รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 February 2024 00:17
- Hits: 10833
รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างเต็มศักยภาพเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุด
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางในช่วงเดือนมีนาคม หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม และจะเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน
ความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนฟ้าคะนองในบางแห่ง ในช่วงวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2567 ความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเข้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์
(1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567) มีปริมาณน้ำ 56,021 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) (68%) น้อยกว่าปี 2566จำนวน 4,112 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การ 31,809 ล้าน ลบ.ม. (55%) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
(2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค. 67) จะมีปริมาณน้ำ 17,538 ล้าน ลบ.ม. (37%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 249 ล้าน ลบ.ม.
ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย. 69) จะมีปริมาณน้ำ 30,464 ล้าน ลบ.ม. (64%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 2,385 ล้าน ลบ.ม.
(3) การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve) ภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และอ่างเก็บน้ำสิรินธร ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชลและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
3. สถานการณ์แม่น้ำโขง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต และมีแนวโน้มทรงตัว
4. คุณภาพน้ำ
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และแจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำในช่วงวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2567 ในพื้นที่ดังนี้
(1) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
(2) เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตรแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี แม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม แม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม แม่น้ำบางปะกงในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
5. การติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 และรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกเดือน สรุปได้ ดังนี้
(1) เฝ้าระวังและเตรียมพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงรายเดือน และเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ 718 เครื่อง และปริมาณน้ำสูบช่วยเหลือแล้ว 4.54 ล้านลูกบาศก์เมตร
(2) ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 4 หน่วย (เชียงใหม่ นครสวรรค์ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์) ขึ้นปฏิบัติการ 6 เที่ยวบิน มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ 6.50 ล้านไร่ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีแผนเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ดำเนินการเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง เมษายน 2567 จำนวน 507 แห่ง แบ่งเป็น ระบบสระ 2 แห่ง ระบบบ่อวงคอนกรีต 505 แห่ง
(3) กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง แผนทั้งฤดูแล้ง จำนวน 16,009 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลจัดสรรน้ำ (ณ 9 กุมภาพันธ์ 2567) จำนวน 9,189 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของแผนทั้งฤดู และแผนเพาะปลูกพืชทั้งฤดูแล้ง จำนวน 10.66 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว (ณ 7 กุมภาพันธ์ 2567) จำนวน 11.55 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 108 ของแผนทั้งฤดู โดยแบ่งเป็นนารอบที่ 2 จำนวน 10.21 ล้านไร่ (แผน 8.13 ล้านไร่) และพืชไร่พืชผัก จำนวน 1.34 ล้านไร่ (แผน 2.53 ล้านไร่)
(4) บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กำหนดแผนการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำ ผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ
(5) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน โดยหน่วยงานประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ การประหยัดน้ำในภาครัฐ และการใช้ระบบ 3R ในภาคอุตสาหกรรมพร้อมวางแผนลดการสูญเสียในระบบท่อ
(6) เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ ตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลัก สายรอง 50 แห่ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 9 แห่ง ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปกติ พร้อมเฝ้าระวัง ตรวจวัด และควบคุมคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งของอุตสาหกรรม และเตรียมปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีนที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทำให้ค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน ในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
(7) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนและองค์กรผู้ใช้น้ำ หน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำพร้อมรับฟังและร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน จำนวน 11,731 ราย และมีแผนดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง 5 ชุมชน ประชาชน จำนวน 5,540 ราย
(8) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ ทางเว็บไซต์ ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ร่วมกับสำนักข่าวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จำนวน 12,085 ครั้ง
(9) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงที่มีแนวโน้มขาคแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเดือนธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน พื้นที่ 20 จังหวัด 34 อำเภอ 54 ตำบล เพื่อรับฟังสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร พร้อมกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการช่วยเหลือทั้งระยะเร่งด่วนและแผนงานโครงการในระยะยาว
6. การลงพื้นที่ตรวจราชการ
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านชลประทานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนที่วางไว้ จำเป็นต้องปรับแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 เพิ่มเติมจากแผนเดิม 6,100 ล้าน ลบ.ม. เป็น 8,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวไม่ให้เกิดความเสียหายจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ตามนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 4,373 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น ร้อยละ 50 ของแผนฯ (8,700 ล้าน ลบ.ม.) คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จะมีน้ำใช้การได้ในลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 4,715 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวมีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอด ช่วงต้นฤดูฝนนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จไม่ทำนาปรังรอบ 2 เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และช่วยลดผลกระทบต่อการใช้น้ำโดยรวมของลุ่มเจ้าพระยา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 กุมภาพันธ์ 2567
2439