WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การดำเนินงานโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง

Gov 11

การดำเนินงานโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) รับไปตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดและงบประมาณอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

          สาระสำคัญของเรื่อง

          สทบ. รายงานว่า

          1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง1 (กองทุนหมู่บ้านฯ) เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนสำหรับสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพ ด้านการผลิต การแปรรูปและการบริการของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของหมู่บ้านและชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ในหมู่บ้านและชุมชนโดยมุ่งเน้นทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านและชุมชน สร้างโอกาสให้ประชาชน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยการมอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง

          2. สทบ. ได้มีการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) อย่างต่อเนื่องโดยมีการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

              2.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1 (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) เป็นผลมาจาก กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 1,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ตัว วงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท สนับสนุนงบประมาณเพื่อการกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท งบบริหารโครงการวงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณ 55 ล้านบาท โดยเจียดจ่ายจากงบบริหารโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน2

              2.2 โครงการโคล้านครอบครัว [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบในหลักการโครงการ] โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว โดยดำเนินการภายใต้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินงบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ตามต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริง อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี (ในช่วงระหว่างปี 2567 - 2570) และอนุมัติให้ สทบ. ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงินให้ ธ.ก.ส. และงบบริหารโครงการ

              2.3 โครงการโคเงินล้าน (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการ “โคเงินล้าน” นำร่อง ระยะที่ 1 กำหนดเป้าหมายดำเนินการในการส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 400 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ วงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากรายได้สะสมของ สทบ. วงเงินงบประมาณ 25 ล้านบาท

          3. สทบ. แจ้งว่า จากการดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของ สทบ. ที่ผ่านมา พบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้

              3.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1

                    3.1.1 ประสบปัญหาโคตายจากโรคระบาด3

                    3.1.2 สมาชิกไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่กำหนดรวมกรณีเกษตรกรเสียชีวิต ซึ่งอาจแก้ไขโดยให้ทายาท/สมาชิกรายอื่นที่สนใจมารับช่วงต่อ

              3.2 โครงการโคล้านครอบครัว

                    3.2.1 ระยะเวลาดำเนินโครงการโคล้านครอบครัวมีจำกัดทำให้บางกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ทัน

                    3.2.2 การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารล่าช้า

          4. โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง (ข้อเสนอของ กทบ.ในเรื่องนี้) ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือนๆ ละ 50,000 บาท โดยจะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ และรัฐจัดหาตลาดเพื่อรองรับ ต่อยอดและขยายผลในการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ในด้านการผลิต การแปรรูปและการจัดจำหน่าย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 240,000 บาท ต่อครัวเรือน จากต้นทุน 50,000 บาทหรือ 4.8 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี (โค 2 ตัว เฉลี่ยราคาโคตัวละ 25,000 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อตัว) รวมทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ให้มีการลงทุนไปทั่วโลก โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการ ดังนี้

              4.1 กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่นๆ แล้วชำระหนี้ได้

              4.2 วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง

              4.3 งบประมาณโครงการ จากวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่กำหนดกรอบวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท

              4.4 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลากู้ สินเชื่อระยะยาวระยะเวลาการชำระคืนเงินในปีที่ 3 นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา4

              4.5 จำนวนเป้าหมายและวงเงินสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนหมู่บ้านฯ กำหนดเป้าหมายโครงการให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท ดำเนินการโดยให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินในฐานะนิติบุคคลที่กำหนดตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

              4.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เกิดการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พัฒนาด้านการตลาดในประเทศและการส่งออกไปตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก สร้างความเข้มแข็งและการยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม ลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว ดังนี้

 

ลำดับที่

รายละเอียด

รายได้จากการขายโค (บาท)

1

แม่โคปลด

18,000

2

โค 1 ปี

20,000

3

โค 2.5 ปี

25,000

4

โค เพิ่งคลอด

7,000

5

โค 4 ปี

20,000

6

โค เพิ่งคลอด

7,000

7

โค 2 ปี ตั้งท้อง 3 เดือน

23,000

รวม

120,000

 

          5. กทบ. [รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน] ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยขอรับชดเชยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กรอบวงเงิน 400 ล้านบาท ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมอบหมายให้ สทบ. ประสานกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อขอความเห็นการดำเนินโครงการในลักษณะกึ่งการคลังที่รัฐจะต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้ธนาคารของรัฐเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการเพื่อทำให้การดำเนินโครงการสามารถขับเคลื่อนได้บรรลุวัตถุประสงค์ ขอให้ประธาน กทบ. มีอำนาจปรับเปลี่ยนตามความเห็น กค. และสำนักงบประมาณ 

__________________

1 กองทุนหมู่บ้านฯ สร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนจากการคัดเลือกจากสมาชิกในชุมชน 9 - 15 คน เพื่อเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนให้แก่สมาชิก เช่น การขอรับจัดสรรเงินทุนจากรัฐ เป็นต้น

2 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการบริการของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนของ สทบ. ทั้งหมด 6 โครงการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการเพิ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 โครงการประชารัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

3 เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส โดยทำให้โคมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดที่ริมฝีปากและช่องปากทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ ซึ่งโคที่เป็นโรคนี้จะผอมและน้ำนมจะลดลงอย่างมาก อัตราการติดโรคสูง อัตราการตายร้อยละ 0.2 - 5 เป็นต้น

4 สทบ. จะได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ขั้นตอน เงื่อนไข วิธีปฏิบัติที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมถึงระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ชัดเจน ให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 มีนาคม 2567

 

 

3736

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

iconmotor

gen 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!