การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2567 - 2569
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 23:18
- Hits: 9810
การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2567 - 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก1 [World Trade Organization (WTO)] โดยให้เปิดตลาด 1 ปี (ปี 2567) สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ) เสนอ ดังนี้
ชนิดสินค้าเกษตร |
ปริมาณโควตา (ตันต่อปี) |
อัตราภาษี |
1. เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ |
3.15 |
- ในโควตาร้อยละ 0 - นอกโควตาร้อยละ 218 |
2. หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผง และไม่เป็นผง) |
1,256.50 |
- ในโควตาร้อยละ 27 - นอกโควตาร้อยละ 142 |
3. หัวพันธุ์มันฝรั่ง |
ไม่จำกัดจำนวน |
- ในโควตาร้อยละ 0 - นอกโควตาร้อยละ 125 |
4. หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป |
ปี 2567 จำนวน 75,500 |
- ในโควตาร้อยละ 27 - นอกโควตาร้อยละ 125 |
และให้คณะกรรมการฯ รับไปพิจารณาหารือเรื่องความเหมาะสม ราคา ช่วงระยะเวลาการนำเข้าไม่ให้กระทบกับการผลิตสินค้าของไทย
ทั้งนี้ การบริหารการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและการกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง (คณะอนุกรรมการ)
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ รายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 - 2569 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ซึ่งมีปริมาณโควตาและอัตราภาษีแตกต่างจากที่ผูกพันไว้กับ WTO โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ปริมาณโควตาและอัตราภาษี
ชนิดสินค้าเกษตร/รายการ |
ที่ผูกพันตามกรอบ WTO2 |
ที่ขอเปิดตลาดในครั้งนี้ |
1) เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ |
||
ปริมาณโควตา (ตันต่อปี) |
3.15 |
|
อัตราภาษีในโควตา |
ร้อยละ 30 |
ร้อยละ 01 |
อัตราภาษีนอกโควตา |
ร้อยละ 218 |
|
2) หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) |
||
ปริมาณโควตา (ตันต่อปี) |
365 |
1,256.502 |
อัตราภาษีในโควตา |
ร้อยละ 27 |
|
อัตราภาษีนอกโควตา |
ร้อยละ 142 |
|
3) หัวพันธุ์มันฝรั่ง |
||
ปริมาณโควตา (ตันต่อปี) |
302 |
ไม่จำกัดจำนวน3 |
อัตราภาษีในโควตา |
ร้อยละ 27 |
ร้อยละ 03 |
อัตราภาษีในนอกโควตา |
ร้อยละ 125 |
|
4) หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป |
||
ปริมาณโควตา (ตันต่อปี) |
302 |
ปี 2567 จำนวน 75,500 |
อัตราภาษีในโควตา |
ร้อยละ 27 |
|
อัตราภาษีนอกโควตา |
ร้อยละ 125 |
หมายเหตุ : 1เป็นการขอลดอัตราภาษีในโควตาจากที่ผูกพันไว้ภายใต้กรอบความตกลง WTO เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงและราคาถูกเพื่อใช้ในการเพาะปลูกหอมหัวใหญ่สำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ
2เป็นการขอเพิ่มปริมาณโควตาการนำเข้าจากที่ผูกพันไว้ภายใต้กรอบความตกลง WTO เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตหอมหัวใหญ่ชนิดหั่นผงและหั่นแห้งได้ และมีความจำเป็นต้องนำเข้าเพราะเป็นส่วนผสมของสินค้าแปรรูป เช่น ผงชูรสในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีความต้องการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องเพิ่มปริมาณโควตาให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าว
3ปริมาณโควตาและอัตราภาษีในโควตาไม่เป็นไปตามกรอบความตกลงที่ผูกพันไว้กับ WTO เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้มีหัวพันธุ์มันฝรั่งทันกับฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกรและมีผลผลิตเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อเพาะปลูกทุกปี การไม่เก็บภาษีจึงช่วยลดภาระต้นทุนของเกษตรกรลงได้
1.2 การบริหารการนำเข้า
ชนิดสินค้าเกษตร |
การบริหารการนำเข้า |
|
1) เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ |
ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ |
|
2) หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) |
ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้บริหารการนำเข้า เพื่อจัดสรรให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ |
|
3) หัวพันธุ์มันฝรั่ง |
อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่ 1) ให้มีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง โดยผู้ที่ต้องการจะนำเข้าต้องจัดทำหนังสือและแจ้งความประสงค์มายังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภายในระยะเวลาที่กำหนด 2) ให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า 3) ให้ผู้นำเข้าทำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์มันฝรั่ง โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง และในกรณีที่บริษัทนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง 4) ผู้นำเข้าต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้แก่เกษตรกรไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท และรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้ - ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม - ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท - ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท |
|
4) หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป |
อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่ 1) ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคล 2) ผู้นำเข้าหรือผู้แทนนำเข้าต้องรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้ - ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม - ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท - ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท และมอบหมายคณะอนุกรรมการจัดการฯ พิจารณาราคาประกันขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดในแต่ละปีต่อไป ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้ามีการรับซื้อในราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจะมีผลต่อการพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าในปีต่อไป 3) ให้มีการนำเข้าในเดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคม - ธันวาคมของทุกปี1 โดยการนำเข้าในเดือนมกราคมให้นำเข้าไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรในโควตาของผู้ประกอบการแต่ละราย |
หมายเหตุ : 1ฤดูการเพาะปลูกของมันฝรั่งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ดังนั้น การกำหนดให้นำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม จะเป็นการลดความขาดแคลนของหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปและทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของตลาด
2. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ได้มีการวิเคราะห์การเปิดตลาดเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 - 2569 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ ว่าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหอมหัวใหญ่ (ชนิดแห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย รวมถึงหัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปในประเทศไทยมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตภายในประเทศ และเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าในราคาที่เหมาะสม รวมถึงให้สหกรณ์ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย ทั้งนี้ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO 2567 - 2569 เป็นการดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) โดยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป โดยหากสินค้ารายการใดจำเป็นต้องเปิดตลาด และมีปริมาณในโควตา อัตราภาษีในและนอกโควตาแตกต่างจากที่กำหนด [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539] ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบทุกรายการเป็นแต่ละครั้งไป
_________________
1 WTO เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศและเป็นเวทีสำคัญในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า รวมทั้งจัดทำกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศมีความเสรีมากขึ้นบนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO ตั้งแต่ปี 2538 และได้ผูกพันสินค้าเกษตรทั้งหมด 23 รายการ (รวมถึงเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง) ไว้ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการเกษตรของ WTO ทั้งนี้ WTO ได้กำหนดมาตรการโควตาอัตราภาษีเพื่อกำกับดูแลการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีทั้งในและนอกโควตาตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ
2 ปริมาณโควตาและอัตราภาษีที่ผูกพันภายใต้ WTO ตั้งแต่ปี 2539 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2952