WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566

Gov 13

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

          สาระสำคัญ

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2566 

              1.1 ด้านแรงงาน

              สถานการณ์แรงงานขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 

 

ประเด็น

สรุปสถานการณ์

การจ้างงาน

ภาพรวมการจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 2.0) และนอกภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 1.0) ทั้งนี้ สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวถึงร้อยละ 8.3

ชั่วโมงการทำงาน

ในภาพรวมชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ทำงานต่ำระดับ1 ยังคงมีชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 28.8 โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 42.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ลดลงร้อยละ 0.2) และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ลดลงร้อยละ 1.3) ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา2 ที่ลดลงร้อยละ 2.0 และผู้เสมือนว่างงาน3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 (เพิ่มขึ้นจากผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม)

ค่าจ้างแรงงาน

ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,448 บาท/คน/เดือน ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 14,141 บาท/คน/เดือน (ขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 2.8 ตามลำดับ) ทั้งนี้ ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมและภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และ 10.3 ตามลำดับ

อัตราการว่างงาน

ปรับตัวดีขึ้น โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.99 ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.23 (ผู้ว่างงานลดลงจากผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน) และมีผู้ว่างงานระยะยาวลดลงอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 32.8

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและต้องติดตาม

เช่น การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรมและเฝ้าระวังผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระดับราคาสินค้าที่อาจปรับเพิ่มขึ้นก่อนที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นจริง เป็นต้น

 

              1.2 ด้านหนี้สินครัวเรือน

              ไตรมาสสองของปี 2566 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.7 ซึ่งเป็นอัตราคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล)

              ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ เช่น ความเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ และการเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

              1.3 ด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย

              จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 99.9 (เพิ่มขึ้นจาก 200,626 คน เป็น 401,003 คนหรือเพิ่มขึ้น 200,377 คน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ในส่วนของสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยพบว่า ผู้มีปัญหาความเครียดเสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ มีสัดส่วนร้อยละ 21.48 จากผู้เข้ารับการประเมิน 1.9 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.92 โดยมีจำนวนผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้าสูงสุด

 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฝีดาษวานรจากโรคไข้หวัดใหญ่ เด็กและเยาวชนไทยมีภาวะอ้วนซึ่งเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น

              1.4 ด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

              การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.7 และการบริโภคบุหรี่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวตามไปด้วย

              ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การให้ความสำคัญกับการรณรงค์ลดละเลิกสุราให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง และยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้ารูปลักษณ์ใหม่ที่ดึงดูดเยาวชนให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

              1.5 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

              คดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 13.7 จากการลดลงของคดียาเสพติดที่ร้อยละ 20.5 แต่ยังคงมีสัดส่วนสูงกว่าคดีอาญาประเภทอื่น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 76.9 ของคดีอาญาทั้งหมด (คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7) 

              ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนเล่นพนันออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการหามาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมโดยใช้อาวุธปืน

              1.6 ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

              สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยได้รับการร้องเรียนด้านการขายตรงและตลาดแบบตรง4มากที่สุด ขณะที่การรับเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 40.8

              ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ภัยทางการเงินจากการถูกหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดค่าไฟและค่าน้ำประปาของหอพัก ห้องเช่า และอะพาร์ตเมนต์

          2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

 

สถานการณ์

รายละเอียด

บริการซื้อก่อน

จ่ายทีหลัง 

(Buy Now 

Pay Later : BNPL)

เป็นบริการให้สินเชื่อหรือการผ่อนชำระสินค้าที่เข้าถึงง่าย และปราศจากดอกเบี้ยหากชำระเงินตามเงื่อนไข เป็นความนิยมในการเข้าถึงสินเชื่อยุคใหม่ซึ่งมีทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยในปี 2565 มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 2570 อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยแต่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวของผู้บริโภคและก่อให้เกิดหนี้เสียตามมา

เศรษฐกิจรูปแบบใหม่

ในยุคอยู่คนเดียว

(Solo Economy)

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้นทำให้ Solo Economy เติบโตอย่างมากทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต่างๆ (เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การท่องเที่ยว และการสื่อสาร) เริ่มปรับตัวเนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มีมูลค่าสูงกว่าคนกลุ่มอื่น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการปรับตัวของภาคธุรกิจในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อนำมาตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไทยจะยกระดับ Solo Economy ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการอยู่คนเดียวของครัวเรือนไทย (เช่น โรคซึมเศร้า รายได้ไม่พอจ่าย) ควบคู่ไปด้วย

ตราสารหนี้สีเขียว

(Green bond)

เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในการระดมทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ประโยชน์จากตราสารหนี้สีเขียวจำเป็นต้องกำหนดนิยามกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวให้มีความชัดเจนเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้สีเขียว เช่น (1) พลังงานหมุนเวียน (2) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ (3) การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวของตราสารหนี้สีเขียวพบว่า ในปี 2565 ทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการออกตราสารหนี้สีเขียวคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าการออกตราสารหนี้สีเขียวขยายตัวมากขึ้น จาก 51,000 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 85,643 ล้านบาท ในปี 2565 อย่างไร ก็ดี ถึงแม้ว่าตราสารหนี้สีเขียวจะมีการขยายตัวขึ้นมากแต่ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญหลายประการ เช่น (1) ตลาดยังมีขนาดเล็กและผู้ออกตราสารหนี้สีเขียวส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ (2) มีเงื่อนไขและขั้นตอนที่มากกว่าการออกตราสารหนี้ทั่วไปและ (3) การขาดความชัดเจนในการกำหนดสาขาของธุรกิจสีเขียว

 

 

                  1.3 งบประมาณด้านสังคม (Social Budgeting) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อช่วยให้เห็นถึงกระแสการเงินของงบประมาณที่ใช้ในการจัดสวัสดิการสังคม และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุนการจัดสรรและใช้งบประมาณของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย สศช.ได้มีการจัดทำข้อมูลงบประมาณด้านสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงแหล่งที่มาและการใช้ไปของเงินในการดำเนินการโครงการเพื่อสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมและดำเนินนโยบาย โดยผลการจัดทำ Social Budgeting จากโครงการ/มาตรการทางสังคมที่สำคัญจำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ ครอบคลุมงบประมาณกว่าร้อยละ 93.4 ของรายจ่ายด้านสังคมทั้งหมด พบว่ารายจ่ายของงบประมาณด้านสังคม ในปี 2564 มีมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.15 ของ GDP โดยส่วนใหญ่เป็นการให้เงินช่วยเหลือและเงินทดแทนรายได้ที่ส่งตรงไปให้แก่ผู้รับประโยชน์ และด้านที่มีการช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านการเกษียณอายุ/เสียชีวิต ขณะที่รายรับของงบประมาณด้านสังคมส่วนใหญ่มาจากงบประมาณและเงินสมทบจากภาครัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.2

          ทั้งนี้ มีข้อค้นพบซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เช่น (1) ภาครัฐต้องใช้จ่ายในโครงการด้านสังคมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องว่างทางการคลังมีแนวโน้มแคบลง และหากไม่มีการเพิ่มรายได้หรืออัตราเงินสมทบจากแหล่งอื่น อาจทำให้รัฐต้องกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่าย และเกิดหนี้สาธารณะมากขึ้นในอนาคต และ (2) รายจ่ายของโครงการด้านสังคมเป็นตัวเงินนอกเหนือจากด้านการเกษียณอายุและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2555 มีมูลค่า 0.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 63.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 จากการเริ่มต้นของโครงการบัตรสวัสดิการรัฐ และปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1.33 แสนล้านบาทในปี 2564 แสดงให้เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือทางสังคมในลักษณะนี้มีบทบาทมากขึ้นโดยเป็นการให้ความช่วยเหลือมากกว่าการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนรายได้น้อยอย่างยั่งยืน 

          ดังนั้น เพื่อรักษาระดับของช่องว่างทางการคลังไม่ให้ตึงตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของสวัสดิการทางสังคม ภาครัฐจึงควรตระหนักถึงประเด็นต่างๆ เช่น (1) เน้นการดำเนินนโยบายในรูปแบบร่วมจ่ายมากขึ้น โดยการออกแบบนโยบายจะต้องคำนึงถึงภาระทางการคลัง และความสามารถในการยกระดับสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อช่องว่างและความยั่งยืนทางการคลัง (2) ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษีต่อการจัดสวัสดิการและการพัฒนาประเทศ และ (3) จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของสวัสดิการต่างๆ ที่รวบรวมข้อมูลทั้งงบประมาณที่ใช้และผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถออกแบบมาตรการได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทีลดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายและการรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงลดความซับซ้อนของสิทธิ ทั้งนี้ การจัดทำ Social Budgeting ของ สศช.เป็นการศึกษางบประมาณในการจัดสวัสดิการทางสังคมในเบื้องต้น ซึ่งในระยะถัดไปจะดำเนินการศึกษาโครงการทางสังคมได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบนโยบายทางสังคมในอนาคต อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การจัดทำงบประมาณในนโยบายด้านอื่นๆ ต่อไป

______________________________________ 

1ผู้ทำงานต่ำระดับ คือ ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องการทำงานเพิ่ม (นับรวมผู้ที่ทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

2ผู้ทำงานล่วงเวลา คือ ผู้มีงานทำที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

3ผู้เสมือนว่างงาน คือ ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

4ตลาดแบบตรง หมายถึง การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ โดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งมีระยะห่างโดยระยะทาง ตัวอย่างธุรกิจตลาดแบบตรงเช่น Lazada Shopee เป็นต้น 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567

 

 

3931

Click Donate Support Web 

AXA 720 x100

Banner GPF720x100 PX

MTL 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

QIC 720x100

gen 720x100

CKPower 720x100

TOA 720x100

SME 720x100 66

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!