รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 01:05
- Hits: 9576
รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานของส่วนราชการ ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานว่า ได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทานโดยมีส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการที่สำคัญประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานผลการลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 7,127.535 คน จำแนกตามพื้นที่ (ภูมิลำเนา) เป็นกรุงเทพมหานคร 465,852 คน และส่วนภูมิภาค 6,661,683 คน โดยแบ่งออกเป็น เพศชาย 3,213,656 คน เพศหญิง 3,913,879 คน
1.2 การจัดกิจกรรมจิตอาสาของส่วนราชการต่างๆ (15 หน่วยงาน) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 3,037,498 คน ประกอบด้วย จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ จิตอาสาเฉพาะกิจ และวิทยากรจิตอาสา 904 สรุปได้ ดังนี้
การดำเนินการ/กิจกรรม |
ส่วนราชการ |
จำนวน (ครั้ง) |
|
(1) จิตอาสาพัฒนา เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์และทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน ชุมชน สถานที่สาธารณะ การให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การบริจาคโลหิต และหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ การมอบทุนการศึกษา สิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง การปลูกต้นไม้และพัฒนาแหล่งน้ำ (ตรวจคุณภาพน้ำ) การปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การตรวจเยี่ยมชุมชน |
กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ มท. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) |
24,520 |
|
(2) จิตอาสาภัยพิบัติ เช่น การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย วาตภัยและภัยแล้ง (มอบถุงยังชีพ บริจาคสิ่งของ น้ำดื่ม โรงครัว ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และทำความสะอาดพื้นที่) และการทำแนวป้องกันไฟป่า การอบรมการป้องกัน ระงับอัคคีภัยและภัยพิบัติต่างๆ |
กห. พม. ทส. มท. วธ. ศธ. และ ตช. |
357 |
|
(3) จิตอาสาเฉพาะกิจ เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ การจัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การทำกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล |
กห. กระทรวงการต่างประเทศ กก. พม. ทส. มท. ยธ. วธ. ศธ. สธ. ตช. และ กปส. |
219 |
|
(4) วิทยากรจิตอาสา 904 โดยเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และกิจกรรมจิตอาสา สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ |
กห. พม. ทส. ยธ. วธ. ศธ. สธ. ตช. และ กปส. |
33 |
|
รวม |
25,129 |
1.3 การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการในภารกิจของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ. จอส. พระราชทาน) เช่น
(1) โครงการที่ได้รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ได้แก่ โครงการที่ได้รับเงินพระราชทานบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้
(2) เข้าร่วมประชุมติดตามงานประจำสัปดาห์ร่วมกับ ศอญ.จอส. พระราชทาน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 13 ครั้ง ประกอบด้วย 1) รับทราบสถานการณ์ในภาพรวม เช่น สภาพอากาศ สาธารณภัยที่สำคัญ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำแม่น้ำโขง สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 การเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือภาวะภัยแล้ง การดำเนินงานโครงการที่สำคัญและกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ภารกิจจิตอาสาผ่านช่องทางต่างๆ และ 2) รายงานผลการดำเนินการกิจกรรมจิตอาสาของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การลงพื้นที่การจัดกิจกรรม การสนับสนุนส่งเสริมการรณรงค์เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมงานจิตอาสาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในรูปแบบ Tik Tok
(3) ลงพื้นที่ติดตามความต่อเนื่องของโครงการจิตอาสาพระราชทาน ได้แก่ 1) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร โดยมีข้อเสนอแนะการจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยและควบคุมพื้นที่สวนสาธารณะ การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาบึงสีไฟอย่างเป็นระบบตามวัตถุประสงค์ของบึงสีไฟเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในการดูแลห้องน้ำและแสงสว่าง 2) โครงการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างเป็นระบบ การใช้ประโยชน์คลองธรรมชาติและคลองขุด ปลูกต้นไม้ยืนต้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวคลองและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ สัตว์ปีกสัตว์น้ำ และพันธุ์ไม้หายาก และ 3) โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการระบายน้ำ และการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการบูรณาการร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
(4) จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพื่อความสุขของประชาชน เช่น กิจกรรมบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่กลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุเด็กและเยาวชน ณ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 507 คน กิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ วัดโตนด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 150 คน ทั้งนี้ สปน. จะได้ประสานการดำเนินการในการจัดกิจกรรมจิตอาสาของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความรู้รัก สามัคคี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3932