ภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ที่ปรับปรุงแก้ไขของข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาว่าด้วยระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 00:39
- Hits: 9571
ภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ที่ปรับปรุงแก้ไขของข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาว่าด้วยระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน (ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products; MRA on PF)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ที่ปรับปรุงแก้ไขของข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาว่าด้วยระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน [ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products (MRA on PF)] (ข้อตกลงฯ) เพื่อให้กระทรวงเกษษตรและสหกรณ์ (กษ.) สามารถร่วมให้การรับรองการแก้ไขดังกล่าวในการประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป1 (Prepared Foodstuff Product Working Group (PFPWG)] ครั้งที่ 38 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
[จะมีการรับรองการปรับปรุงแก้ไขภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ ในการประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 1 - 2 เมษายน 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์]
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ) ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาว่าด้วยระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน (ข้อตกลงฯ) โดยภาคผนวกที่ 1 เป็นการแก้ไขลำดับเลขย่อหน้าให้ถูกต้องโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาคผนวก ส่วนภาคผนวกที่ 2 เป็นการแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับเอกสารหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหารของโคเด็กซ์ฉบับปัจจุบันตามข้อเสนอของคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งสอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 25632 โดยการปรับแก้ในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการกำกับดูแลความปลอดภัยอาหารและสุขลักษณะอาหารของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในการผลิตอาหารตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะอาหารที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เห็นว่า การแก้ไขภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการรับรอง และหาก กษ. ยืนยันได้ว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายภายในที่มีโดยไม่จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติของรัฐสภาเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ก็จะไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่ง กษ. เห็นว่าการแก้ไขร่างข้อตกลงฯ เข้าข่ายเป็นการจัดทำสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการรับรองภาคผนวกดังกล่าวในการประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ครั้งที่ 38 โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (สลค. ได้ขอให้ กษ. ยืนยันในประเด็นตามความเห็นของ กต. และ สคก. แล้ว)
3. ข้อตกลงฯ จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปภายใต้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน [ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality (ACCSQ)] ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีผลใช้บังคับทันทีภายหลังจากการลงนาม (รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนลงนามเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561) ซึ่งประโยชน์ในการเข้าร่วมข้อตกลงฯ เป็นการยอมรับผลการตรวจสอบด้านสุขลักษณะอาหารของสินค้านำเข้าและส่งออก ลดภาระการตรวจสอบซ้ำสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออกด้านสุขลักษณะอาหาร แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการผลิตสินค้าอาหารและประสิทธิภาพของระบบการควบคุมสินค้าอาหารของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากอาเซียนและสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดอาเซียน รวมทั้งเพิ่มการคุ้มครองสุขภาพและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนต่อสินค้าที่ได้รับการรับรอง โดยต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรายสาขาภายใต้ข้อตกลงฯ ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากประเทศสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามข้อตกลงฯ เช่น จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงาน ประเมินและรับรองว่าระบบตรวจสอบและรับรองด้านสุขลักษณะอาหารของประเทศสมาชิกมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติของข้อตกลงฯ รมทั้งขึ้นทะเบียนและถอดถอนการยอมรับร่วมของประเทศสมาชิก
4. การประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 10 - 11 มีนาคม 2565 เห็นควรทบทวนภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหารของโคเด็กซ์ [Codex General Pinciples of Food Hygiene (CXC 1-1969)] ฉบับปัจจุบัน3 (ทบทวนเมื่อปี 2563 และ 2565) และการประชุมคณะกรรมการร่วมรายสาขาภายใต้ข้อตกลงฯ [Joint Sectoral Committee on MRA for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products (JSC MRA on PF)] ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2566 ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาทบทวนภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวมีประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำในการทบทวนภาคผนวกที่ 2 โดยในส่วนของประเทศไทย กษ. (มกอช.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามข้อตกลงฯ และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมรายสาขาภายใต้ข้อตกลงฯ และการประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เพื่อพิจารณาทบทวนภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ รวมทั้งให้ความเห็นต่อร่างภาคผนวกที่ 2 ของข้อตกลงฯ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
_________________________________
1การประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานอาหารปลอดภัยของอาเซียน เช่น การกำหนดปริมาณสูงสุดสำหรับสารปนเปื้อน สารพิษในอาหารและอาหารสัตว์ ฉลากอาหาร วัสดุสัมผัสอาหาร และแนวปฏิบัติในการรับรองสุขลักษณะในการผลิตอาหาร อันเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานอาหาร
2กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักสุขลักษณะในการผลิตอาหาร เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้มีความสอดคล้องกับเอกสารหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหารของโคเด็กซ์ฉบับล่าสุด ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับความตระหนักของผู้ประกอบการอาหารเกี่ยวกับอันตรายและมาตรการควบคุมเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค การกำหนดการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีที่ต้องการความเอาใจใส่มากขึ้น และการเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้
3โคเด็กซ์ (Codex) หรือ Codex Alimentarlus มาจากภาษาลาติน หมายถึง Food Code โดยโคเด็กซ์ถูกใช้เป็นชื่อเรียกคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 – 2505 จากความร่วมมือขององค์การอาหารและเกษตร [Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] และองค์การอนามัยโลก [World Health Organization (WHO)] ด้านความปลอดภัยของอาหาร (food safety) เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 165 ประเทศ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐานสากล โดยการทบทวนเมื่อปี 2563 และ 2565 เป็นการทบทวนหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร (ความตระหนักด้านอันตรายของผู้ประกอบการอาหาร) มาตรการควบคุมการผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค และการเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3926