัวและการมีบุตรทั้งในเชิงนโยบายและปัจจัยส่วนบุคคล โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาและความต้องการต่างๆ เมื่อตัดสินใจมีครอบครัวหรือมีบุตร - หารือและเปลี่ยนข้อค้นพบต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและสำรวจความเป็นไปได้ในการยกระดับการแก้ปัญหาข้างต้นเพื่อเตรียมรับมือกับความซับซ้อนและความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและออกแบบทางเลือกของนโยบายต่อไป |
|
(2) การออกแบบนโยบายสำหรับเยาวชนโดยเยาวชน |
ให้เยาวชนร่วมกันออกแบบนโยบายด้านสุขภาพจิต ที่ดี ทำให้ได้รับข้อเสนอที่ครอบคลุมทั้งมิติการป้องกัน การเยียวยารักษา การสร้างความตระหนักรู้ และการสร้างอนาคตของการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีต่อสุขภาพจิตเยาวชน ทั้งนี้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2566-2567 ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ Inskru (แพลตฟอร์มที่รวบรวมและแบ่งปันแนวคิดกิจกรรม สื่อ และเทคนิคการสอนต่างๆ) สตาร์ทอัพ เพื่อทำการศึกษาและต่อยอดข้อเสนอข้างต้นไปสู่ขั้นตอนการทดสอบนโยบาย (Sandbox) กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูและกรุงเทพมหานคร |
|
(3) การใช้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายและบริการสุขภาพ |
จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบบริการและนโยบายสุขภาพ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Health Service Design Thinking Workshop)” ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดราชบุรี โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละพื้นที่ร่วมกันออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เพื่อนำไปปรับระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ทั่วถึง และเท่าเทียม |
|
เสาหลักที่ 2 : การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย |
||
1) การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายให้เป็นที่รู้จักในภาคการศึกษา |
เผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (สาขาวิชานโยบายสาธารณะ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จำนวน 30 คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 50 คน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 200 คน และวิชาการสร้างสรรค์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 10 คน) โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ร่วมกันออกแบบนโยบายที่นำเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายมาประยุกต์ใช้3 |
|
(2) การออกแบบและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ร่วมกับภาคีเครือข่าย |
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำนวัตกรรมเชิงนโยบายไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ และการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น - หลักสูตรปริญญาตรี วิชา Integrated Policy Making and Practice คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2566 โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นการให้ความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีและกรอบการวิเคราะห์สำหรับการกำหนดนโยบายในบริบททางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมถึงแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบของนโยบาย - หลักสูตรวิชานโยบายสาธารณะ และการวิเคราะห์และประเมินนโยบายสาธารณะวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2566 โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นการให้แนวคิดในการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ รวมถึงผลกระทบของนโยบายสาธารณะ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายในช่วงเวลาต่างๆ อย่างเหมาะสม - หลักสูตรโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 16 ของสำนักงาน ก.พ.ร. ปี 2566-2567 หลักสูตรดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ข้าราชการในโครงการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความสามารถเป็นทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนาและวางแผน นักปฏิบัติ และการบริหารจัดการองค์การได้อย่างสมดุล |
|
(3) การอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพของผู้วางแผน นโยบาย/ยุทธศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐ |
- การอบรมเครื่องมือการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยความร่วมมือกับ Civil Service College International (Singapore) ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 โดยผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ และสร้างทักษะที่จำเป็นในการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะตามพันธกิจของแต่ละองค์กรได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบมากขึ้น - การอบรมเครื่องมือการคาดการณ์อนาคตสำหรับการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์ (Foresight in Policymaking Masterclass) โดยร่วมมือกับ Lee Kuan Yew School of Public Policy (LKYSPP), National University of Singapore โดยผู้เข้าร่วมได้ศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิดและวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อค้นหาและวิเคราะห์สัญญาณแห่งอนาคตและแรงขับเคลื่อนต่างๆ ที่จะช่วยจำลองภาพอนาคตเพื่อช่วยในการวางแผนและนโยบายของประเทศไทยต่อไป |
|
เสาหลักที่ 3 : การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย |
||
(1) งานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรม เชิงนโยบาย |
จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “คิดนโยบายแนวใหม่ในโลกที่ซับซ้อน : แนวคิดเชิงระบบและประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Reimagine Policymaking: Systems Approach and People - Centered Design)” เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมภายในงานและผ่านทางระบบออนไลน์กว่า 3,500 คน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างภาคีเครือข่ายในการต่อยอดการพัฒนาและทดลองใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะ 8 ขั้นตอน |
|
(2) การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายผ่านกิจกรรมเส้นทางสานฝันนโยบายให้แก่ผู้กำหนดนโยบายระดับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน |
จัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “เส้นทางสานฝันนโยบาย : นวัตกรรมนโยบายเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน กรณีศึกษา : การท่องเที่ยวชุมชนบริเวณแม่น้ำป่าสัก” ณ จังหวัดสระบุรี และจัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “เส้นทางสานฝันนโยบาย: นวัตกรรมนโยบายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา: นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ณ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทดลองใช้เครื่องมือเชิงนวัตกรรมในการออกแบบแนวทางเพื่อพัฒนาแผนงาน โครงการ และการปฏิบัติงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้มีความครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น |
|
(3) การพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อการมีส่วนร่วม |
พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเชิงนโยบายเสมือนจริง (Virtual Policy Innovation Platform) ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเป็นช่องทางสื่อสารที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการออกแบบนโยบายสาธารณะ โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มนโยบายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน 2566 |
|
(4) การสื่อสารสาธารณะและการจัดการความรู้ |
จัดทำและสังเคราะห์องค์ความรู้ ทั้งประเด็นนวัตกรรมเชิงนโยบายและองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC และได้สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโครงการฯ ได้แก่ Website Facebook page Instagram ของโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC โดยมีผู้เข้าชม 731,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2566) |
3. สศช. แจ้งว่า การดำเนินการในระยะต่อไป สศช. และ UNDP จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาและทดลองใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะ 8 ขั้นตอน โดยมุ่งเน้นการนำร่องการบูรณาการนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อทดสอบกระบวนการนโยบายสาธารณะให้ครบทั้ง 8 ขั้นตอน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการออกแบบและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่สามารถสร้างต้นแบบของนวัตกรรมเชิงนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคู่มือที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้และให้คำแนะนำในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ได้ซึ่งจะช่วยยกระดับการทำงานของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของแต่ละเสาหลักในปี พ.ศ. 2567 สรุปได้ ดังนี้
กรอบการดำเนินกิจกรรม |
การดำเนินการ / กิจกรรม ปี 2567 |
|
เสาหลักที่ 1 การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนา นวัตกรรมเชิงนโยบาย |
- การเสนอทางเลือกของนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนประชากรวัยเยาว์ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ - การต่อยอดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพจิตไปสู่การทดสอบนโยบาย (Sandbox) กับโรงเรียนในจังหวัดหนองบัวลำภูและกรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ปี 2567 - นำร่องการบูรณาการนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อทดสอบกระบวนการนโยบายสาธารณะให้ครบทั้ง 8 ขั้นตอนในระดับท้องถิ่น และการจัดทำคู่มือที่รวบรวมองค์ความรู้และคำแนะนำในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อเผยแพร่ให้ภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนนโยบายสาธารณะของไทยนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป |
|
เสาหลักที่ 2 การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย |
- การดำเนินงานภายใต้หลักสูตรโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 16 ของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อเนื่องจากปี 2566 - การเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หลักสูตรวิชานโยบายสาธารณะ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
|
เสาหลักที่ 3 การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย |
- การจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมเชิงนโยบาย (PIX) ครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในหัวข้อ “Thailand’s Journey to Reimagining and Transforming Policymaking” - การพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อการมีส่วนร่วม โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อทดสอบการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการใช้งานอย่างมีส่วนร่วมและต่อยอดไปสู่การเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพของผู้ใช้งานที่เป็นภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ จะเริ่มทดสอบการใช้งานกับประเด็นนำร่องภายใน ช่วงต้นปี 2567 |
4. โดยที่ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือศูนย์ RIC จะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567ดังนั้น คณะกรรมการกำกับโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วม ในคราวประชุมครั้งที่ 4 (2/2566) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ออกไปอีก 7 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC เป็นวันที่ 30 กันยายน 2567 ภายใต้กรอบวงเงินโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ที่ได้รับอนุมัติไว้เดิมเนื่องจากยังคงมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกับภาคีการพัฒนาที่มีศักยภาพ และถอดบทเรียนจากการใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายในการดำเนินงานให้เสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายในการออกแบบนโยบายระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC
5. จากเหตุผลข้างต้น (ตามข้อ 4) สศช. จึงได้จัดทำร่างเอกสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือศูนย์ RIC 4 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของ TPLab เกิดประโยชน์สูงสุดและมีการใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่าภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม
__________________
1 โครงการความร่วมมือ RIC หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่าห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย (TPLab) มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและกำหนดนโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและเท่าทันความท้าทายใหม่ๆ เสริมสร้างศักยภาพของผู้ออกแบบและกำหนดนโยบายสาธารณะและส่งต่อเครื่องมือและความรู้ให้กับประเทศในเอเชียแปซิพิกและภูมิภาคอื่นๆ
2 กระบวนการนโยบายสาธารณะ 8 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) ทำความเข้าใจบริบทของปัญหา และสำรวจเส้นทางนโยบายที่ผ่านมา (2) เชื่อมโยงระบบของปัญหา (3) พัฒนาเจตนาและจุดมุ่งหมาย เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหาที่ต้องการแก้ไข (4) สำรวจและเรียนรู้ความเป็นไปได้และแนวทางการแก้ไขปัญหา (5) คิดพัฒนาไอเดียเชิงนโยบาย (6) ประเมิน ทดสอบ และทดลองนโยบาย (7) วางแผนการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ (8) ติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบาย
3 อาทิ การวิเคราะห์เหตุและผลตามลำดับชั้น (Causal Layered Analysis: CLA) การวิเคราะห์ความหวังและความกลัว (Hope and Fear Analysis) การประเมินความเป็นไปได้ของแนวคิดเบื้องต้นในการกำหนดนโยบาย ด้วยสามเหลี่ยมแห่งอนาคต (Future Triangle) และแบบจำลององค์ประกอบสำคัญของนโยบาย (Policy Canvas)
4 ความตกลงว่าด้วยโครงการความร่วมมือ RIC ข้อ 12 กำหนดให้ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามและมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี เว้นแต่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นชอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีการขยายระยะเวลาออกไป (ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั้งหมดของความตกลงจะไม่เปลี่ยนแปลงและยังคงมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2433