รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมกราคม 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 00:53
- Hits: 9465
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมกราคม 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมกราคม 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนมกราคม 2567
การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (384,580 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ร้อยละ 10.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.2 การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้าในระยะต่อไป
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 48,057.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.0 การนำเข้า มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดุลการค้า ขาดดุล 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,675,267, ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 784,580 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 การนำเข้า มีมูลค่า 890,687 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 ดุลการค้า ขาดดุล 106,107 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุดสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.0 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 45.9 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ อิรัก และเยเมน) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.0 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 5.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ ตุรกี และเวียดนาม) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 30.1 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.2 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 9.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 18.6 (ขยายตัวในตลาดเมียนมา เวียดนาม ลาว มาเลเซียและจีน) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 23.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 23.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 33.1 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 15.3 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน กัมพูชา และเมียนมา) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 27.0 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 16.2 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเชีย และปาปัวนิวกินี) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 58.8 (หดตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น)
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.3 มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เยอรมนี และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 106.3 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา และจีน) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 3.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเชีย และออสเตรเลีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 21.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี ฮ่องกง เยอรมนี และอินเดีย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัวร้อยละ 7.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย จีน และสิงคโปร์) เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 56.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเม็กชิโก) เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 1.6 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว และสิงคโปร์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี อินเดีย ฝรั่งศส และไต้หวัน) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 9.5 (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม สิงคโปร์ สาธารณรัฐเช็ค และแคนาดา)
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของการค้าโลก และสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยขยายตัวในทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 13.7 จีน ร้อยละ 2.1 ญี่ปุ่น ร้อยละ 1.0 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 4.5 อาเซียน (5) ร้อยละ 18.1 และ CLMV ร้อยละ 16.6 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 8.8 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 0.04 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 27.2 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 2.9 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 64.6 ขณะที่หดตัวในตลาดแอฟริกา ร้อยละ 24.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.0 และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 1.6 (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 11.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 5.1
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมกราคม อาทิ (1) การหารือกับสหรัฐฯ เพื่อลดอุปสรรคในการส่งออก โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 รวมไปถึงการขอการสนับสนุนให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ทุกบัญชี โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญชองการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น (2) การเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการส่งออกเดินทางไปเยือนนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ เพื่อเร่งผลักดันการนำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐฯ ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน แสวงหาผู้นำเข้ารายใหม่ในตลาดสหรัฐฯ พร้อมการลงนาม MOU สินค้าข้าวหอมมะลิ และอาหารกระป๋อง ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ยังได้นำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยมุ่งหวังที่จะใช้รัฐคุชราตเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งรัฐคุชราตมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน และการก่อสร้าง เป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่จะปักหมุดการลงทุนในรัฐคุชราตได้เพิ่มขึ้น
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลทางอ้อมให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวนจากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 1 - 2 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3930