ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 March 2024 12:34
- Hits: 10365
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้พิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการประมง ตลอดจนพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า
1. ปัจจุบันกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต และการยกสิทธิการทำการประมง โดยกรมประมงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567 - 2568 พ.ศ. 2567 กำหนดห้วงเวลาให้ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567 - 2568 มายื่นคำขอรับใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถานที่ที่กำหนด (ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์มีอายุ 2 ปี ซึ่งจะสิ้นอายุทั้งหมดในวันที่ 31 มีนาคม 2567) ซึ่งในข้อ 5 ของประกาศฯ กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ต้องแสดงหรือแนบเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ ประกอบกับกฎกระทรวงฯ ข้อ 6 (9) กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง ตามมาตรา 98 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (สร. 3) ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์
2. ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในแต่ละรอบปีการประมงจะมีเรือประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตทำให้ไม่สามารถออกทำการประมงได้ หรือได้รับใบอนุญาตแต่ไม่สามารถออกทำการประมงได้อันเกิดจากปัจจัยบางประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจราคาสัตว์น้ำที่ตกต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้เกิดการไม่คุ้มทุนในการออกทำประมง และเมื่อไม่มีการออกเรือก็มิได้ปรับปรุงหรือดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม จึงทำให้สภาพเรือไม่มีความพร้อม ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่จะได้รับหนังสือ สร. 3 ซึ่งกรมประมงได้พิจารณาทบทวนเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการออกหนังสือ สร. 3 เป็นการกำหนดให้มีมาตรฐานในการจับ การดูแลสัตว์น้ำ การแปรรูป การขนส่ง รวมถึงการขนถ่าย ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หนังสือ สร. 3 จึงเป็นเอกสารรับรองความพร้อมของเรือประมงในการออกทำการประมง ไม่ใช่เอกสารที่รับรองสิทธิในขอรับใบอนุญาตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวประมงและการใช้ทรัพยากร ดังนั้น จึงเห็นควรให้ตัด ข้อ 6 (9) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามมาตรา 98 ออก นอกจากนี้ ปัจจุบันกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2562 ยังมีความไม่สอดคล้องกับบริบทการทำการประมงของชาวประมงในปัจจุบัน ประกอบกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือขอให้ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีบัญชามอบหมายให้ กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
3. กษ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... ขึ้น มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์ การโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การยกสิทธิการทำการประมงให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น และกำหนดหลักเกณฑ์การทดแทนเรือประมง ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ผ่านระบบกลางกฎหมาย http://www.law.go.th ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 และเวทีการประชุม ณ กรมประมง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562
2. กำหนดให้กรณีผู้ขออนุญาตได้ยื่นคำขอไว้ตามห้วงเวลาที่กำหนดและไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เนื่องจากผู้ขออนุญาตหรือเรือประมงมีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมง และต่อมาภายหลังลักษณะต้องห้ามได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้พิจารณาออกใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรได้ไม่เกิน 90 วัน (เดิม ไม่ได้กำหนดการขยายระยะเวลาการชำระ) นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากร เนื่องจากผู้ขออนุญาตไม่สามารถมาชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรการประมงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
3. กำหนดให้นำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนได้ กรณีเรือลำเดิมที่ได้รับอนุญาต จม ไฟไหม้ อันเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย (เดิม กำหนดเฉพาะเหตุเรือประมงชำรุดทรุดโทรม)
4. กำหนดให้สามารถเพิ่มเครื่องมือทำการประมงภายหลังได้รับใบอนุญาตทำการประมง โดยให้การขอเพิ่มเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด
5. กำหนดให้การขอรับโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ให้สามารถดำเนินการได้ในกรณีผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของเรือเดิมเสียชีวิต (กำหนดขึ้นใหม่)
6. กำหนดให้ลดเอกสารบางรายการที่หน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ระหว่างหน่วยงานและไม่เกี่ยวข้องกับการขอรับอนุญาต เช่น หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามความในมาตรา 98 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อลดภาระให้ชาวประมง
7. กำหนดให้กรณีที่ไม่สามารถทำการประมงในพื้นที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำการประมง ให้ขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำการประมงได้ โดยขนาดของเรือและเครื่องมือทำการประมงที่จะอนุญาตให้เปลี่ยนพื้นที่การทำการประมงต้องไม่มีผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะไปทำการประมง และเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 มีนาคม 2567
3739