รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 14 - 19 กุมภาพันธ์ 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 21:53
- Hits: 10013
รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 14 - 19 กุมภาพันธ์ 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุด
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 14 - 19 กุมภาพันธ์ 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงจะอ่อนกำลังลงและจะกลับเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ด้วยความน่าจะเป็นร้อยละ 68
ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออก ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ และการคาดการณ์
(1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567) มีปริมาณน้ำ 55,029 ล้านลูกบาศก์เมตร (67%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 3,979 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 30,818 ล้านลูกบาศก์เมตร (53%) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกัก จำนวน 28 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 8 แห่ง และภาคตะวันตก 11 แห่ง
(2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พฤษภาคม 2567) จะมีปริมาณน้ำ 17,538 ล้าน ลบ.ม. (37%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 249 ล้าน ลบ.ม.
ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567) จะมีปริมาณน้ำ 30,464 ล้าน ลบ.ม. (64%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 2,385 ล้าน ลบ.ม.
(3) การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve) ภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และอ่างเก็บน้ำสิรินธร ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานและอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชลและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
3. สถานการณ์แม่น้ำโขง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต และมีแนวโน้มทรงตัว
4. คุณภาพน้ำ
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ได้ติดตามและเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำในช่วงวันที่ 9 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ในพื้นที่ดังนี้
(1) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
(2) เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตรแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี แม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม แม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม แม่น้ำบางปะกงในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
นอกจากนี้ สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำเค็มจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอย่างใกล้ชิด โดยน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงวันที่ 21 - 25 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทานในการปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหกเพื่อควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล ไม่ให้เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร ในช่วงวันดังกล่าว และมอบหมายให้การประปานครหลวงและกรมชลประทาน เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการ Water Hammer Operation เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มรุกเข้าแม่น้ำสายหลัก
5. การลงพื้นที่ตรวจราชการ
(1) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ระหว่างวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่พบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำไม่มีแหล่งน้ำอื่นสำรอง ระบบกระจายน้ำไม่ครอบคลุมในพื้นที่ ลำน้ำตื้นเขิน สทนช. จึงได้เสนอแนวทางการแก้ไขระยะสั้น พร้อมทั้งได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน บูรณาการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว โดยจะมีการจัดทำแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำแลัง น้ำท่วม และคุณภาพอย่างเป็นระบu (Area Based) และสอดคล้องกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ โดยจะใช้รูปแบบแม่ฮ่องสอนโมเดล เป็นต้นแบบ รวมถึงเน้นการดำเนินการการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศด้านต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืนต่อไป
(2) นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการพื้นที่เขตหนองหารและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่หนองหาร ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ จังหวัดสกลนคร โดยเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องเขตหรือพื้นที่ทับซ้อน และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่หนองหารให้สามารถรองรับน้ำและกระจายน้ำได้อย่างเหมาะสม ป้องกันภัยน้ำท่วม ภัยแล้งได้ อีกทั้งได้แนะนำให้ปล่อยพันธุ์ปลาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน และปล่อยพันธุ์ปลาที่เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
6. ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำ และมาตราการรับมือฤดูฝน ปี 2566
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้น โดยที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พิจารณาดำเนินการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแทนการจ่ายค่าชดเชย เพิ่มความแม่นยำของการคาดการณ์และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเดิมของหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำโดยพัฒนาระบบระบายน้ำและที่เก็บน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ สทนช. ได้กำหนด (ร่าง) มาตรการฤดูฝน ปี 2567 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบโดยการปรับปรุงแนวทางการดำเนินการจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2689