แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 22:57
- Hits: 9516
แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 พฤศจิกายน 2566) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่าปัจจุบันการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้เติบโตต่อไป สมควรจะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม และกำกับดูแลการประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยอย่างเป็นระบบครบวงจรเป็นการเฉพาะ โดยมอบหมายให้ อก. รับเรื่องนี้ไปประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความจำเป็น เหมาะสม และเป็นไปได้ในการยกระดับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและจัดตั้งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องนี้อย่างครบวงจรเป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในภูมิภาคนี้ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการยกระดับหน่วยงานในการส่งเสริมและกำกับดูแลอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทย อก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินการหารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อวางกลไกขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ประกอบด้วย แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล ในรูปแบบศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล (ระยะสั้น) ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) โดยทั้งสองแนวทางเห็นควรมีข้อเสนอกลไกการบริหารงานที่จะต้องมีผู้แทนการค้าไทยด้านฮาลาล (Halal Thai Trade Representative: HTTR) เพื่อเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ ท่าที ของรัฐบาลตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งจะทำให้กลไกการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. อก. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) (คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ) ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลเสนอแนะสิทธิประโยชน์ให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพ มาตรฐาน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
3. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง กอฮช. และเห็นชอบแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล
4. อก. ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอจัดตั้ง กอฮช. เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
4.1 ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
(1) หลักการและเหตุผล |
(1.1) สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารฮาลาลธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย (เติบโตร้อยละ 12.5) เป็นต้น และกลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป (เติบโตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.6) เป็นต้น โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราและเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 (มีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน) สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่งที่มีมากกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งด้านสินค้าและบริการโดยเฉพาะสินค้าอาหาร เนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างบูรณาการและเป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป (1.2) ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับฮาลาลกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ เช่น กษ. (กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) อก. (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุม/ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ |
|
(2) วิสัยทัศน์ |
ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 |
|
(3) วัตถุประสงค์ |
(3.1) เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ของฮาลาลของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน (3.2) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power ของไทย (3.3) เพื่อลดข้อจำกัดและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งบูรณาการการทำงานหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล |
|
(4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม |
(4.1) อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (เช่น Snack Bar) (4.2) แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง (4.3) ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล (4.4) โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง (4.5) บริการและท่องเที่ยวฮาลาล |
|
(5) ตัวชี้วัด (ระยะ 5 ปี) |
(5.1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (5.2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571 |
|
(6) มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ |
(6.1) มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ (6.2) มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก (6.3) มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Ecosystems) ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center) (ศูนย์ฯ) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย |
|
(7) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ |
(7.1) ในปีแรกใช้พื้นที่ของสถาบันอาหารเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ฯ ภายใต้ อก. (อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ : สถาบันอาหาร) และในระยะต่อไป ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามตัวชี้วัด เพื่อยกระดับจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกรม หรือองค์การมหาชน ตามความเหมาะสมต่อไป (7.2) องค์ประกอบของศูนย์ฯ ประกอบด้วย ผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในส่วนของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้ยืมตัวข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทอำนวยการหรือบริหารใน อก. เพื่อปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ในระยะทดลอง 1 ปี) สำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ให้ยืมตัวข้าราชการ พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง [ตามข้อ (1.2)] (ในระยะทดลอง 1 ปี) (7.3) โครงสร้างของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน |
|
(8) ตัวชี้วัดการดำเนินงานในระยะ 1 ปีแรก |
(8.1) การจัดงานเปิดตัว (Kick Off) อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อแสดงศักยภาพสินค้าฮาลาลไทย จำนวน 1 ครั้ง (กำหนดจัดในเดือนมีนาคม 2567) (8.2) การจัดทำกรอบความร่วมมือและเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย จำนวน 2 กรอบความร่วมมือ (8.3) การขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยเข้าร่วมงาน Halal Fair ในประเทศไทย จำนวน 2 ครั้ง และร่วมงานแสดงสินค้าฮาลาล (Halal Expo) ในต่างประเทศ จำนวน 2 ครั้ง (8.4) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) จำนวน 1 ระบบ (8.5) การจัดตั้งศูนย์ฯ และศึกษารูปแบบองค์กรที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลในอนาคต โดย อก. จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ฯ และกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ และประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานในระยะ 1 ปีแรกเพื่อปรับบทบาทหน่วยงานตามความเหมาะสมในระยะต่อไป |
|
(9) งบประมาณ |
วงเงินจำนวน 1,230 ล้านบาท |
|
(10) ระยะเวลา |
5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ 2567 - 2571) |
4.2 การจัดตั้ง กอฮช.
4.2.1 องค์ประกอบ ประกอบด้วย 1) รองนายกรัฐมนตรี (ที่กำกับการบริหารราชการ อก. หรือผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล) ประธานกรรมการ 2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รองประธานกรรมการ 3) กรรมการจากภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 คน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
4.2.2 หน้าที่และอำนาจ เช่น
(1) กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย เพื่อส่งเสริมการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
(2) บูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานและงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล
(3) กำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการและองค์กร ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ
(4) ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
5. การดำเนินการในระยะต่อไป อก. จะได้ขับเคลื่อนตามแนวทางข้างต้น ดังนี้
5.1 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) หรือมอบหมายผู้แทนการค้าไทยท่านใดท่านหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทาง และกำกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ รวมถึงพิจารณาองค์ประกอบของ กอฮช. และพิจารณาให้มีคำสั่งแต่งตั้ง กอฮช. ตามขั้นตอนต่อไป
5.2 นำเรื่องการจัดตั้งศูนย์ฯ และกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ เสนอสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา และประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานในปีแรกเพื่อปรับบทบาทหน่วยงานตามความเหมาะสมในระยะต่อไป
5.3 นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
6. การดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกระตุ้นการบริโภค การลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ภายใน 5 ปี ส่งผลให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571 และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2950