WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570

Gov สมศักดิ์ เทพสุทิน01

แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า

          1. สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำข้อเสนอ “แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570” โดยได้ควบรวมสาระสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของ (1) แนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และ (2) แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563-2565 ที่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้ส่วนราชการมีแนวปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ที่เสนอมาในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ภายใต้มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ของมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570) 

          2. แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ผ่านความเห็นชอบจาก ก.พ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว และสำนักงาน ก.พ. ได้จัดการสัมมนาส่วนราชการเพื่อชี้แจงการเตรียมการจัดทำนโยบาย หรือทิศทางการพัฒนาบุคลากรการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากรหรือทรัพยากรต่างๆ ที่รองรับการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้วในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้ครอบคลุมกำหนดระยะเวลาตามแนวทางการพัฒนบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ที่ ก.พ. มีมติเห็นชอบ

          3. แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563-2565 จึงมีหลักการดำเนินการในภาพรวมไม่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีการปรับปรุงประเด็นการพัฒนา โดยรวมประเด็นการพัฒนากรอบทักษะ (Skillsets) และกรอบความคิด (Mindset) เข้าด้วยกัน (ประเด็นการพัฒนาที่ 2 ในแนวทางที่เสนอมานี้) และเพิ่มเติมประเด็นการพัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านดิจิทัล (ประเด็นการพัฒนาที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการผนวกรวมแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลฉบับเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

              1. วัตถุประสงค์

                  - หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาองค์กร เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาของบุคลากร การส่งเสริมการดำเนินการในการบริหารและพัฒนาบุคลากรอย่างเชื่อมโยง และการยกระดับกลไกการดำเนินการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างเป็นระบบ

                  - บุคลากรภาครัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติในการวางแผนการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน โดยมุ่งเน้นให้มีการเรียนรู้และพัฒนา การประเมินและปรับปรุงการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

              2. เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ

                  - ประชาชนและผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติราชการ

                  - หน่วยงานภาครัฐมีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และการสร้างสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี

                  - บุคลากรภาครัฐมีการพัฒนาตัวเองและสามารถขับเคลื่อนภารกิจ พัฒนาองค์กร และตอบสนองความต้องการของประชาชน

              3. หลักการและแนวคิด

                  - การพัฒนาที่มีเป้าหมายชัดเจนและตอบสนองความต้องการของประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย

                  - การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้และการสร้างความสุขในการปฏิบัติงาน

                  - การพัฒนาที่มีความครอบคลุมบุคลากรทุกระดับ

              4. กลุ่มเป้าหมาย

                  - หน่วยงานของรัฐ : ครอบคลุมส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม สำหรับหน่วยงานในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหารอาจพิจารณานำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้โดยอนุโลมตามที่เห็นสมควร

                  - บุคลากรภาครัฐ : ข้าราชการพลเรือน พนักงานราชการ และลูกจ้างของส่วนราชการ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามบทบาทหน้าที่ ประกอบด้วย (1) บุคลากรแรกบรรจุ (2) บุคลากรที่มีประสบการณ์ (3) บุคลากรที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน (4) บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ และ (5) บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร

                  ทั้งนี้ ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐประเภทอื่น หน่วยงานสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้โดยอนุโลมตามความเหมาะสม

              5. ระยะเวลาดำเนินการ

                  ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 หรือจนกว่าจะออกแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฉบับใหม่มาใช้แทน

              6. กลไกการดำเนินการ

                  กำหนดกลไกการดำเนินการไว้ 2 ลักษณะ ดังนี้

                  - ส่วนราชการดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบของฝ่ายบริหาร

                  - ส่วนราชการดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม (อ.ก.พ. กรม) 

                  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารงานของส่วนราชการ และให้เป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ

              7. ประเด็นการพัฒนา

                  แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดประเด็นการพัฒนา จำนวน 3 ประเด็นโดยมีการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการ ดังนี้

                  ประเด็นการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา

                  เป้าหมาย : หน่วยงานของรัฐสามารถสร้างและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นองค์กรที่มีความปรารถนาในการที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อการพัฒนา การทำงาน มีการแบ่งปันความคิดในการทำงาน มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม มีการทุ่มเททรัพยากรเพื่อลงทุนให้บุคลากรทุกระดับเกิดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

                  กลยุทธ์ :

                  กลยุทธ์ที่ 1 การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยการพัฒนากลไก เครื่องมือ หรือระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนา เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้งานง่ายเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง

                  กลยุทธ์ที่ 2 การเป็นองค์กรแห่งการตื่นรู้และปรับตัว โดยการกำหนดนโยบาย ทิศทางในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วิเคราะห์ปัจจัยสำเร็จ ความท้าทาย เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรตื่นตัวในการปฏิบัติงานที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ

                  กลยุทธ์ที่ 3 การเป็นองค์กรแห่งการมีพฤติกรรมที่ดี โดยการกำหนดมาตรการ หรือกลไกเพื่อเสริมสร้างและรักษาวินัย คุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การยึดถือมาตรฐานจริยธรรมที่ ก.พ. กำหนดเป็นมาตรฐาน/แนวปฏิบัติให้บุคลากรมีความประพฤติดีเป็นมาตรฐานเดียวกัน

                  กลยุทธ์ที่ 4 การเป็นองค์กรแห่งการมีส่วนร่วม โดยการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การกำหนดให้มีบุคลากรจากกลุ่มที่แตกต่างเข้าร่วมการคิดการตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงาน

                  การขับเคลื่อนการดำเนินการ :

                  (1) การส่งเสริมการปฏิบัติงาน โดยวางระบบ รูปแบบ วิธีการทำงานที่ตอบสนองต่อภารกิจองค์กรและกลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกกลุ่มในการขับเคลื่อนภารกิจ และการสร้างความเชื่อมโยงในการปฏิบัติงานร่วมกัน

                  (2) การพัฒนาบุคลากร โดยการสร้างสภาพแวดล้อมองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนา การวางแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ การติดตาม ประเมินและรายงานผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                  (3) การส่งเสริมความสุขและคุณภาพชีวิต โดยสร้างความสุขในการทำงานเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

                  ประเด็นการพัฒนาที่ 2 การพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

                  เป้าหมาย : บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏบัติงานที่ท้าทายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

                  1. กรอบความคิด (Mindset) ที่กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนา 4 กรอบความคิด ดังนี้

 

กรอบความคิดแบบเติบโต

(Growth Mindset)

หมายถึง ทัศนคติแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า เชื่อในศักยภาพของคนและเชื่อในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองได้เสมอ

 

 

กรอบความคิดแบบมุ่งเน้นส่วนรวม

(Outward Mindset)

หมายถึง ทัศนคติที่มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นและให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าของตนเอง

กรอบความคิดแบบโลกาภิวัฒน์

(Global Mindset)

หมายถึง ทัศนคติที่เปิดรับและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและความหลากหลายในมิติต่างๆ

 

กรอบความคิดในการทำงานยุคดิจิทัล

(Digital Mindset)

หมายถึง ทัศนคติที่ช่วยให้บุคคลเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้และดึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการใช้ชีวิต ส่งผลให้มีความสนใจใคร่รู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เข้าใจรูปแบบและทิศทางของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Digital Landscape) สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในบริบทดิจิทัล

 

                  2. ทักษะ (Skills) ครอบคลุมขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองทั้งความคิดและพฤติกรรมการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนาผู้นำ ดังนี้

 

ทักษะการรู้คิด

(Cognitive Skills)

เช่น การคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ การคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ที่จะรักเรียน

 

 

ทักษะทางสังคมและอารมณ์

(Social and Emotional Skills)

เช่น การตระหนักถึงความสามารถของตนเอง การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และการทำงานร่วมกันและความรับผิดชอบต่อหน้าที่

ทักษะการปฏิบัติ

(Practical Skills)

เช่น ทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และทักษะด้านดิจิทัล (รายละเอียดทักษะดิจิทัลอยู่ในประเด็นการพัฒนาที่ 3)

 

ทักษะด้านภาวะผู้นำ

(Leadership Skills)

เช่น การยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ การอำนวยและส่งเสริมให้เกิดบูรณาการในการทำงานและความร่วมมืออย่างเต็มที่ การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติและผลลัพธ์

 

                  กลยุทธ์ :

                  กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development Plan: HRD Plan) ที่เชื่อมโยงกับแผนบริหารกำลังคนของส่วนราซการ โดยพิจารณาเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เข้ากับภารกิจหลักของส่วนราชการและทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจที่ท้าทาย

                  กลยุทธ์ที่ 2 กำหนดเส้นทางการพัฒนา (Development Roadmap) ของบุคลากรภาครัฐ ทุกระดับที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานในแต่ละระดับตำแหน่งให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดทำและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของบุคลากรอย่างทั่วถึง

                  กลยุทธ์ที่ 3 กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) ที่เชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกระดับ และสร้างความพร้อมในด้านความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และภาวะผู้นำของบุคลากรเพื่อสนับสนุนเส้นทางความก้าวหน้าทางราชการ

                  การขับเคลื่อนการดำเนินการ :

                  (1) การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำคัญในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาบุคลากรและการกำหนดเส้นทางการพัฒนาข้าราชการของส่วนราชการ

