รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 01:18
- Hits: 9763
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอและแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยในบางประเด็น เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566โดยมีผลสรุปในภาพรวม ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณา |
|
1. ให้เร่งรัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว |
● กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... มาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีและ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคืนกระทรวงวัฒนธรรมไปเนื่องจากได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง |
|
2. ให้พิจารณาจัดตั้งกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม หรือเขตวัฒนธรรมพิเศษตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยใช้กระบวนการศึกษาวิจัยจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยนำร่อง ให้มีส่วนร่วมออกแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนวิถีชีวิต และวัฒนธรรม การจัดสรรที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน |
● สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบุรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยในด้านต่างๆ เช่น คณะทำงานด้านส่งเสริมอาชีพพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ● มีหน่วยงานหลายภาคส่วน เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ ได้เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในด้านต่างๆ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การเกษตร ระบบน้ำ - ไฟฟ้า ส่งเสริมอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ● หน่วยงานต่างๆ ได้ช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุขให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาล สิทธิด้านสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ● กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจการถือครองที่ดินจัดทำทะเบียนประวัติสถานะบุคคลให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ● สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แก้ไขปัญหาในรูปแบบคณะกรรมการอิสระร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เพื่อศึกษา รวบรวมปัญหาที่เกี่ยวข้องและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตรวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดิน ● สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและการอยู่อาศัยที่เกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมในพื้นที่จิตวิญญาณ |
|
3. ควรบูรณาการการแก้ไขปัญหา โดยอาจใช้กลไกตามข้อ 2. ในการขับเคลื่อน ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องประกอบไปด้วยผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ นักวิจัย/นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน |
● กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ โดยดำเนินการใน 5 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ให้มีคณะทำงานที่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและผู้แทนคณะกรรมการอิสระ (2) ให้มีการสำรวจที่อยู่อาศัยที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่บ้านบางกลอยให้แล้วเสร็จ (3) จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ (4) การให้ชาวบ้านได้เข้าไปทดลองใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแล และ (5) ให้มีการประเมินผลการทดลอง รวมทั้งได้มีคณะทำงานและคณะกรรมการหลายชุดเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยมาโดยตลอด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3935