ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 February 2024 22:33
- Hits: 10052
ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการด้วย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ รง. เสนอ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 เพื่อปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายผ่านกองทุนเงินทดแทนที่นายจ้างจ่ายให้แก่ประกันสังคม จากเดิม “50,000 บาท” เป็น “65,000 บาท” และแก้ไขลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ (ของเดิมจะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อเป็นการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ที่จะต้องจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานะของกองทุนเงินทดแทน จึงไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงแรงงาน ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาล ที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 |
ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาล ที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... |
|
ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท |
ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท |
|
ข้อ 3 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้ ... (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ |
ข้อ 3 ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีกไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้ ... (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 20 กุมภาพันธ์ 2567
2698