ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 February 2024 23:36
- Hits: 9719
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. ....
1.1 กำหนดระดับของเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีมี 4 ระดับ ได้แก่ (1) เหตุฉุกเฉินสาธารณะ (2) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ตั้งสถานประกอบการ (3) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ปฏิบัติงานทางนิวเคลียร์และรังสี (4) เหตุแจ้งเตือน
1.2 กำหนดให้การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ แบ่งออกเป็น 4 จำพวก โดยใช้เกณฑ์ของการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการตอบสนองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นเกณฑ์ในการจัดจำพวกดังกล่าว เช่น
จำพวกที่ 1 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจาก แกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีค่ากัมมันตภาพจากซีเซียม 137 เกินกว่า 0.1 เอกซะเบ็กเคอเรล
จําพวกที่ 2 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) แต่ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการ สถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งจำเป็นต้องระบายความร้อนตลอดเวลา
จำพวกที่ 3 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลัง ไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอัตรา ปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 100 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุกำบังไป
จำพวกที่ 4 อาทิ การดำเนินการการครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีที่ อาจก่อให้เกิดอัตราปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 1 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุ กำบังไป
1.3 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนป้องกันและมีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเพื่อการรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การกำหนดขีดจำกัดปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงาน การจัดให้มีบุคคลหรือหน่วยงานในการตอบสนอง การจัดให้มีการอบรมและติดประกาศถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และ รังสี การจัดให้มีการฝึกซ้อมแผน เป็นต้น
1.4 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการจำพวกที่ 1 ถึงจำพวกที่ 4 มีหน้าที่ในการจัดทำและดำเนินการ
1.4.1 จำพวกที่ 1 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์)1 และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้แก่ มาตรการป้องกันล่วงหน้าและป้องกันเร่งด่วน
1.4.2 จำพวกที่ 2 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
1.4.3 จำพวกที่ 3 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (3) และ (4) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในส่วนของมาตรการเร่งด่วน
1.4.4 จำพวกที่ 4 หน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (4)
2. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. ....
2.1 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ เช่น (1) การรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคาร (2) แบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบประปา ก๊าซ ไฟฟ้า เครื่องกล ความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น และการป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย (3) แบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม
2.2 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ (1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะอาคารของโรงงานหรือลักษณะภายในของโรงงาน (2) กำหนดลักษณะ ประเภทหรือชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน (3) กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน
2.3 กำหนดให้การออกแบบและการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ให้คำนึงถึงหลักการความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ซึ่งประกอบด้วยหลักการควบคุม อันตรกิริยานิวเคลียร์และรังสี การระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากอันตรกิริยานิวเคลียร์ และการกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีและการกำบังรังสี
2.4 กำหนดให้อาคารและโครงสร้างนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้รวมถึงข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับฐานราก และโครงสร้างในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
2.5 กำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ดังนี้ (1) ระบบป้องกันเพลิงไหม้เป็นข้อกำหนดที่ใช้สำหรับอาคารที่ใช้จัดเก็บหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (2) ระบบระบายอากาศ ระบบกรองอากาศ และระบบน้ำทิ้งเพื่อป้องกันมิให้รังสีออกสู่ภายนอกสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ทั้งทางการระบายอากาศและระบบน้ำทิ้งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการปล่อยทิ้งกากกัมมันตรังสี โดยกำหนดให้มีการควบคุมช่องทางเข้าออกของอากาศและการกรองวัสดุกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในอากาศและการบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (3) คอนเทนเมนต์ (containment)3 และคอนไฟน์เมนต์ (confinement)4 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบกักเก็บรังสี สำหรับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ทางนิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน โดยควบคุมการกักเก็บกัมมันตรังสีภายในขอบเขตแรงดันน้ำหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และมีข้อกำหนดสำหรับถังหรือบ่อปฏิกรณ์ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัยด้วย
_____________________
1 (1) เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า (precautionary action zone หรือ PAZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับการป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตป้องกันเร่งด่วน
(2) เขตป้องกันเร่งด่วน (urgent protective action planning zone หรือ UPZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันอันตรายทางรังสีได้ทันที
(3) เขตป้องกันระยะยาว (extended planning distance หรือ EPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้าและเขตป้องกันเร่งด่วน
(4) เขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์ (ingestion and commodities planning distance หรือ ICPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการเตรียมการตอบสนองเพื่อปกป้องห่วงโซ่อาหารน้ำดื่ม และเครื่องอุปโภคจากการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสีอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันประชาชนจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มและจากการใช้เครื่องอุปโภคที่อาจมีการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสี
2 โรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า 500 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน จึงจะตั้งโรงงานได้
3 containment หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างกักอากาศ (air-tight) ล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีที่อาจออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยมากมักเป็นรูปโดมและทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก
4 confinement หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อจำกัดวัสดุกัมมันตรังสีที่ออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยผ่านกระบวนการหรือช่องทางที่กำหนดไว้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 27 กุมภาพันธ์ 2567
2957