                  (2) การบริหารจัดการเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณที่สามารถพัฒนาบุคลากรได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยส่วนราชการวิเคราะห์แนวโน้มและความต้องการในการพัฒนาบุคลากรเพื่อวางแผนในการพัฒนาที่ครอบคุลมทุกกลุ่มเป้าหมาย เชื่อมโยงถึงการกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม

                  (3) การดำเนินการเพื่อพัฒนาบุคลากร/ตนเอง โดยส่วนราชการกำหนดให้การพัฒนาตนเองเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคน

                  ประเด็นการพัฒนาที่ 3 การพัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

                  เป้าหมาย : บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและตอบสนองความต้องการของประชาชน ดังนี้

                  (1) กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาตามการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1.1) ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Information Technology: IT) และ (1.2) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรง (Non-IT)

                  (2) กรอบการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ประกอบด้วย 7 ทักษะ ได้แก่ (2.1) ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (2.2) การปฏิบัติตามและใช้กฎหมายด้านดิจิทัล (2.3) ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล (2.4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนางาน (2.5) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการ (2.6) การใช้ประโยชน์และการใช้ข้อมูลร่วมกัน และ (2.7) ความมั่นคงปลอดภัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

                  กลยุทธ์ :

                  กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดกรอบการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลตามภารกิจและการนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาเชิงปฏิบัติ

                  กลยุทธ์ที่ 2 กำหนดบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของส่วนราชการในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนากลไกและเครื่องมือในการดำเนินการ

                  กลยุทธ์ที่ 3 ติดตาม ประเมินผลการพัฒนาทักษะดิจิทัลในมิติการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและการปฏิบัติงาน และผลการนำทักษะด้านดิจิทัลไปใช้ประโยชน์

                  การขับเคลื่อนการดำเนินการ :

                  (1) การวิเคราะห์ภารกิจ และกำหนดประเด็นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อให้สามารถวางแผนการพัฒนาได้ตรงกับความต้องการและประโยชน์ในการนำไปใช้

                  (2) การวางแผนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้การพัฒนามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงและเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มที่

                  (3) การติดตามและประเมินผลการพัฒนาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมศักยภาพบุคลากรและเพื่อปรับปรุงต่อยอดการพัฒนาต่อไป

              8. การขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาฯ ไปสู่การปฏิบัติ

                  กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ เช่น

                  - บุคลากรภาครัฐ : ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้ความรู้ ทักษะที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานควบคู่กัน รวมทั้งวางแผนความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานหรือการพัฒนาตนเอง

                  - ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ : ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการพัฒนา โดยมอบหมายงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบและงานที่ท้าทายให้ช้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และให้คำแนะนำในการพัฒนาตนเองของบุคลากร

                  - ผู้บริหารส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐ : กำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในระดับองค์กรให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุไว้ตามแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และพันธกิจของหน่วยงาน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้แรงจูงใจแก่บุคลากร และกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                  - สำนักงาน ก.พ. : สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เช่น กำหนดกรอบหลักเกณฑ์และวิธีการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรภาครัฐแต่ละระดับ และพัฒนาระบบ/(ครื่องมือ/กลไกที่สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากร

                  - ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล [ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และสำนักงาน ก.พ.] : สนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้งในระดับองค์กรและบุคคล ดูแล พัฒนาและให้การรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรักษามาตรฐานการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

              9. ตัวชี้วัดการดำเนินการ

                  - ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เช่น (1) ร้อยละของหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และยุทธศาสตร์ขององค์กร (2) ร้อยละของบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากรอบความคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและทักษะด้านดิจิทัล (3) จำนวนนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงาน/การให้บริการ e-Service

                  - สำนักงาน ก.พ. เช่น (1) ระดับความสำเร็จของการพัฒนา นโยบาย/หลักเกณฑ์/ระบบ/เครื่องมือ/กลไกที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ (2) ระดับความสำเร็จในการส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และยุทธศาสตร์องค์กร

              10. การติดตามและประเมินผล

                  สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากร ปีละ 1 ครั้ง โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการพัฒนาบุคลากรในแต่ละปีงบประมาณที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ณ วันที่ 30 กันยายน ของปีงบประมาณนั้นๆ ส่งให้สำนักงาน ก.พ. ภายในเดือนธันวาคมของปีงบประมาณถัดไป โดยสำนักงาน ก.พ. จะประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากรในภาพรวม เพื่อรายงานต่อคณะอนุกรรมการวิสามัญ (อ.ก.พ. วิสามัญ) เกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนา/ก.พ. และเมื่อครบระยะเวลาการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ให้ประเมินและจัดทำรายงานผลการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฉบับใหม่เสนอต่อ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (รองนายกรัฐมนตรี) 12 มีนาคม 2567

 

 

3481

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

CKPower 720x100

TOA 720x100

Banner GPF720x100 PX

EXIM One 720x90 C J

QIC 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

MTL 720x100

AXA 720 x100

gen 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!