รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 01:16
- Hits: 9375
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอและแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า ปัญหาการตีความเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่าง “การมีสิทธิในที่ดิน” กับ “การมีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน” อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับ จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน กรณีจะประกาศกำหนดเขตพื้นที่สงวนหวงห้ามและการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต้องดำเนินการ ดังนี้ |
||
1.1 แจ้งข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงแผนการดำเนินการ 1.2 กำหนดขั้นตอนให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณว่าสมควรจะกำหนดเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามหรือไม่ 1.3 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำรวจเขต รังวัดและกันเขตพื้นที่ชุมชนออกจากการกำหนดเขตที่ดินควรกันเขตเป็นวงรอบชุมชนรวมพื้นที่ส่วนกลางควรจัดที่ดินให้แก่ชุมชนที่ได้รับการกันเขตแล้วโดยไม่ตีตราว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และควรกำหนดให้พื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมด้วย |
● หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้มีแนวทางปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบกลไกของคณะกรรมการหรือคณะทำงาน มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎร และยังให้สิทธิกับประชาชนที่จะขอคัดค้านการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้อีกด้วย |
|
2. จัดที่ดินให้ชุมชนและกระจายอำนาจการจัดการที่ดินตามหลักสิทธิชุมชน ดังนี้ |
||
2.1 กำหนดแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยกำหนดรูปแบบการจัดที่ดินอย่างอื่น ที่บุคคลและชุมชนสามารถใช้สิทธิในการจัดการที่ดินได้ รวมทั้งกระจายอำนาจจัดการแปลงที่ดินที่จัดสรรให้ชุมชนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนให้คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดมีบทบาทในการพิจารณาพื้นที่ โดยงดเว้นการใช้มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและให้ชุมชนที่มีความพร้อมสามารถเสนอพื้นที่ที่จะให้จัดที่ดินทำกินในรูปแบบสิทธิชุมชนได้ด้วย |
● คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินและคณะอนุกรรมการจัดที่ดินได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความต้องการของประชาชนและให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการภายในชุมชนเองได้ รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีแนวคิดในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการที่ดินไปยังท้องถิ่นและยกระดับให้สหกรณ์ที่มีความพร้อมเป็นผู้ขออนุญาตทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ การกระจายอำนาจจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาภายหลัง และต้องคำนึงถึงภาระที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานท้องถิ่นด้วย |
|
2.2 ขจัดอุปสรรคทางนโยบาย กฎหมายและทางปฏิบัติต่างๆ เช่น ทบทวนและเพิกถอนที่สงวน หวงห้ามที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือสิ้นสภาพแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง |
● การดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ชุมชนสามารถดำเนินการตามกฎหมายและรูปแบบการจัดที่ดินของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และการจัดที่ดินให้ราษฎรขึ้นอยู่กับความต้องการของราษฎร หลักกฎหมาย และสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่ราษฎรมีหลักฐานในการครอบครองที่ดินมาก่อน สามารถรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินของรัฐได้ ● สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดอัตราการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมด้วย |
|
3. แก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดิน |
||
3.1 พิสูจน์สิทธิในที่ดินสำหรับผู้มีสิทธิในที่ดิน เช่น ปรับปรุงกระบวนการพิสูจน์สิทธิที่ดินรายแปลงทบทวนและยกเลิกวิธีการพิสูจน์สิทธิในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่า) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกันจาก One Map |
● สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) และการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน โดยใช้หลักฐานเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ พยานบุคคลและหลักฐานอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่าราษฎรได้ครอบครองที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นที่ดินของรัฐครั้งแรก นอกจากนี้ สามารถใช้กระบวนการอ่านแปลตีความภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง เพื่อตรวจหาร่องรอยการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือตามหลักวิทยาศาสตร์ |
|
3.2 เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยชะลอการดำเนินคดีอาญาและการบังคับทางปกครองก่อนที่จะพิสูจน์สิทธิเสร็จสิ้น และเยียวยาบุคคลที่เข้าเงื่อนไขและหลักเณฑ์ได้รับการจัดสรรที่ดิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ โดยชะลอการฟ้องหรือถอนฟ้องและเสนอให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ |
● ก่อนการบังคับทางปกครองหน่วยงานของรัฐจะออกหนังสือแจ้งให้ผู้ครอบครองพื้นที่โต้แย้งและแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลง หากมีผู้แสดงสิทธิจะชะลอการดำเนินคดีอาญาและการบังคับทางปกครอง ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินคดีต้องมีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย ● กรณีที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐถูกฟ้องร้อง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ครอบครองที่ดินส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและสภาพการทำประโยชน์ในพื้นที่และหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศ และความเป็นชุมชนในท้องถิ่นเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนั้น หากศาลพิจารณาแล้วไม่มีความผิดย่อมสามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิ์ในการทำกินในพื้นที่เดิมได้ ● สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐสาระสำคัญเกี่ยวกับการรักษาสิทธิในที่ดินของประชาชนโดยให้หน่วยงานที่ดำเนินการจัดที่ดินบูรณาการกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่กำหนดแนวทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย แนวทางของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินการ One Map และประโยชน์ที่ได้รับ ● ปัจจุบัน (ร่าง) พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ.... อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาให้ความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติดังกล่าว และเสนอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิจารณาดำเนินการตามกระบวนการต่อไป |
|
3.3 ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการจัดการที่ดินของรัฐและการแก้ไขปัญหาที่ดินยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ล้าสมัย และประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน |
● ในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐจะพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและการแก้ไขปัญหาที่ดิน ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นควรให้มีการทบทวน/ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับที่ดินที่มีปัญหา หรือเป็นอุปสรรคก็จะดำเนินการทบทวนหรือขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีตามวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของที่ดินต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบียบที่เป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติงานหรือการใช้ชีวิตของประชาชน) นอกจากนี้ หากการทบทวนหรือยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต้องประกาศให้ประชาชนทราบทั่วกัน โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนมากที่สุด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3934