การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty - First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 March 2024 11:14
- Hits: 9652
การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty - First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty - First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (31st ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council Meeting) ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 ในวันที่ 24 มีนาคม 2567 ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สาระสำคัญ
ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASCC Blueprint 2025) และสนับสนุนการดำเนินการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างเต็มที่ภายใต้หัวข้อหลัก “อาเซียน : การยกระดับความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น”(ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience) ผ่านการให้ความสำคัญไปที่หัวข้อย่อย 2 ประเด็น คือ “การยกระดับการเชื่อมโยง” และ “การยกระดับความยืดหยุ่น” ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป. ลาว โดยหัวข้อย่อย “การยกระดับการเชื่อมโยง” มีการให้ความสำคัญใน 4 ประการ ได้แก่ (1) การบูรณาการและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การสร้างอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (3) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลแห่งอนาคต (4) วัฒนธรรมและศิลปะ : การส่งเสริมบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียนเพื่อให้เกิดความบูรณาการและความยั่งยืน ทั้งนี้ มีการให้ความสำคัญใน 5 ประการ สำหรับหัวข้อย่อย “การยกระดับความยืดหยุ่น” ได้แก่ (1) การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2588 (ASEAN Community Vision 2045) (2) การเสริมสร้างความเป็นกลางของอาเซียน (3) การส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม : ความยืดหยุ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) สตรีและเด็ก : การส่งเสริมบทบาทของสตรีและเด็กต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในภูมิภาคอาเซียน และ (5) สุขภาพ : การเปลี่ยนความยืดหยุ่นของอาเซียนต่อการพัฒนาของอาเซียนในบริบทใหม่
ประโยชน์และผลกระทบ
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty - First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศกอปรกับไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ดังนั้น ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฯ
2. การให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty - First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยถือเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือและรับรองในหลักการเอกสารผลลัพธ์ในด้านต่างๆ ที่จะได้นำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 มีนาคม 2567
3731